ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในการลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล คือการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน ให้ได้รู้ถึงการดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเจ็บป่วย รู้ว่าอาการแบบไหนต้องไปโรงพยาบาล และรู้ว่าอาการแค่ไหนที่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งองค์ความรู้ของประชาชนด้านสุขภาพ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยตอบโจทย์กับปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล 

การส่งเสริมให้ประชาชนมีองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องพิจารณาถึงการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ต้องง่าย และทำความเข้าใจในเนื้อหาได้ไม่ยาก ดังนั้น จึงต้องมีการรวบรวมข้อมูลตำราด้านสุขภาพ ให้เป็นชุดความรู้สุขภาพพื้นฐานสำหรับประชาชน หรือแม้แต่บุคลากรแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลได้ใช้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพสำหรับคนในชุมชน 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีตำราการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น โดยมีบุคลากรอาจารย์แพทย์คนสำคัญอย่าง รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ อดีตอาจารย์แพทย์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเขียนตำราที่ชื่อว่า 'คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย' ซึ่งตำราคู่มือเล่มนี้ กำลังถูกพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรียกว่า ‘Doctor at Home’ ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันไลน์ ที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ การตรวจโรคเบื้องต้น การสอบถามอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ด้วยการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้ไปถึงประชาชนมากขึ้น

1

รศ.นพ.สุรเกียรติ บอกเล่าว่า ได้เขียนตำราการตรวจโรคเบื้องต้นที่พบได้บ่อยในช่วงปี 2515-2520 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มรณรงค์ให้กับชาวบ้านในชุมชนมีความรู้ด้านสุขภาพ และรู้ถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับสุขภาพของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนามัย หรือผู้ที่คอยให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานกับประชาชนในชุมชนยังมีองค์ความรู้ไม่พอ จึงตัดสินใจเขียนตำราการตรวจโรคเบื้องต้นขึ้นมาเมื่อปี 2519 ซึ่งมีชื่อว่า คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย

นพ.สุรเกียรติ กล่าวอีกว่า ได้เขียนตำรานี้โดยยึดหลักการที่เรียกว่า 'ระบบสุขภาพ 3 ขา' โดยขาที่หนึ่งคือ ระบบโรงพยาบาล ที่บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ขาที่สองคือ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่จะเชื่อมกับขาที่สาม คือ ระบบดูแลตัวเอง ซึ่งขาที่สองและสาม จะเป็นระบบที่สำคัญในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น หรือเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้นก็มีความรู้ในการดูแลตัวเองได้ หรือดูแลประชาชนในชุมชนได้ หากอาการ หรือโรคนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบของโรงพยาบาล ซึ่งก็ทำให้ตำราเล่มนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

คู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย ที่ นพ.สุรเกียรติ เขียนเอาไว้ แม้ว่าจะสมบูรณ์และมีการอัปเดต แต่กระนั้นการที่เป็นคู่มือตำราเล่มหนาเตอะนับพันหน้า อาจจะทำให้ยากต่อการค้นหาข้อมูล 

1

ภาคเอกชนอย่าง Doctor at Home เห็นความท้าทายในเรื่องนี้ และมองเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ที่ นพ.สุรเกียรติ ได้เขียนเอาไว้ จึงพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยี รวบรวมเอาข้อมูลที่อยู่ในตำราเล่มหนา มาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และง่ายมากขึ้นด้วย

ทวี โฆษิตจิรนันท์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Doctor at Home เล่าว่า Doctor at Home จะทำหน้าที่เสมือนกับเป็น ‘หมอมือถือ’ ให้กับประชาชน รวมถึงบุคลากรการแพทย์ได้ใช้องค์ความรู้จากตำราคู่มือการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ป่วย ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ของ Doctor at Home

ฟีเจอร์สำคัญคือจะมีโปรแกรมแชตสอบถามและตอบคำถามอาการเบื้องต้นจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลสุขภาพที่ดูแลตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตัวเอง 

“คนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ก็ใช้งานได้ง่าย เพราะหากใช้งานไลน์ได้ตามปกติ ก็ใช้งาน Doctor at Home ได้เช่นกัน เพราะเป็นระบบที่สร้างเพื่อให้ดูแลตัวเองได้เมื่อเจ็บป่วย และรู้ว่าจะต้องไปพบแพทย์ตอนไหน หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้หายดี” 

ทวี ขยายความด้วยว่า Doctor at Home ยังเป็นประโยชน์กับบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล อาจไม่มีแพทย์ประจำ ได้ใช้โปรแรกม Doctor at Home สอบถามอาการเจ็บป่วยเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะกับหน่วยบริการในพื้นที่ห่างไกล เมื่อมีคำถามหรืออาการเจ็บป่วยจากชาวบ้าน ก็สามารถเข้ามาหาข้อมูลใน Doctor at Home ได้ทันที ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็ยังเป็นการลดภาระของแพทย์ที่ต้องออกตรวจในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วยเช่นกัน 

2

ทวี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ Doctor at Home กำลังพัฒนาระบบให้สมบูรณ์มากที่สุด แต่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานในระบบได้ ซึ่งสามารถใช้ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยเพิ่มเพื่อน @Doctorathome ซึ่งสามารถแชตสอบถามกับระบบ AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงข้อมูลสุขภาพในระบบมาสู่ผู้ใช้บริการอย่างถูกต้อง 

“ในอนาคต ก็ยังมีความสนใจในการให้บริการการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ในการเสริมบริการสุขภาพให้กับประชาชน” ผู้ร่วมก่อตั้ง Doctor at Home กล่าว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมองเห็นประโยชน์ของ Doctor at Home ที่จะสนับสนุนการดูแลสุขภาพของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท) ระบุว่า สปสช. ต้องการนำบริการไปหากลุ่มเป้าหมาย ฉะนั้นจึงมีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมจัดบริการ เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยา หรือเจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค พบหมอออนไลน์จัดส่งยาถึงบ้าน ซึ่งขณะนี้นำร่องที่กรุงเทพฯ ก่อน เป็นต้น

3

สำหรับกรณีการเจ็บป่วยนั้น หากป่วยถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาลก็ต้องไปทันที แต่หากมีอาการเล็กน้อย สามารถทำการประเมินด้วยตนเอง โดย สปสช. ทำงานร่วมกันกับ รศ.นพ.สุรเกียรติ ที่เขียนตำราตรวจโรคเบื้องต้น ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี และพัฒนาตำราเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในไลน์ของ Doctor at Home ซึ่ง สปสช. ได้นำข้อมูลและความรู้ด้านการตรวจสุขภาพเบื้องต้น มาอยู่ในไลน์ OA ของ สปสช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เพื่อนสมาชิกไลน์ของ สปสช.กว่า 7 ล้านคน สามารถใช้โปรแกรมนี้สอบถามอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นกับระบบ AI 

“ระบบ AI ของ Doctor at Home มีหลายโรคและอาการเจ็บป่วยที่เป็นข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสอบถามผ่านระบบได้ โดยระบบจะถามผู้ใช้บริการทีละขั้น และคัดกรองอาการที่อันตรายออกก่อน หากข้อมูลระบุว่าต้องไปโรงพยาบาล ระบบจะแนะนำทันทีว่าต้องไป แต่หากเป็นอาการเล็กน้อย ระบบก็จะบอกคำแนะนำในการดูแลตัวเอง ซึ่งระบบจะไม่สอบถามข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการเด็ดขาดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ” ทพ.อรรถพร กล่าว 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า การดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือการดูแลตัวเองได้ คัดกรองสุขภาพของตัวเองในเบื้องตั้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบสุขภาพโดยรวมดีขึ้นโดยอัตโนมัติ จะลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคอยที่จะพบแพทย์ รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนจากบุคลากรแพทย์ดีขึ้นด้วย 

3