ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการอำนวยการเลือกตั้งและการเลือกตั้งกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ประกาศรับสมัครเลือกตั้ง กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน วาระที่ 3 (พศ. 2567-2570)” กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2567 ได้มีการประกาศหมายเลขและรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 52 รายชื่อ แบ่งออกเป็น 4 ทีม รวมถึงผู้สมัครในนามอิสระอีกด้วย

การเลือกตั้งกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนในครั้งนี้ จะมีการกำหนดลงคะแนนวันแรก ในวันที่ 14 มี.ค. 2567 และจะสิ้นสุดในวันที่ 18 เม.ย. 2567 ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ชุดที่ 3 ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสมาชิก หรือผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ฯลฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556  

“The Coverage” อาสาพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จัก 4 ทีม อันประกอบด้วย ทีมสานต่อ ทีมยกระดับ ทีมพลังใหม่ และทีมพลังสาธารณสุข ผ่าน “3 เรื่องเร่งด่วน ที่พร้อมทำทันที และพร้อมแก้ไขหากมีโอกาสได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ เพื่อประโยชน์ของสมาชิก และนักสาธารณสุขชุมชนทั่วประเทศ โดยจากการพูดคุยนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายจากแต่ละทีมเท่านั้น

‘3 เรื่องเร่งด่วนของทีมสานต่อ

1

สำหรับเรื่องแรกที่ นายธนัญชัย วรรณสุข หัวหน้าทีมสานต่อ (เบอร์ 1-12) มองไว้คือการวางกลไกการจัดการรองรับเป้าหมาย ผู้นำแห่งตลาดสุขภาพ และพัฒนาสู่มาตรฐานสากล’ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาสาธารณสุข และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ รวมถึงยังมีปัญหาอนามัย และสิ่งแวดล้อม เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำ ฯลฯ ที่กระทบต่อชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การป้อนเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดเอกชน (Entrepreneur) โดยไม่จำเป็นต้องเข้าระบบข้าราชการเพียงอย่างเดียว เพราะหากกำหนด วางเป้าหมายเป็นผู้นำแห่งตลาดสุขภาพแล้ว ภาคเอกชนน่าจะไปได้ดีกว่า

สำหรับข้าราชการอาจจะเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้จากตลาดสุขภาพ สอดคล้องกับการแก้หนี้ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดวิชาชีพให้เป็นระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับผู้ทรงคุณวุฒิต่อไป รับการประชุมวิชาการแห่งชาติ ด้านการสาธารณสุขชุมชนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยจะต่อยอดไปสู่ระดับภูมิภาค และนานาชาติต่อไป

เรื่องที่สอง  เร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบทวิภาคีทุกระดับ ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อให้สมาชิกได้รับการอบรมฟรี โดยมีหน่วยคะแนนซึ่งมีผลต่อการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน (โดยจะต้องสะสมหน่วยคะแนนให้ได้ 50 คะแนน ภายใน 5 ปี) ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการประสานความร่วมมือ และทำเอาไว้แล้ว ทั้งหลักสูตรอบรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลักสูตรอบรมการควบคุมยาสูบ และหลักสูตรอบรมเรื่องโรคเอดส์ และไวรัสตับอักเสบ บี และซีที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นต้น

หากสามารถร่วมมือแบบทวิภาคีได้ ก็จะสามารถหาแหล่งงบประมาณในการจัดการอบรม เอื้อให้สมาชิกทุกคนที่มีใบประกอบฯ สามารถเก็บสะสมหน่วยคะแนน เพิ่มทักษะความรู้ โดยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ซึ่งส่วนนี้จะตอบโจทย์มากกว่า

สุดท้าย เรื่องที่สาม ผลักดันเรื่องการดูแลสิทธิ และความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ของสมาชิก ปรับกฎ ระเบียบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น การกำหนดเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มประเภทค่าตอบแทนวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน เหมือนทุกวิชาชีพ หลังจากที่ได้มีการจัดบุคคลที่มีคุณสมบัติในตำแหน่งนักสาธารณสุข (มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2566) รวมถึงการผลักดันเจ้าพนักงาน เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข หรือทันตาภิบาล เจ้าพนักงานเภสัชกรรมที่ได้ใบประกอบวิชาชีพ ให้ได้รับตำแหน่งนักสาธารณสุขชุมชนผ่านการสอบคัดเลือก รวมถึงการผลักดันตำแหน่งนักสาธารณสุขสู่ตำแหน่งเชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิ พร้อมต่อยอดและพัฒนาสู่ทางก้าวหน้าวิชาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกด้วย

