ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน ระบุ รอลุ้นมติ อ.ก.พ.สธ. ‘โครงสร้างอัตรากำลังนักสาธารณสุข’ ของนักวิชาการสาธารณสุขปลาย พ.ย. นี้ หลัง อ.ก.พ.สป.สธ-คกก.ประเมินผล ทบทวนโครงสร้างภารกิจและกรอบอัตรากำลังเห็นชอบแล้ว หวังเป็นของขวัญปีใหม่ให้บุคลากร


นายริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.สธ.) ได้มีมติเห็นชอบโครงสร้างอัตรากำลังนักสาธารณสุข ตามที่สภาการสาธารณสุขชุมชนเสนอ รวมถึงได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการประเมินผล ทบทวนภารกิจโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของหน่วยงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคสังกัด สป.สธ. ที่ได้มีการพิจารณาครั้งล่าสุดในวันที่ 7 พ.ย. 2566 หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกาศให้นักสาธารณสุขเป็นวิชาชีพเฉพาะเมื่อเดือน พ.ค. 2566

อย่างไรก็ดี ต้องรอลุ้นมติ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สธ.) ที่จะมีการประชุมปลายเดือน พ.ย. 2566 นี้อีกครั้งว่าจะเห็นชอบตามคณะกรรมการการประเมินผลฯ หรือไม่ หรือจะมีการปรับในส่วนไหนอย่างไร เนื่องจากมติของ อ.ก.พ.สธ.จะเป็นภาพใหญ่ ครอบคลุมทั้งกรม และกองต่างๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพราะตอนนี้ทราบว่าทางท้องถิ่นก็เริ่มมีการเร่งจัดบุคลากรแล้ว ที่ส่วนหนึ่งเป็นการจัดเอาไว้เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า โดยหากผ่าน อ.ก.พ.สธ. แล้ว การจัดสรรคนลงตำแหน่งนักสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัด สป.สธ. เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในช่วงแรกจะเป็นส่วนของนักวิชาการสาธารณสุขที่มีใบประกอบวิชาชีพ และมีวุฒิด้านสาธารณสุขก่อน 

ทั้งนี้ ยังมีบุคลากรกลุ่มงานทันตกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรมที่โดนตัดไป ซึ่งหากดูแนวโน้มในอนาคต ถ้ามีการปรับบุคลากรในกลุ่มนี้อาจต้องขยายไปอยู่ในกลุ่มงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามโครงสร้างนักสาธารณสุขที่ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพด้วย เช่น กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม กลุ่มงานควบคุมโรค ฯลฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่อยู่กับ สสจ. และโรงพยาบาลต่างๆ แตกต่างกับบุคลากรที่อยู่ใน รพ.สต. และ สสอ. ที่มีกลุ่มงานเกี่ยวข้องตามวิชาชีพอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของกลุ่มงานทรัพยากรบุคคลในแต่ละดับในการจัดบุคลากร

นอกจากนี้ ในอนาคตสำหรับเจ้าพนักงานสาธารณสุขจะมีการหารือกับ สธ. กพ. และท้องถิ่นเพื่อหาแนวทางว่าจะปรับจากสายงานทั่วไป มาเป็นสายวิชาการนักสาธารณสุขได้อย่างไร

“เราคาดหวังอยากได้ให้เป็นของขวัญปีใหม่ในส่วนของคนที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์แล้วเพราะจะมีเรื่องของที่จะต้องไปผลักดันต่อคือเรื่องค่าวิชาชีพ เงินประจำตำแหน่งของวิชาชีพเฉพาะ ซึ่งถ้าล่าช้า กระบวนการงบประมาณที่จะจัดสรรลงมาอาจจะไม่ทันในปีงบประมาณ 2567” นายริซกี ระบุ