เทคโนโลยีขณะนี้หมุนเร็วไม่ต่างจากเข็มบอกนาทีบนหน้าปัดนาฬิกา หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชนต่างเตรียมพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาหนุนเสริมศักยภาพของตัวเองกันอย่างแข็งขัน และในขณะเดียวกัน ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘AI’ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสนามนี้
แวดวงสุขภาพและสาธารณสุขเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีการใช้ AI เข้ามาพัฒนาศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย โดยจะเห็นได้อย่างแจ้งชัดเมื่อครั้งมีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยข้อมูลจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เมื่อปี 2565 ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยพัฒนา AI มาใช้ด้านการแพทย์ และสาธารณสุขในด้านประสิทธิผลของบริการ ด้วยการประยุกต์เป็น ‘แชทบอท’ สร้างความเชื่อมั่น และยอมรับวัคซีนโควิด
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำมาใช้งานในด้านอื่นๆ เช่น การวินิจฉัยโรคจากผลเอกซเรย์แบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ตลอดจนโทรเวชกรรมทางไกล (Telemedicine) อีกด้วย
สอดคล้องกับหัวข้อเสวนา ‘AI Startups Revolutionizing Healthcare’ ภายในงาน TH.ai Forum EP02: AI Trend in Health Care’ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพูดคุยถึงการพัฒนา AI จากธุรกิจสตาร์ทอัพถึงการเข้ามาหนุนเสริมศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย
‘ดิจิทัลเฮลท์’ จะทำไม่ได้ถ้าขาด ‘ความร่วมมือ’
พงษ์ชัย เพชรสังหาร นายกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย เริ่มต้นการเสวนาว่า ระบบนิเวศ (Eco System) ของสตาร์ทอัพพัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีการใช้ AI เข้ามาในระบบสุขภาพ แม้แต่องค์กรขนาดใหญ่ยังมีความต้องการให้สตาร์ทอัพเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรม เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพที่ก็ต้องการองค์กรเพื่อช่วยขยายการดำเนินงาน
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของ Eco System หรือการพัฒนา AI เพิ่มขึ้น เกิดจากการที่หลายโรงพยาบาลเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพด้านเฮลท์เทคเข้าไปร่วมงานด้วย ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา Eco System ในประเทศไทยยังมีไม่กี่จำพวก รวมถึงจำนวนสตาร์ทอัพไทยก็ยังมีไม่มาก
“ดิจิทัลเฮลท์ในไทยไม่สามารถทำได้โดยลำพัง จำเป็นจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ หรือองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะก้าว หรือฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคไปพร้อมกัน” พงษ์ชัย ระบุ
นอกจากนี้ หากมองในภาพของสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยที่ก่อตั้งมาแล้วราว 5 ปี พบว่าผู้ประกอบการแต่ละเจ้ามีความตั้งใจที่จะยกระดับสาธารณสุข รวมถึงประเทศไทยในขณะนี้ก็เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ด้วย
“ส่วนตัวมองว่าประเทศไทย เสียเอกราชด้านเทคโนโลยีไปแล้วหลายสาขา เช่น อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ แต่ในทางกลับกันก็พบว่ายังเหลือด้านบริการสาธารณสุขที่ยังสามารถรักษาไว้ได้ และมากไปกว่านั้นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการมีข้อมูลคุณภาพสูง โดยเฉพาะข้อมูลโรคเขตร้อน”
“เรามีคลังข้อมูลดี มีผู้พัฒนาเก่งๆ แต่สิ่งที่สำคัญคืออยากให้ภาครัฐ และภาคเอกชน ทำงานร่วมกัน และสร้างทางออกของปัญหาด้วยกัน” พงษ์ชัย ระบุ
นอกจากบทบาทนายกสมาคมฯ แล้ว อีกหนึ่งบทบาทของ ‘พงษ์ชัย’ คือการเป็น CEO และ Co-Founder Dietz.asia ที่ร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพแบบไร้รอยต่ออีกด้วย โดยจะเป็นการช่วยลดความแออัด ลดต้นทุน ปัญหาภาระงาน ความผิดพลาดเป็นต้น
“เราตั้งใจว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีเงินหรือไม่มีเงิน สามารถเข้าสู่การรักษาภายใต้สิทธิของตัวเอง” พงษ์ชัย ระบุ กล่าว