ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึง "นพ.ชลน่าน" พร้อมหารือผู้แทน สธ. ถึงการปรับสายงาน-ความก้าวหน้า "นักสาธารณสุข" หลังการตีความเข้าสู่ตำแหน่งแคบ ทำให้ยังมีจำนวนน้อย อนาคตเตรียมหารือสถาบันการศึกษาปรับวิทยาศาสตร์บัณฑิต เป็นสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต


เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 ดร.ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) และกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ได้มีการเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เรื่องแนวทางการเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุข และความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ โดยมี ผศ.ดร.วิชัย ล้ำสุทธิ และ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ คณะที่ปรึกษา รมว.สธ. พร้อมด้วย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัด สธ. เป็นผู้รับหนังสือและรับฟังข้อมูล

ดร.ริซกี กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้สืบเนื่องจาก อ.ก.พ.สธ. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบให้นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ และชำนาญการ สามารถปรับตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับพบว่ามีนักวิชาการสาธารณสุขที่เข้าสู่ตำแหน่ง จำนวน 2,200 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อย และจากรายละเอียดยังมีการระบุว่าต้องเป็นวุฒิสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต และมีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นการตีความที่แคบ

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ระบุว่าเป็นวุฒิปริญญาตรี หรือเทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต และมีใบประกอบวิชาชีพฯ ฉะนั้นเมื่อตัดเอาแต่วุฒิสาธารณสุขศาสตร์ และมีใบประกอบวิชาชีพฯ ทำให้จำนวนผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งยังมีน้อย รวมถึงสถาบันการศึกษาในอดีตส่วนมากจะเปิดเป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต เช่น วิทยาศาสตร์บัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน) ไม่ได้เป็นสาขาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต ซึ่งการตีความแบบนี้อาจจะทำให้คนที่จบมาเป็นนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ ฯลฯ ที่พัฒนาตัวเองจนมีใบประกอบแต่ไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง

“วันนี้เลยเป็นการพูดคุยหารือ สำหรับ 2,200 คนก็ให้เข้าสู่ตำแหน่ง แต่ว่ารอบถัดไปอยากให้มีการอนุโลม หรือตีความโดยตรวจสอบกับ ก.พ. ก็ได้ เพราะวุฒิที่สภาฯ รับรอง ก.พ. ก็รับรองว่าเป็นสาขาด้านสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่มนี้ก็ทำงานในระบบมานาน ใกล้เกษียณ ฉะนั้นจึงอยากให้อนุโลม หรือใช้วิธีปรับหาแนวทางเพื่อให้เข้าสู่นักสาธารณสุข” ดร.ริซกี กล่าว

ดร.ริซกี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตทางสภาฯ ก็จะมีการพูดคุยกับสถาบันการศึกษา กรณีปรับสาขาวิชาจากวิทยาศาสตร์บัณฑิต เป็นสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต มากไปกว่านั้นสิ่งที่คาดหวังต่อไปคือให้คนรุ่นเก่าที่ยังไม่เกษียณได้ปรับเข้าสู่ตำแหน่งอย่างน้อยภายในปีนี้ และในขั้นต่อไปก็อยากให้กลุ่มเจ้าพนักงานสายงานทั่วไป มีใบประกอบวิชาชีพ ที่จะต้องมีการหาเลขตำแหน่งก่อนเข้าสู่สายงานวิชาการ ในตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นเรื่องถัดไปที่ สธ. พิจารณาเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข เพราะคนกลุ่มนี้ทำงานกับ สธ. มานาน รวมถึงกลุ่มลูกจ้าง พนักงานของรัฐ ก็อยากจะให้มีการพิจารณาเป็นลำดับขั้น ค่อยๆ ผลักดันเป็นวิชาชีพเฉพาะตามสิทธิต่อไป