ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ชี้ สธ. ให้กู้เงินแก้หนี้นอกระบบ ช่วยชีวิตบุคลากรได้แน่ แต่จะดีกว่าหากยกระดับสอนวินัยทางการเงินไปด้วย เหตุพบส่วนใหญ่ยังติดหนี้พนันออนไลน์-เล่นแชร์ลูกโซ่ เสนอหากจะทำให้ยั่งยืน ควรเพิ่มค่าตอบแทน-หนุนสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขทั่วประเทศ 


จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการประกาศนโยบายแก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข โดยร่วมกับธนาคารออมสิน ซึ่งจัดให้มีคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) ประกอบด้วย 2 โครงการหลัก คือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ และสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ เพื่อมาแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขทั่วประเทศ 

ล่าสุด นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งว่า ถือเป็นโครงการที่ดีอย่างมากที่จะช่วยบุคลากรสาธารณสุข ทั้งกลุ่มที่ต้องการมีที่พักอาศัยใหม่ ต่อเติมที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือการเข้าถึงเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะนักสาธารณสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ ทั้งระดับลูกจ้าง พนักงาน และข้าราชการ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด พื้นที่ห่างไกล รวมถึงในเมืองใหญ่ก็ตาม วินัยทางการเงิน รวมถึงพฤติกรรการใช้จ่ายค่อนข้างมีปัญหา และไม่สามารถจัดการได้เอง 

"มีหลายส่วนที่ติดพนันออนไลน์ หรือเล่นแชร์ลูกโซ่แล้วเงินก็หายไป ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่าย ผมมองว่าประเด็นนี้ค่อนข้างสำคัญ หาก สธ. จะให้เงินกู้ แล้วยกระดับต่อยอดด้วยการเสริมองค์ความรู้ด้านการเงินให้กับบุคลากร ให้เข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงิน รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านการเงินให้กับพวกเรา ก็น่าจะเป็นการสร้างความยั่งยืนทางด้านการเงินให้กับบุคลากร" นายริซกี กล่าว 

นอกจากนี้ มองว่าการที่ให้ธนาคารออมสินแห่งเดียวในการปล่อยกู้ให้กับบุคลากร อาจทำให้เป็นประเด็นที่บุคลากรสาธารณสุขใช้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพราะอาจต้องเปลี่ยนบัญชีเงินเดือนไปอีกธนาคารหนึ่ง อีกทั้งเท่าที่สอบถามกันมา ก็พบว่าการเข้าถึงโครงการนี้ อาจต้องแลกด้วยเงื่อนไขการทำประกันชีวิตเพื่อเข้าถึงเงินกู้ ซึ่งเงินประกันชีวิตที่ต้องจ่ายก่อนเพื่อกู้เงินค่อนข้างสูง

นายริซกี กล่าวต่อไปว่า จึงอยากให้ สธ. สนับสนุนด้านการเงินเพิ่มเติมให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เพราะหากมีแคมเปญหรือนโยบายดีๆ ที่ช่วยสนับสนุนสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ในการให้มีระบบการหมุนเวียนภายในสหกรณ์ที่ดี และเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกที่เป็นบุคลากรสาธารณสุข ก็น่าจะมีความยั่งยืนด้วยเช่นกัน และดีกว่าการปล่อยเงินกู้ให้กับบุคลากรเพียงอย่างเดียว 

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข กล่าวอีกว่า อีกสิ่งที่เป็นไปได้ คือ หาก สธ. จะให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคลากรในด้านการเงิน ก็ควรพิจารณาปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนให้กับบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข เพราะปัจจุบันที่ใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ฉบับที่ 11 มานานกว่า 7 ปีแล้ว และที่ผ่านมาก็มีเพียงปรับขึ้นค่าเข้าเวรเท่านั้น แต่ค่าตอบแทนไม่ได้ปรับขึ้นมานาน ซึ่งหากพิจารณาเรื่องนี้ ก็น่าจะทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น 

"เพราะค่าตอบแทน และความก้าวหน้าทางวิชาชีพ จะติดตัวพวกเราไปจนถึงเกษียณ ทำให้มีการปรับเพิ่มตามระเบียบได้ ซึ่งหากมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น ก็ช่วยให้พวกเรามีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนกัน แต่การให้กู้เงินก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่ยังมองว่าไม่ใช่แนวทางการแก้วินัยการเงิน" เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าวตอนท้าย