ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 8 ก.พ.2567 มีเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI)’ กับการวิจัยระบบสุขภาพในอนาคต’ ซึ่งจัดขึ้นโดย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาระบบ AI เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายระดับเข้าร่วม

ประเด็นสำคัญของวงเสวนา พุ่งเป้าไปที่การเพิ่มเติมศักยภาพและการร่วมกันหาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก AI ต่อการวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ รวมถึงประยุกต์ใช้เข้ากับการรักษาทางการแพทย์ 

บรรทัดถัดจากนี้คือสาระสำคัญที่ “The Coverage” คัดสรรมานำเสนอ

‘บิ๊กดาต้า’ ข้อมูลอย่ามากเกินความจำเป็น

เวทีเสวนาเริ่มต้นจาก ปฏิภาณ ประเสริฐสม ผู้เชี่ยวชาญงานพิเศษด้านข้อมูลระดับสูง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ที่ฉายภาพว่า ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา การใช้ AI ในด้านสุขภาพ หรือที่เรียกกันว่า Medical AI ในประเทศไทยมีความรุดหน้าไปมาก ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยมีข้อมูลด้านสุขภาพที่เพียงพอต่อการนำไปใช้งาน 

อย่างไรก็ตาม นักเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้งานนั้น มักจะโฟกัสที่จำนวนของข้อมูล แต่ไม่ได้โฟกัสที่ความสำคัญของข้อมูล โดยเน้นเอาข้อมูลจำนวนมากป้อนเข้าไปเพื่อให้ AI วิเคราะห์ตามรูปแบบที่สั่งการเอาไว้ ซึ่งทำให้ข้อมูลมากเกินความจำเป็น และทำให้การวิเคราะห์ของระบบอาจไม่มีความแม่นยำ 

"เวลาเราพูดถึงคำว่าบิ๊กดาต้า ส่วนใหญ่จะมองไปที่ข้อมูลจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วบิ๊กดาต้าคือข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว จะมากหรือน้อยก็ไม่สำคัญ ขอแค่เป็นข้อมูลที่ตรงกับความต้องการนำไปใช้งาน และให้ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ทั้งในด้านการรักษาผู้ป่วย หรือใช้เป็นคำตอบสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย" ผู้เชี่ยวชาญงานพิเศษด้านข้อมูลระดับสูง สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ให้ความเห็น 

นอกจากนี้ หากจะมีการใช้ AI สำหรับด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข หรือใช้เพื่อกำหนดนโยบาย จะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบแวดล้อมของระบบที่สำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ใช้งาน หรือ User (ยูสเซอร์) ที่ AI ต้องถูกนำมาใช้เพื่อตรงกับความต้องการมากที่สุด เพราะการพัฒนา AI ก็ต้องพัฒนาเพื่อตอบสนองการใช้งาน

ปฏิภาณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชน ก็นำระบบ AI ที่ประมวลผลข้อมูลตามที่ต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ร่วมมือกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบ AI เพื่อดูในการกระจายยา เวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต ทำให้เกิดการกระจายเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถวิเคราะห์เวชภัณฑ์ที่อยู่ในสต็อกเพียงพอหรือไม่ได้ด้วย 

“AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยที่ต้องล้างไตที่ผ่านมา เพื่อทำนายคาดการณ์ปริมาณน้ำยาล้างไต การกระจายน้ำยา รวมไปถึงเครื่องบำบัดทดแทนไตที่ต้องใช้แต่ละหน่วยบริการมีเพียงพออย่างไร ทั้งหมดเป็นชุดข้อมูลที่ AI ทำให้ได้ และเราสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์คาดการณ์มาแล้ว เอาไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุขได้ต่อ” ปฏิภาณ กล่าว 

ขณะที่ นพ.ปิยะฤทธิ์ อิทธิชัยวงศ์ จากศูนย์สารนิเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีระบบ AI ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานเพียงแค่ 600 ระบบ แต่เชื่อว่าศักยภาพของนักวิจัย นักเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ของไทย หากจะลงมือจริงจังในเรื่อง AI ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าไปแข่งขันด้วย 

