ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแพทย์และสาธารณสุขเป็นอีกหนึ่งแวดวงที่มีการพัฒนาเรื่องระบบเทคโนโลยี และ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘เอไอ’ อย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับความผิดปกติของปอดจากการเอกซเรย์ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ เป็นต้น สอดคล้องกับ ณ ขณะนี้ตลาดธุรกิจ Startup ในด้านเทคโนโลยีสุขภาพก็มีแนวโน้มเพิ่ม และเติบโตมากขึ้น 

“The Coverage” พาทุกคนเดินทางมายังตึกสิงห์ คอมเพล็กซ์ ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง อันเป็นสถานที่จัดงาน ‘TH.ai Forum EP2: AI Trend in Healthcare’ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ‘ดีป้า’ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพูดคุยถึงทิศทาง ประโยชน์ ตลอดจนโอกาส ความท้าทายในการพัฒนา และประยุกต์ใช้เอไอทางการแพทย์ 

เวทีการพูดคุยเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่น่าสนใจ นพ.ดร.พาฤทธิ์ เปลี่ยนขำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ อธิบายทิศทางของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในหัวข้อ ‘AI Trends in Healthcare’ โดยระบุว่า ผู้ที่อยู่ในแวดวงการแพทย์ หรือสาธารณสุขจะรู้จักการพัฒนาระบบสุขภาพ 3 ด้าน (Triple Aim) นั่นคือการดูแลสุขภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น มีต้นทุนในการดูแลสุขภาพที่ต่ำลง และถือว่ายังเป็นอีกหนึ่ง Pain Point ที่อยู่ในระบบสุขภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี แม้จะตอบโจทย์ แต่ก็ยังมีบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อการขยายระบบ (Scale Out) ฉะนั้นการขยายของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงไม่ใช่แค่มีเทคโนโลยี หรือความพร้อม แต่จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกปรับด้วย และนั่นคือ ‘คีย์เวิร์ด’ ของเอไอทางการแพทย์

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะช่วยให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ขยายตัวต่อไปได้ คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการกับกระบวนการทำงานของแพทย์

“ในฐานะที่เป็น Health Care Provider เราต้องการความเข้าใจ และต้องการสิ่งที่จะช่วยแพทย์สื่อสารกับคนไข้ได้” 

นพ.ดร.พาฤทธิ์ ยังพาผู้ร่วมฟังไปรู้จักกับ ‘เทรนด์’ จากเอไอที่จะเกิดขึ้นในระบบสุขภาพ ได้แก่  ‘เอไอที่จะเข้ามาช่วยแปลงเสียง’ ระหว่างที่แพทย์กับผู้ป่วย และสรุปออกมาเป็นรายงานได้ เพื่อที่แพทย์จะสามารถคุยกับผู้ป่วยได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ 1 ใน 3 เป็นการสื่อสารผ่านข้อความ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในบางพื้นที่ 

ฉะนั้น ‘แชทบอท’ จึงเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ โดยสิงคโปร์ก็ได้มีการนำแชทบอทเข้ามาทำหน้าที่คุย และติดตามผู้ป่วย ตลอดจนให้คำแนะนำหลังจากการวัดสัญญาณชีพ เพื่อนำไปสู่การดูแลตัวเองของผู้ป่วย หรือญาติได้อีกด้วย 

มากไปว่านั้นยังมีเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ ที่ในเกือบครึ่งของผู้สูงอายุ จะมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ขณะเดียวกันในปัจจุบันก็เริ่มมีผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมมากขึ้น (Silver Active Population) เกิดการดูแลตัวเอง และเกิดการป้องกันโรค ส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดี 

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดการป้องกัน สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากก็คือการคัดกรอง โดยยกตัวอย่างมะเร็งเต้านม ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยคัดการกรองผ่านการทำแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อช่วยค้นหาจุดที่มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต 

สอดคล้องกับ ‘การแพทย์แม่นยำ’ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลทางจีโนมิกส์ ผนวกกับสภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น โดยการแพทย์แม่นยำนี้ยังสามารถแบ่งใช้ได้กับ 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่ยังไม่ป่วย หรือใช้เพื่อการมีสุขภาพที่ดี โดยนำการถอดรหัสพันธุกรรมมาบูรณาการร่วมกับเอไอในการติดตามเพื่อดูโอกาสการเกิดโรค ในขณะเดียวกันเอไอก็จะเข้ามามีบทบาทในการดูแล รักษาให้มีความเฉพาะต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ยังมีฝาแฝดในโลกดิจิทัล หรือ ‘Digital Twin’ ที่สามารถทำนายโอกาสในการเกิดปัญหาในอนาคต เช่น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สอดคล้องไปกับเรื่องของจิตใจของมนุษย์ (Human Mind) และสุดท้ายคือการใช้เอไอเพื่อการคิดค้นยา ‘Drug Discovery’ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้ในแวดวงการทำวัคซีนแล้ว 

“เอไอถูกสร้างขึ้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ฉะนั้นความต้องการของมนุษย์ ทำให้เกิดการพัฒนา และเมื่อเทคโนโลยี บวกกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดการแก้ปัญหาขึ้น” นพ.ดร.พาฤทธิ์ ระบุ