ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สงฆ์  จับมือ องค์กรภาคีเครือข่าย จัดบริการเชิงรุก ถวายการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสามเณรในเขตพื้นที่ กทม. วางเป้า 3,000 รูป ใน 50 วัด เพื่อตรวจคัดกรอง – ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของพระภิกษุ - สามเณร ให้มีสุขภาพที่ดีสามารถปฏิบัติศาสนกิจและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนได้เป็นอย่างดี


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พระภิกษุสามเณร มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยในการเป็นผู้นำทางศาสนาโดยการนำเอาพระธรรมคำสอนเผยแผ่ต่อกุลบุตรกุลธิดาได้เรียนรู้และปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยยึดหลักการสำคัญ คือ การใช้ทางธรรมนำทางโลก โดยมีมาตรการสำคัญในการดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ข้อมูล การพัฒนา การบริการสุขภาพและการวิจัยที่จะนำไปสู่การส่งเสริมและการสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ซึ่งก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้พระสงฆ์มีสุขภาพแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ภายใน 10 ปี (พ.ศ. 2560 - 2569)

1

ดังนั้น ในการนี้ กรมการแพทย์ สธ. โดยโรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของพระภิกษุสามเณรดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดบริการเชิงรุก ตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสามเณรตามชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อตรวจประเมินสุขภาพ คัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและถวายความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเองในเบื้องต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองและป้องกันโรค

ด้าน นพ.อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลสุขภาพพระภิกษุสามเณรอาพาธทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการ “สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพระภิกษุสามเณรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ปีงบประมาณ 2567 ขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย. 2567 เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสามเณรที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงบริการตรวจสุขภาพได้น้อย และเป็นการตรวจตามชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) 

2

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองประกอบไปด้วยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าน้ำตาล ไขมัน ค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจคัดกรองผู้สูงอายุ คัดกรองวัณโรคปอดด้วยการเอกซเรย์ การตรวจวัดดัชนีมวลกาย คลินิกโรคอ้วน คลินิกเลิกบุหรี่ การถวายความรู้ตามหลัก 3 อ. (อาหาร, ออกกำลังกาย, อารมณ์) และการถวายความรู้เรื่องการบริหารขันธ์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,000 รูป/ราย จากวัดจำนวน 50 วัด ในเขต กทม. 

นพ.อภิชัย กล่าวต่อไปว่า โดยคาดว่าผลที่จะได้รับ คือ พระภิกษุสามเณรกลุ่มเสี่ยงได้รับการติดตามผลเพื่อการควบคุมป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ในการดูแลสุขภาพตนเอง เกิดเป็นวัดต้นแบบของการส่งเสริมสุขภาพที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลสุขภาพพระภิกษุสามเณร และเกิดเครือข่ายความร่วมมือการดำเนินงานและการพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับชุมชน 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการตรวจคัดกรองพระภิกษุสามเณรแล้วพบว่าเป็นโรคหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ทางโรงพยาบาลสงฆ์จะนัดหมายให้เข้ารับบริการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและหากตรวจพบว่าต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนหรือต่อเนื่องก็จะนิมนต์ให้รักษาต่อที่โรงพยาบาลสงฆ์ต่อไป

3