ในอดีตที่ผ่านมา การใช้งาน AI จะเป็นในลักษณะให้ระบบได้เรียนรู้กับชุดข้อมูล หรือ Machine Learning หรือโจทย์ที่มนุษย์ป้อนลงไปเพื่อให้ระบบประมวลผล แต่ปัจจุบันการพัฒนา AI มุ่งมาที่ Deep Learning เพื่อให้ระบบได้เรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการป้อนข้อมูลทางการแพทย์เข้าไปเพื่อให้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเหมาะกับการต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีระบบ AI ที่หลายบริษัทเอกชนผลิตและผ่านการรับรอง แต่หากจะซื้อมาใช้และเชื่อมเข้ากับการบริการสุขภาพ หน่วยงานหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการนำมาใช้งานก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ 

ทั้งนี้ หากมองว่าจำเป็นต้องซื้อระบบ AI เข้ามาทำงาน อาจต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. หากซื้อระบบ AI มาแล้ว ปัญหาที่ต้องการจะได้รับการแก้ไขอย่างดีหรือไม่ 2. มาตรฐานของระบบ AI เป็นอย่างไร มีการรับรองอย่างไร และ 3. ระบบ AI ดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทยหรือไม่ เช่น ความพร้อมของบุคลากร และสอดรับกับจริยธรรมทางการแพทย์ รวมถึงค่าบำรุงรักษาระบบ 

สปสช.พร้อมยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล

นพ.ปฏิภาคย์ นมะหุต ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมวงอภิปรายกับวงเสวนา โดยสะท้อนในมุมการยกระดับองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่ง สปสช.วางเป้าหมายพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัลและนวัตกรรม พร้อมกับขยายศักยภาพระบบเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า 

ขณะเดียวกัน ก็มองว่าเป็นความท้าทาย ที่จะสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากระบบ AI รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับบุคลากรในองค์กร รวมไปถึงการปรับใช้ระบบ AI และการลงทุนในระบบ เพื่อให้สอดรับกับการทำงานที่ต้องดูแลคนไทยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่มีมากถึง 48 ล้านคน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ทั้งนี้ สปสช. มีจุดแข็งด้านข้อมูลการให้บริการสุขภาพกับประชาชน รวมถึงข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการ และสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ก็ได้นำข้อมูลส่วนนี้มาให้ระบบ AI ได้วิเคราะห์เพื่อใช้คาดการณ์ในด้านงบประมาณด้านสุขภาพของประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท และในอนาคตก็จะมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในส่วนนี้มากขึ้น 

"ที่ผ่านมา สปสช. มีการพัฒนา พร้อมกับมีแนวทางการยกระดับนโยบายองค์กรด้านดิจิทัล เพื่อให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาอุดช่องว่างของการทำงานในระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อเข้ามาหนุนเสริมในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงบริหารจัดการการเบิกจ่าย รวมถึงใช้ตรวจสอบการเบิกจ่ายด้วย" นพ.ปฏิภาคย์ แลกเปลี่ยนกับวงเสวนา 

นพ.ปฏิภาคย์ เสริมว่า ในส่วนทิศทางอนาคตของระบบสุขภาพที่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบ AI จากปัจจุบันเห็นได้ว่ามีการนำมาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรคเพื่อความแม่นยำในการรักษา แต่สำหรับงานด้านสาธารณสุข การใช้ระบบ AI ในงานด้านนี้ของประเทศไทยอาจยังไม่ชัดเจน เช่น การใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ การคาดการณ์ของโรค เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการใช้ระบบ AI ที่ต้องหันเข้าหาเรื่องของระบบสาธารณสุขของประเทศให้มากขึ้น 

