ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ นวก.สธ.ฯ หวั่น จัดคนลงตำแหน่ง ‘นักสาธารณสุข’ เสี่ยงล่าช้า หลัง สธ. ให้แค่คนมีวุฒิ ‘สาธารณสุขศาสตร์’ ก่อน ส่วนวุฒิอื่น-เทียบเท่า ที่ตรงตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของ ก.พ. อาจต้องรอเป็นปี


ดร.ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการจัดคนเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขในหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เนื่องจากอาจกระทบกับการเข้าสู่ตำแหน่งของนักสาธารณสุขทั่วประเทศ ภายหลังมติของ อ.ก.พ.สธ. ระบุว่ากลุ่มที่จะได้รับการเข้าสู่ตำแหน่งกลุ่มแรกจะเป็นนักวิชาการสาธารณสุขที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และมีวุฒิการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต ที่มีราว 2,200 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถดำเนินการได้เลย เพราะเป็นระดับปฏิบัติการ (ซี 3 -5) และระดับชำนาญการ (ซี 6 -7) ส่วนระดับชำนาญการพิเศษ (ซี8) อาจต้องมีการทำค่างานเพิ่มเติมในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข

นอกจากนี้ จากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล (คืบหน้า! ปรับตำแหน่ง ‘นักสาธารณสุข’ ส่งเรื่องถึง สสจ. แล้ว รอสำรวจ-ส่งข้อมูลกลับ | TheCoverage.info) เกรงว่าการตีความให้คนเข้าสู่ตำแหน่งอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และมีความเข้าใจว่าต้องได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตเท่านั้น โดยเฉพาะที่ระบุว่า ไม่ใช่นักวิชาการสาธารณสุขทุกคนจะสามารถปรับตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

ขณะที่มาตรฐานการกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของ ก.พ. ระบุไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และได้รับปริญญาตรีหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขศาสตร์) วิทยาศาสตรบัณฑิต (สาธารณสุขชุมชน) วิทยาศาสตรบัณฑิต (ส่งเสริมสุขภาพ) วิทยาศาสตรบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) วิทยาศาสตรบัณฑิต (อาชีวอนามัย) ฯลฯ อันสอดคล้องตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556

ดร.ริซกี กล่าวต่อไปว่า รวมถึงทางกองทรัพยากรบุคคล สป.สธ. เองก็มีการระบุด้วยว่า กรณีผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขของ ก.พ. หากยังไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งในช่วงนี้ได้ ในภายหลังสามารถส่งข้อมูลให้กองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม อ.ก.พ.สธ ให้พิจารณาต่อไปได้ โดยส่งผ่านมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานเขตสุขภาพ ซึ่งหมายความว่าคนที่จบวิทยาศาสตร์บัณฑิต ด้านสาธารณสุขศาสตร์ สาขาต่างๆ อาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่กลุ่มนี้จะเข้าสู่ตำแหน่งได้

“สิ่งที่ท่านผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคลบอกว่าไม่ใช่นักวิชาการสาธารณสุขทุกคนจะเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขได้นั้นอันนี้ถูกต้อง เพราะส่วนหนึ่งในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข มีคนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนอยู่ด้วย เช่น แพทย์ พยาบาล หรือสายงานอื่นๆ ที่สอบใบประกอบวิชาชีพการในสายงานตนไม่ได้ หรือเหตุผลอื่นให้ต้องมาใช้ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข แต่การบอกว่าต้องเป็นผู้ที่จบสาธารณสุขศาสตร์เท่านั้น อาจคาดเคลื่อนจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข ซึ่งสภาการสาธารณสุขชุมชนเป็นต้นร่าง รวมถึงอาจกระทบกับผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนทั่วประเทศได้” ดร.ริซกี ระบุ

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นในตอนนี้สิ่งที่อยากให้กองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. มีการดำเนินการคือ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่ระบุว่ามีประมาณ 1.8 หมื่นคนนั้น แบ่งเป็นข้าราชการที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุข ข้าราชการที่เป็นสายทั่วไป (เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือ จพ.) พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างกี่คน

อีกทั้งข้าราชการที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุข 2,200 คนที่สามารถปรับตำแหน่งเป็นนักสาธารณสุขในกลุ่มแรกได้เลย เฉพาะวุฒิการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต หรือรวมคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ด้วย เพราะจำนวนผู้ที่เข้าสู่ตำแหน่งยังดูน้อยเกินไปหากเทียบกับข้อมูลที่สภาการสาธารณสุขชุมชนมี คือ 2.7 หมื่นคนที่ได้ขึ้นทะเบียนวิชาชีพไว้ โดยในจำนวนนี้ประมาณ 70% อยู่ในสังกัด สป.สธ.

ตลอดจนให้มีการตรวจสอบคุณวุฒิให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ตามขั้นตอนดังนี้ 1. ตรวจสอบจากหลักสูตรที่ อนุกรรมการรับรองหลักสูตร สภาการสาธารณสุขชุมชน รับรองตามมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา และ 2. ตรวจสอบที่เว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. กลุ่มงานศูนย์สรรหาและเลือกสรร ซึ่งหากพิมพ์ชื่อวุฒิการศึกษา หรือสถาบัน แล้วกดค้นหา หรือที่ลิงก์ https://accreditation.ocsc.go.th/ ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าคุณวุฒิเทียบเท่ากับสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตหรือไม่

“จากการสอบถาม สสจ. ทราบว่ายังไม่มีหนังสือที่ชัดเจนจาก สธ. แต่อย่างใด รวมทั้งความชัดเจนของหลักเกณฑ์แนวทางของ จพ. เข้าสู่แท่งวิชาการในตำแหน่งนักสาธารณสุข และความชัดเจนของหลักเกณฑ์แนวทางของพนักงานราชการ พกส. และลูกจ้าง ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขด้วย ซึ่งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากการเข้าสู่ตำแหน่งล่าช้า อาจกระทบกับสิทธิอื่นๆ เช่น เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พตส.)  ฯลฯ” ดร.ริซกี กล่าว

ดร.ริซกี ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่างกองบริหารทรัพยากรบุคคล สป.สธ. กับสภาการสาธารณสุขชุมชน เป็นการสื่อสารผ่านหนังสือโต้ตอบกันไปมา หรือไม่ก็เป็นการสื่อสารปากเปล่า เช่น โทร. มาขอข้อมูลโดยตรง เป็นอาทิ ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ได้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน หลังจากนี้อาจต้องมีเวทีสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังของร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ตลอดจนกรอบเวลาที่ชัดเจนในการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุขตามมาตรฐานการกำหนดของ ก.พ. ซึ่งมีความล่าช้าจากกำหนดการเดิมมาหลายเดือนแล้ว

“ผมในฐานะกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน อนุกรรมการดูแลสิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้าค่าตอบแทนผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน อนุกรรมการรับรองหลักสูตร และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ ยินดีให้ความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันต่อไป” ดร.ริซกี กล่าว