ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เพิ่มองค์ความรู้พระคิลานุปัฏฐาก พัฒนาหลักสูตร “การดูแลพระอาพาธระยะท้าย” สร้างมาตรฐานการดูแลพระสงฆ์ระยะประคับประคองตามหลักพระวินัย หนุนนโยบายเร่งรัด “กุฏิชีวาภิบาล” พร้อมต่อยอดเป็นศูนย์รวมการดูแลสุขภาวะชุมชน


วันที่ 11 ธ.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก” ที่ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดไตรมิตรวิทยาราม พญ.นวลสกุล บํารุงพงษ์ คณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ คณะผู้บริหาร สธ. ร่วมงาน และมีพระเถรานุเถระ พระคิลานุปัฏฐาก เข้ารับการอบรม ทั้งสิ้น 120 รูป

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลและ สธ. ได้กำหนดให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ เป็นหนึ่งใน 13 นโยบายเร่งรัดดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพร่างกาย สร้างความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลสุขภาพอนามัยตามหลักพระธรรมวินัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งสนับสนุนให้วัดเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยพัฒนาเครือข่ายพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัดให้มีความรู้ เป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์กันเองภายในวัดและขยายผลสู่สุขภาวะประชาชนในชุมชน

1

2

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2564 ทั่วประเทศมีวัดจำนวน 43,562 แห่ง มีพระสงฆ์ สามเณร ประมาณ 241,368 รูป ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้สูงอายุและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีโรคเรื้อรัง และยังมีพระอาพาธระยะท้าย 9,655 รูป สธ. โดยโรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ จึงได้จัดทำ “หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก”

เพื่อพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และจัดตั้ง “กุฏิชีวาภิบาล” ให้เป็นที่พักในการดูแลพระอาพาธระยะท้ายที่มีมาตรฐานตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง และยังเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อีกด้วย

2

5

“การพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาที่จะเข้ามาดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ด้วยกันเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักพระวินัย เนื่องจากพระมีวัตรปฏิบัติแตกต่างจากฆราวาส และจะต่อยอดสู่การเป็นศูนย์รวมการดูแลสุขภาวะของชุมชน เพราะพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความคิดและจิตใจของคนไทย” นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน พญ.อัมพร กล่าวว่า หลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก จะมีการอบรมเป็นเวลา 5 วัน ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติจริง และความรู้ทางวิชาการจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น การวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองผู้ป่วยระยะประคับประคอง, การประเมินและการจัดการอาการปวด, การดูแลอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

3

รวมถึงยังได้รับความเมตตาจาก พระธรรมวชิราจารย์ รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสุวรรณารามวรวิหาร เป็นวิทยากรเรื่องบทบาทและความสำคัญของพระคิลานุปัฏฐากในการดูแลพระอาพาธระยะท้าย ทั้งนี้ ได้มีแผนจัดอบรมพระคิลานุปัฏฐาก/ โยมอุปัฎฐาก ระยะแรกที่ วัดทับคล้อ จ.พิจิตร (ภาคเหนือ), วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี (ภาคกลาง) วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช (ภาคใต้) และตั้งเป้าให้มีกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ ที่มีพระคิลานุปัฏฐากประจำวัดในทั้ง 3 เขตสุขภาพ