ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ สปสช. เผย พร้อมรับความท้าทาย ‘ระบบบัตรทอง’ ในอนาคต ‘ยกระดับ 30 บาทพลัส’ คือตัวอย่าง ย้ำ แม้อนาคตค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น แต่ ‘เทคโนโลยีทางการแพทย์-AI’  จะช่วยให้ภาพรวมถูกลง-บริการมีประสิทธิภาพดีมากขึ้น


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในอนาคต ก่อนการประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ภายใต้หัวข้อ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 ว่า ระบบบัตรทองของไทยถึงแม้จะมีวิวัฒนาการมากว่า 20 ปี แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ทั้งเรื่องความยั่งยืนของระบบ ความเพียงพอของงบประมาณ ไปจนถึงผลกระทบของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งนี้ สปสช. ต้องเตรียมความพร้อม 

ทั้งนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองต่อความท้าทายกับระบบบัตรทอง ก็คือนโยบายของทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เพราะถึงส่วนหนึ่งจะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการรับบริการให้กับประชาชน แต่หากมองให้ลึกลงไปสิ่งนื้คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ 

เช่น การให้มีหน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ การมีบริการเชิงรุกไปถึงที่บ้านผู้ป่วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเวลาในการมาโรงพยาบาล เนื่องจากการไปรับบริการที่สถาพยาบาลในแต่ละครั้งของผู้ป่วย จะมีค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งตรงนี้จะเป็นความท้าทายด้านงบประมาณของระบบบัตรทองในอนาคตด้วย ทว่า สปสช. เชื่อว่าสามารถรองรับปัญหานี้ได้ โดยการใช้เทคโนโลยี และมาตรการต่างๆ ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และระบบปฐมภูมิ

“ภาวะการเปลี่ยนแปลงโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงก็มีผลกระทบต่อสุขภาพ และเป็นความท้าทายใหม่ของ สปสช. เพราะเป็นสิ่งที่อาจทำให้อัตราการป่วยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นระบบหลักประกันฯ ก็ต้องลงไปดู ว่าจะสามารถทำอย่างไร ให้ประชาชนป่วยน้อยลง เราพูดกันเยอะว่าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ตอนนี้เราคงต้องจริงจังมากขึ้น ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ หรือว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป” นพ.จเด็จ ระบุ

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทาง สปสช. ไม่ได้ปฏิเสธในการใช้สิ่งนี้ และมองว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับระบบบัตรทอง แต่ควรต้องมีมาตรฐานและผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจสอบอย่างรัดกุม เช่น เมื่อต้องให้บริการเอ็กซเรย์จำนวนมากในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค และโรคต่างๆ หลายแห่งมีการใช้ AI เข้ามาสนับสนุน ซึ่ง สปสช. ก็ได้มีการปรึกษากับราชวิทยาลัยต่างๆ ถึงความพร้อม 

รวมถึงเรื่องทางการแพทย์อย่างการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่ผ่านมา สปสช. ก็มีการบรรจุสิทธิประโยชน์ด้านนี้มาหลากหลายรายการ เช่น การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) การตรวจะมะเร็งปากมดลูก การตรวจยีนแพ้ยาในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ฯลฯ เพราะอนาคตการคัดกรอง และการรักษาโดยใช้ในระดับยีนจะเริ่มมีการดำเนินการมากขึ้น 

“ล่าสุดมีการคุยกันว่าการตรวจยีนที่เราอาจจะเอามาคัดกรองเด็ก แล้วเลิกการคัดกรองอื่นๆ หมดเลย โดยใช้การตรวจยีนอย่างเดียวแล้วจบ เลือดหยดเดียวจบเลย คือเทคโนโลยีมันไปถึงขนาดนั้น และราคาถูกลง ฉะนั้นเป็นความหวังของเรา แม้ที่บอกว่าอนาคตค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพอาจจะเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกลง มีความถูกต้องมากขึ้น แก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว