ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘อดีตนายกแพทยสภา’ วอนนายกรัฐมนตรีชะลอการผลิต ‘หมอ’ เพิ่มขึ้นจากปกติ เพื่อส่งลงประจำ ‘รพ.สต.’ หวั่นเพิ่มภาระอาจารย์แพทย์ กระทบคุณภาพการสอน-การตรวจรักษาคนไข้ ชี้จำนวนการผลิตแพทย์ปัจจุบันได้กว่า 3,000 รายต่อปี มีความเพียงพอ ปัญหาคือการกระจายให้เหมาะสม-เพิ่มแรงจูงใจให้อยู่ในระบบ


จากกรณีที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ระบุว่ามีการเตรียมการที่จะขออนุมัติงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท สำหรับการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อส่งไปประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งละ 3 คน รวมทั้งหมด 3 หมื่นคน ในระยะเวลา 6 ปี 

ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบหลักการการของบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย ภายใต้ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2568 – 2577 โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 9 สาขา เพิ่มขึ้นรวม 6.2 หมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นแพทย์ประมาณ 1 หมื่นคน

ล่าสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตนายกแพทยสภา เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า อยากให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณาชะลอและทบทวนโครงการดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพโดยรวมทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ อีกทั้งสถานการณ์ขณะนี้ไทยมีแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2,800 คน ซึ่งเต็มศักยภาพการผลิตแล้ว และยังมีแพทย์ที่จบมาจากต่างประเทศอีกปีละประมาณ 200 คน ทำให้มีแต่ละปีมีแพทย์เพิ่มประมาณ 3,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าจะเพียงพออยู่แล้วหากบริหารจัดการให้มีการกระจายตัวได้อย่างเหมาะสม

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าวว่า การผลิตแพทย์เพิ่มจากอัตราปกติอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีองค์ประกอบหลายส่วนที่ต้องคำนึงถึง เช่น ระบบในการผลิตแพทย์ ที่ต้องอาศัยทั้งความพร้อมในแง่ของสถาบันการศึกษา นักศึกษา เครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออาจารย์แพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีภาระงานที่ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว

ดังนั้นหากมีการเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม ก็จะยิ่งเพิ่มภาระงานให้กับอาจารย์แพทย์เหล่านั้นมากขึ้นไปอีก รวมถึงหากจะใช้การหมุนเวียนแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ให้ช่วยสอนแทน ก็จะกระทบต่อการตรวจรักษาผู้ป่วยที่อาจทำได้น้อยลงกว่าเดิม ตลอดจนคุณภาพของนักศึกษาแพทย์ที่ได้อาจไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแพทย์กลุ่มนี้อาจยังไม่มีความพร้อมในด้านการสอน

“ควรจะมีการคิดให้ดีๆ ว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือเปล่าในการที่จะให้แพทย์ไปอยู่ใน รพ.สต. เพราะจริงๆ รพ.สต. ก็มีเจ้าหน้าที่ระดับที่ดูแลได้อยู่แล้ว ไม่น่าจะต้องมีแพทย์ไปประจำตลอด แต่ให้แพทย์เป็นผู้รับส่งต่อคอยอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอำเภอ น่าจะเหมาะสมกว่า” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ ระบุ

อดีตนายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ความเห็นของแพทย์เพียงคนเดียว แต่ยังมีแพทย์อีกจำนวนมากที่ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยจากการทำแบบสอบถามความเห็นจากแพทย์ในกลุ่มต่างๆ ของคณะทำงานอิสระ ที่ประกอบด้วย นพ.โชติศักดิ์ เจนพาณิชย์, ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ, ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย และตนเอง ซึ่งมีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 1,485 คน

ทั้งนี้ พบว่า 81% มองว่าปัจจุบันจำนวนแพทย์มีเพียงพอแล้ว แต่มีการกระจุกตัวในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ มากเกินไป และ 84.8% เห็นว่าไม่ควรผลิตแพทย์เพิ่ม เนื่องจากปริมาณผลิตจะสวนทางกับคุณภาพ จึงควรจะแก้ไขปัญหาโดยเพิ่มแรงจูงใจเพื่อลดการลาออกของแพทย์ภาครัฐ ขณะที่ 85.8% เห็นว่าไม่ควรบังคับแพทย์ให้ปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.สต. แต่ควรส่งเสริมให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ รพ.สต. มีความรู้เพิ่มขึ้น ส่วนกรณีที่เกินขีดความสามารถให้ใช้ระบบปรึกษาและส่งต่อ

“แม้ ครม. จะอนุมัติโครงการไปแล้ว แต่ผมว่ายังไงก็สามารถชะลอได้ แล้วค่อยมาทบทวนอีกที หรือทำประชาพิจารณ์ก็ได้ ความจริงแล้วก่อนจะดำเนินโครงการนี้ ควรจะต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ต้องทำงานด้านนี้จริงๆ ก่อน และถ้าจะเปิดโรงเรียนแพทย์ใหม่ก็ต้องดูก่อนว่าหมอเขาพร้อมไหม” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กล่าว