อยากให้ทุกคนมีความภูมิใจ ที่พวกเราได้ต่อสู่กันมาจนมี พ.ร.บ.วิชาชีพฯ ทีมสานต่อที่เคยเป็นผู้บริหารได้มีการผลักดันให้มีใบประกอบวิชาชีพ และล่าสุดคือมีการกำหนดนักสาธารณสุข เราจำเป็นจะต้องสานต่อ โดยเราจะหยิบธงผืนที่ 4 ให้ทุกคนมีเงินประจำตำแหน่ง รวมถึงการผลักดันตำแหน่งนักสาธารณสุขสู่ตำแหน่งเชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ พร้อมต่อยอด และพัฒนาสู่ทางก้าวหน้าทางวิชาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" นายธนัญชัย ระบุ

‘3 เรื่องเร่งด่วนของทีมยกระดับ

 

รศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต หัวหน้าทีมยกระดับ (เบอร์ 13-24) บอกว่า เรื่องแรก ค่าตอบแทน ผ่านการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ โดยทีมยกระดับจะนำผลงานวิชาการที่ได้ทำเอาไว้อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ถูกใช้กลับมาทบทวนใหม่เพื่อนำมาสู่ค่าตอบแทน โดยใช้มาตรฐานวิชาชีพเป็นตัวยืนยัน มากไปกว่านั้นยังได้เตรียมการสำหรับข้าราชส่วนท้องถิ่นที่ได้มีการเตรียมการเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และเตรียมพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สอดคล้องกับการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมเร่งดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ใช้วุฒิอนุปริญญา ที่เรียนจบปริญญาตรี และมีใบประกอบแล้วได้รับสิทธิเป็นนักสาธารณสุขเช่นกัน

รวมถึง การทำมาตรฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคให้ชัดเจน ผ่านงานวิจัยเรื่องสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพนำมาขยายต่อ ก่อนจะทำไปทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มวิชาการ และผู้ปฏิบัติ รวมถึงทำหลักสูตรรองรับอนามัยสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย ที่จะเข้ากับข้อบังคับของสภาฯ ด้วย

เรื่องที่สอง สมาชิกต้องเข้าถึงสภาฯ อย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยจำนวนสมาชิกกว่า 5 หมื่นราย ทำให้ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการติดต่อ หรือความล่าช้า ฉะนั้นจึงจะตั้งเครือข่ายศูนย์วิชาการ หรือศูนย์ประสานงานที่เป็นหน่วยขับเคลื่อน กระจายทั่วประเทศ สอดรับกับการสะสมคะแนนของสมาชิกเพื่อต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ ทำให้สามารถเข้าถึง และติดต่อได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับทีมยกระดับเองก็มีเครือข่ายทางวิชาการกระจายทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นทั้งสถาบันหลัก และสถาบันสมทบสำหรับการจัดการอบรมหลักสูตรต่างๆ หากสมาชิกสามารถติดต่อสภาฯ ได้ง่ายขึ้น ก็จะนำไปสู่การทราบหน่วยคะแนนของตนเองได้โดยไม่ต้องลงอบรม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้

เรื่องที่สาม ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงการสร้างขอบเขตวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ซึ่งการยกระดับนี้จะสอดคล้องกับมาตรฐานเดิมที่เคยทำอยู่ หากส่วนไหนยังมีข้อที่ต้องแก้ไขก็จะมีการปรับปรุง เพื่อให้มาตรฐานยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เหมือนวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งทีมยกระดับมีทั้งสัดส่วนเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานจากหลายภาคส่วน ทั้งปฐมภูมิ หรือเครือข่ายต่างสังกัด เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือเอกชน โดยจะทำให้เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจนขึ้น

นำไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความถนัดของแต่ละคน ซึ่งในส่วนนี้สภาฯ จะเข้ามารับรองในการผลิตความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย ฯลฯ คล้ายคลึงกับแพทยสภาที่มีราชวิทยาลัยต่างๆ รองรับ

 ทีมยกระดับมีความพร้อมตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษาที่เป็นหลักในการพัฒนาคนขึ้นมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งตอนนนี้หลักสูตรต่างๆ ก็เป็นหนึ่งเดียวแล้ว และยังมีผู้บริหารที่มาจากสาธารณสุขอำเภอมีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ตัวเองส่งผลต่อการประสานงาน และสร้างความเข้าใจในการประกอบวิชาชีพตามขอบเขตกฎหมาย รวมถึงยังมีผู้ปฏิบัติงานในท้องถิ่นที่พร้อมจะเข้ามายกระดับการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดผลต่อสมาชิกได้อย่างชัดเจน และทันที รศ.วรพจน์ กล่าว

‘3 เรื่องเร่งด่วนของทีมพลังใหม่

3

นายประพันธ์ ใยบุญมี หัวหน้าทีมหลังใหม่ (เบอร์ 25-36) ระบุว่าเรื่องแรก คือ ค่าตอบแทน และการคุ้มครองประชาชน สืบเนื่องจากความคืบหน้า และสิทธิประโยชน์ที่ผ่านมา ยังไม่เกิดต่อสมาชิก และเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนในทุกสาขา ควรจะได้รับค่าตอบแทนที่ควรจะได้ รวมถึงบทบาทของสภาฯ ที่จะต้องชัดเจนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรค การป้องกันโรคระบาด เช่น การเป็นผู้ควบคุมสถานบริการ เพื่อให้งานส่งเสริมและป้องกัน การควบคุมโรค และอนามัยสิ่งแวดล้อมเดินหน้าต่อไปได้อย่างชัดเจนเทียบเท่ากับวิชาชีพอื่นๆ ส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง และได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วย

เรื่องที่สอง ตั้งศูนย์ประสานงานสภาฯ ทุกจังหวัด โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขึ้นกับส่วนกลาง เพื่อให้สมาชิกที่อยู่ในแต่ละจังหวัดได้รับการประสานงาน ทั้งเรื่องสวัสดิการ การพัฒนาความรู้ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังคิดต่อถึงเรื่องการลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สธ. เพราะหากมีการประชุมในระดับจังหวัดที่สามารถประเมินคะแนนได้ ก็ควรจะได้ทำได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ และงบประมาณส่วนตัว คาดว่าศูนย์ประสานงานสภาฯ ระดับจังหวัดจะสามารถช่วยขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และการพัฒนาในระดับจังหวัด

สำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานนี้ สามารถทำได้ทันทีภายใน 100 วันแรก โดยจะคัดตัวแทน และคณะทำงานของสภาฯ ระดับจังหวัดขึ้นมา ภายใต้การทำงานของสภาฯ ไม่ใช่นิติบุคคล เพื่อกระจายการทำงาน และสามารถดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับการหลักสูตรอบรมที่สมาชิกจะสามารถขอหน่วยคะแนนผ่านศูนย์ประสานงานนี้ได้ เป็นการพัฒนาความรู้โดยประหยัดงบประมาณ

เรื่องที่สาม ผลักดันสมาชิกให้มีใบประกอบวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้มีผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพราว 2.7 หมื่นคน จากสมาชิกทั้งหมดราว 5 หมื่นคน ซึ่งในความเป็นจริงยังมีผู้ที่จบการศึกษาด้านสาธารณสุข และเข้าสู่ระบบอยู่จำนวนมาก จึงคิดว่าควรจะต้องให้บุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับวิชาชีพเข้ามาเป็นผู้มีใบประกอบฯ เพื่อให้อยู่ในระบบได้ รวมถึงสิ่งที่ควรจะเกิดผลโดยเร็วคือการได้รับค่าตอบแทน ทั้งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัด สธ. อปท. รวมถึงเอกชน โดยมีกฎหมายของสภาฯ เป็นตัวกำกับควบคุมการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้สมาชิกได้รับค่าตอบแทนจากใบประกอบวิชาชีพ เหมือนวิชาชีพอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ยังมองถึงการลดค่าบัตรประจำตัว และค่าใบประกอบวิชาชีพด้วย เพราะสภาฯ ไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจ แต่เข้ามาทำเพื่อสมาชิก แต่อย่างไรก็ดี การเพิ่มจำนวนสมาชิกเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา เข้ามาพัฒนาความรู้เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามวิชาชีพได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะต้องแก้ระเบียบบางเรื่อง เช่น ระบบเกื้อกูล คะแนนสะสม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความครอบคุลม และนำไปสู่การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้

“ทีมพลังใหม่ประกอบด้วยบุคลากรระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และ รพ.สต. รวมถึงท้องถิ่น มีคณะอาจารย์ และมีทีมที่ปรึกษาจากคณะอาจารย์ อปท. และ สธ. และเราก็ได้เชิญผู้ประสานงานระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้มาเป็นตัวแทน เพื่อให้การดำเนินงานของสภาฯ มีหลายระดับ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกนายประพันธ์ ระบุ

‘3 เรื่องเร่งด่วนของทีมพลังนักสาธารณสุข

4

เรื่องเร่งด่วนแรกจาก นายสมศักดิ์ จึงตระกูล หัวหน้าทีมพลังนักสาธารณสุข (เบอร์ 37-48) คือ ‘จัดโครงสร้างสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ให้เป็นสภาสีขาว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในสภาก่อน โดยโครงสร้างสำนักงานสภาฯ จำเป็นต้องมีความโปร่งใสเรื่องค่าใช้จ่าย ต้องสามารถเปิดเผยกับสมาชิกได้ ทั้งงบดุล รายรับ และรายจ่ายในแต่ละปี รวมถึงจัดวางเจ้าหน้าที่ให้ตรงกับตำแหน่งให้มีประสิทธิภาพ และเพียงพอต่อการให้บริการสมาชิก สอดคล้องกับที่ผ่านมาการทำบัตรสมาชิก การต่ออายุบัตร และการอนุมัติคะแนนยังมีความล่าช้า

ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้าง และจัดให้มีสภาฯ ส่วนหน้าที่อยู่ในระดับจังหวัด โดยนายกสภาฯ จะประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อขอสถานที่ทำงาน รวมถึงจัดสรรงบประมาณจากสภาฯ ส่วนหนึ่งสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของสภาส่วนหน้า  มากไปกว่านั้น จะให้โอกาสสมาชิกได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมคณะกรรมการสภาฯ ได้ในบางวาระ และมติที่ประชุมจะต้องเปิดเผยให้สมาชิกได้รับทราบด้วยเช่นกัน

เรื่องที่สอง เร่งปรับตำแหน่งทั้งฝั่งถ่ายโอน-ไม่ถ่ายโอน เข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข โดยเร่งปรับตำแหน่งข้าราชการ ทั้งสายงานวิชาการ และสายงานเจ้าพนักงานที่มีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ทั้งฝั่งที่มีการถ่ายโอนภารกิจ และฝั่งที่ไม่ถ่ายโอนภารกิจ ให้เข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขภายใน 6 เดือน โดยทั้งฝั่ง สธ. และ อปท. จะต้องมีข้อมูลบุคลากร และลูกจ้างที่มีใบประกอบวิชาชีพ เพื่อปรับเข้าสู่ตำแหน่งได้โดยไม่ต้องสอบ ซึ่งเป็นการใช้เลขเดิมจากที่ทำงานเดิม ให้เป็นนักสาธารณสุขตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลังของส่วนราชการเดิม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการโอนย้าย ฯลฯ

มากไปกว่านั้น ต้องให้ลูกจ้างได้รับคัดเลือกด้วยวิธีกรณีพิเศษจากการที่มีใบประกอบวิชาชีพเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขตามโครงร้างกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการ และข้าราชการสายงานเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานทันตกรรม จะต้องทบทวนให้ 2 สายงานนี้สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันในโครงสร้างอัตรากำลัง รพ.สต. ทาง อ.ก.พ.สธ. ยังไม่ได้กำหนดให้ 2 สานงานที่มีใบประกอบวิชาชีพสามรรถเข้าสู่ตำแหน่งได้ ฉะนั้นจึงต้องมีการทบทวนอย่างเร่งด่วน

เรื่องที่สาม เร่งให้ ..ประกาศกำหนด ว่าด้วยเรื่องเงินประจำตำแหน่งเพิ่ม ตำแหน่งนักสาธารณสุข ว่าด้วยการให้ข้าราชได้รับเงินประจำตำแหน่งฯ ลงไปในประกาศฉบับนั้น เพราะหลังจากที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกาศกำหนดให้เป็นวิชาชีพเฉพาะให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง และหลังจากได้รับเงินประจำตำแหน่งแล้ว จะต้องเร่งจัดทำข้อมูล รายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินค่าตอบแทน เพื่อตั้งคำของบประมาณ ส่งไปยังสำนักงบประมาณ ฉะนั้นทั้งฝั่ง สธ. และ อปท. จะต้องมีฐานข้อมูลข้าราชการที่มีใบประกอบวิชาชีพ ที่สามารถปรับเข้าสู่ตำแหน่งได้ทันทีในระยะเวลา 3 เดือน

ทีมพลังนักสาธารณสุขสามารถบริหารกิจการสภาฯ เพื่อประโยชน์ของสมาชิกได้ ที่ผ่านมาเราได้แค่ชื่อตำแหน่ง แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้ ซึ่งจะเร่งทำให้สามารถเข้าสู่ตำแหน่ง และเกิดเงินประจำตำแหน่งเร็วที่สุด ส่วนบุคลากรทั้งข้าราช และลูกจ้างนักสาธารณสุขที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ให้เร่งสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ได้โดยเร็วเพื่อความก้าวหน้า สิทธิ ค่าตอบแทนวิชาชีพอนาคตอันใกล้นี้ ภายใต้การบริหารของนายกสภาชื่อสมศักดิ์ จึงตระกูล นายสมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การนับคะแนนจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 19 เม.. 2567 โดยสัดส่วนของกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนจะมีทั้ง 24 คน แบ่งเป็นกรรมการที่มาจากการแต่งตั้ง จำนวน 12 คน และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 12 คน