ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รพ.สงฆ์’ ร่วมมือกับคณะพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธฯ รวมทั้งองค์กรภาคีเครือข่าย ด้านการแพทย์ การสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนโครงการกุฏิชีวาภิบาล พร้อมอบรมถวายความรู้พระคิลานุปัฏฐาก ให้สามารถดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์อาพาธเสมือนเป็น อสว. เพื่อให้พระสงฆ์อาพาธระยะท้าย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยี (Virtual Hospital) อันทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พระสงฆ์เข้าถึงการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ 


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสงฆ์ มีการดำเนินการเพื่อสนองนโยบาย สธ. ปี 2567 ข้อที่ 8 (Quick win) เรื่องสถานชีวาภิบาล เพื่อให้มีการจัดสถานที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะท้าย หรือการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward/Hospital at Home) 

1

เนื่องจากจากข้อมูลสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ประเทศไทยมีวัดทั้งสิ้นจำนวน 43,562 วัด มีพระภิกษุสามเณร ประมาณ 241,368 รูป พบว่าพระอาพาธระยะท้าย เป็นจำนวน 9,655 รูป จึงได้กำหนดให้มีการดำเนินโครงการ “กุฏิชีวาภิบาล” ให้การดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีพระคิลานุปัฏฐากที่ผ่านการอบรมถวายความรู้ตามหลักสูตร “การดูแลพระอาพาธระยะท้ายของพระคิลานุปัฏฐาก”  ที่เน้นการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้พระคิลานุปัฏฐาก มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่วัด ซึ่งนอกจากจะสามารถให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ภายในวัดแล้ว ท่านยังสามารถให้ความรู้ให้การช่วยเหลือแก่ญาติโยมประชาชนในชุมชน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ทำให้พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุขตามวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทย       

4

ด้าน นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ให้ความสำคัญกับการดูแล สุขภาพพระสงฆ์มาโดยตลอด จากข้อมูลสถิติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระสงฆ์เองมีวัตรปฏิบัติต่างจากฆราวาสทั่วไป ต้องปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย เมื่ออาพาธติดเตียงหรือเจ็บป่วยระยะท้าย ท่านก็มีความประสงค์จะขอกลับวัด 

อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่จะรับรองความเจ็บป่วยมีจำนวนน้อยหรือบางวัดก็ไม่มี โรงพยาบาลสงฆ์  จึงได้จัดทำโครงการกุฏิชีวาภิบาล เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย โดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Virtual Hospital)  มาสนับสนุนการให้บริการ เพื่อให้พระสงฆ์เข้าถึงการบริการอย่างมีคุณภาพมีการสอดรับกันระหว่างวัดและโรงพยาบาล 

4

รวมทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐากที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมอนามัยจำนวน 70 ชั่วโมง มารับการอบรมถวายความรู้เพิ่มเติมภาคทฤษฎีอีก 5 วัน และภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลอีก 15 วัน เรื่องของการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย ทั้งนี้โรงพยาบาลสงฆ์ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยให้กับบุคลากรในพื้นที่เขตสุขภาพทั่วประเทศ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ พร้อมทั้งได้กำหนดจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ จำนวน 4 แห่งในเบื้องต้น ได้แก่ 1. วัดท่าประชุม จ.ขอนแก่น (เขตสุขภาพที่ 7)

s

2. วัดทับคล้อ จ.พิจิตร (เขตสุขภาพที่ 3) 3. วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช (เขตสุขภาพที่ 11) และ 4. วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี (เขตสุขภาพที่ 4) โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลให้ครบทุกเขตสุขภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งคณะพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมทั้งภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นอาทิ