สธ.เดินหน้า ใช้ AI หนุนอุตสาหกรรมการแพทย์

ขณะที่อีกหนึ่งผู้ร่วมอภิปรายในประเด็นนี้ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความเห็นว่า สธ.มองความสำคัญของการใช้ AI ในระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีการบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุถึงการพัฒนา AI เพื่ออุตสาหกรรมทางการแพทย์ เพียงแต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน 

แต่กระนั้น รัฐบาล และ สธ. ก็สนับสนุนและให้ทุนสำหรับวิจัยและพัฒนา AI เพื่อนำไปสู่การบริการสุขภาพ และปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดสำนักปลัด สธ. ที่มีอยู่กว่า 900 แห่ง ก็มีการนำระบบ AI มาใช้งานในทางการแพทย์แล้วกว่า 200 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบที่นักวิจัยไทยได้พัฒนาขึ้นมาเอง 

นพ.สุรัคเมธ สะท้อนด้วยว่า นักวิจัยและนักเทคโนโลยี รวมถึงวิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เชี่ยวชาญในการสร้างระบบ AI ในประเทศมีศักยภาพและมีฝีมืออย่างมาก เพียงแต่ภาครัฐอาจต้องมีระบบรับรองที่ได้มาตรฐาน และสอดรับกับมาตรฐานของสถาบันต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการรับรองและสามารถนำนวัตกรรม หรือระบบ AI ที่คิดค้นได้ไปแข่งขันได้ในระดับโลก 

ขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีใหักับบุคลากรทางการแพทย์ในทุกระดับ เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการบริการสุขภาพกับประชาชนได้ตามหน้างานของตัวเอง 

AI สำคัญทางการแพทย์ แต่การใช้งานต้องระวัง

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เสริมความเห็นในช่วงท้ายของวงเสวนา ว่า สมองมนุษย์ได้พัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่วิเศษอย่างมากในแง่การใช้ประโยชน์กับประชาชน แต่คำถามสำคัญคือ การพัฒนาที่คิดค้นขึ้นมาแล้ว จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร 

ตัวอย่างเช่น การมีระบบ AI ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคได้ แต่จากนั้นเราจะทำอย่างไรกันต่อ เมื่อต้องรักษาแล้วใช้ระบบ AI อีก ระบบอาจบอกแนวทางรักษาจากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าสู่ระบบ ซึ่งอาจเป็นการรักษาที่ไม่จำเป็นก็ได้ เพราะปัจจจุบัน แม้ว่า AI จะพัฒนาไปมาก แต่ในด้านการรักษาผู้ป่วยก็ยังไม่อาจเทียบได้กับแพทย์ที่เก่งกาจที่สุดได้เลย 

"การป้อนข้อมูลทางการแพทย์เข้าไปในระบบ AI เพื่อให้ประมวลผล โดยเฉพาะการรักษา หากเพิ่มข้อมูลที่มากเกินไปก็อาจเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งต้องมองมาถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยว่าจะรับมือไหวหรือไม่" นพ.สุวิทย์ ย้ำ 

นพ.สุวิทย์ ฝากมุมมองความเห็นในวงเสวนาด้วยว่า ยังมีประเด็นการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเสมอภาค ที่นักวิจัยอาจต้องคำนึงถึงหากจะพัฒนาระบบสุขภาพด้วยเทคโนโลยี เพราะแน่นอนว่าคนรวยจะเข้าถึงได้มากกว่าคนจน แต่อีกด้าน หากเทคโนโลยีไม่ดีพอ หรือไม่แม่นยำ ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับกลุ่มคนรวยที่เข้าถึงการบริการได้เช่นกัน 

"AI กับเรื่องการแพทย์ หากจะยกระดับและพัฒนากัน นอกเหนือไปจากความรู้ทางเทคโนโลยี เราอาจต้องมองถึงมิติของสังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย และจริยธรรมทางการแพทย์ด้วย เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีจะสำคัญ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน" นพ.สุวิทย์ กล่าวตอนท้าย