ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รพ.สงฆ์’ จับมือ องค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ‘ภาครัฐ – เอกชน – ชุมชนในพื้นที่’ จัดตั้ง “กุฏิชีวาภิบาล วัดไทร พระราม 3” ซึ่งถือเป็นการจัดตั้ง ‘กุฏิชีวาภิบาลต้นแบบแห่งแรกใน กทม. และเป็นแห่งที่ 6 ในจำนวน 13 เขตสุขภาพเพื่อให้เป็นสถานที่ดูแล ‘พระสงฆ์อาพาธระยะท้าย’ ให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมในทุกมิติของการเจ็บไข้


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พระภิกษุเป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองและสิ่งแวดล้อมภายในวัด และขยายผลสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน 

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำปี 2565 มีจำนวนวัดทั่วประเทศ จำนวน 43,564 วัด มีพระภิกษุสามเณร จำนวน 288,965 รูป และมากกว่า 50% เป็นพระผู้สูงอายุอาพาธด้วยโรคเรื้อรัง และประมาณ 0.3% มีการอาพาธระยะท้าย ซึ่งพระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างจากฆราวาสทั่วไป เนื่องจากต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และพบว่าเมื่ออาพาธ ติดเตียงหรืออาพาธระยะท้าย ท่านมีความประสงค์จะกลับวัด แต่สถานที่ที่รองรับที่จะมีความพร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์มีน้อยมาก

อีกทั้งขาดบุคลากรผู้ดูแลประจำวัดหรือเมื่อญาติรับกลับไปดูแลต่อที่บ้านก็มักจะต้องให้ท่านเหล่านั้นลาสิกขาออกไปในที่สุด ไม่เป็นไปตามความประสงค์พระคุณเจ้าที่สละบ้านเรือนมาเป็นเวลานาน ๆ  กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสงฆ์  เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มีการดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลตามนโยบาย สธ. เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระภิกษุอาพาธระยะท้าย เอื้อให้พระอาพาธยังสามารถดำรงตนในพระธรรมวินัยได้ รวมทั้งเป็นการร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้เข้มแข็ง เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนายั่งยืนสืบไป

ด้าน นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลสุขภาพพระภิกษุสามเณรแบบองค์รวม จากข้อมูลสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในข้างต้นพบพระภิกษุอาพาธระยะท้ายเป็นจำนวนมาก และพบว่าเมื่อพระภิกษุอาพาธ ติดเตียง หรืออาพาธระยะท้าย ท่านมีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวต่อที่วัด แต่ก็ขาดอุปกรณ์ ขาดบุคลากรผู้ดูแลประจำวัด 

ดังนั้น โรงพยาบาลสงฆ์จึงได้ดำเนินโครงการจัดอบรมหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐากเพื่อให้มีความรู้ ทักษะ สามารถให้การดูแลพระอาพาธระยะท้ายได้  ซึ่งพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรมถวายความรู้ทั้งภาคทฤษฎี เป็นเวลา 1 สัปดาห์และฝึกภาคปฏิบัติอีก 3 สัปดาห์ ท่านก็จะมีความรู้ความสามารถในการประเมินความเจ็บไข้และใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในเบื้องต้นได้ 

นพ.อภิชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสงฆ์ได้ดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบมาแล้วใน 5 เขตสุขภาพ และดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบเพิ่มอีก 1 แห่ง ใน กทม. คือที่วัดไทร พระราม 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กทม. ซึ่งเป็นกุฏิชีวาภิบาลแห่งแรกใน กทม. โดยได้รับความร่วมมือจากคณะพระสังฆาธิการในพื้นที่ และสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กทม. สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงเรียนวัดไทร และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายในปี 2567 จะดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบให้ครบทุกเขตสุขภาพ เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระภิกษุอาพาธระยะท้ายให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมในทุกมิติและเพื่อสร้างองค์กรภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพพระภิกษุอาพาธแบบประคับประคองให้ได้ในที่สุด