ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความพยายามของสภาการสาธารณสุขชุมชนที่ต้องการผลักดันให้เกิด “การกำหนดตำแหน่งใหม่” เป็นวิชาชีพทางด้านสุขภาพลำดับที่ 8 กำลังออกดอกออกผล นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา

ตำแหน่งใหม่ที่ว่า นั่นคือ “นักสาธารณสุข” ซึ่งสภาการสาธารณสุขชุมชนต้องการให้เป็นสายงานเพิ่มใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะและเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อรองรับผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ประมาณ 2 หมื่นคน และสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนที่มีในปัจจุบันอีกกว่า 5 หมื่นคน

นอกจากการขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขเพิ่มขึ้นใหม่แล้ว ที่ผ่านมาสภาการสาธารณสุขชุมชนยังได้ตั้งคำถามและเปิดประเด็นในอีก 2 เรื่องใหญ่ๆ

1

หนึ่งคือ การขอรับจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ กรณีปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือที่คุ้นชินกันว่า “การบรรจุข้าราชการโควิด รอบที่ 2”

อีกหนึ่งคือ การเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นกรณีพิเศษในสังกัด สธ.

สำหรับประเด็นแรก การขอกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุขเพิ่มขึ้นใหม่

ที่ผ่านมาสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ดำเนินการขอกำหนดตำแหน่งดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สาธารณสุข ส.ส.)

อย่างไรก็ดี ทาง กมธ.สาธารณสุข ส.ส. มองว่า เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของตัวเอง แต่เพื่อให้ทราบความคืบหน้า กมธ.สาธารณสุข ส.ส. จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ

สธ. ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สาธารณสุข) ได้เห็นชอบให้เสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณากำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เป็นสายงานใหม่ของ สธ.

ถัดจากนั้น สธ. ได้ทำหนังสือด่วนมากถึง เลขาธิการ ก.พ. เพื่อพิจารณา

นับตั้งแต่วันที่ที่ สธ. ทำหนังสือถึง เลขาธิการ ก.พ. จนถึงขณะนี้ เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบกลับใดๆ

ประเด็นต่อมา การขอบรรจุข้าราชการโควิด

ย้อนกลับไปเมื่อสองปีก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 และ ครม.ปกติ ในวันที่ 7 เม.ย. 2563 มีมติอนุมัติและเห็นชอบในหลักการ ให้บรรจุข้าราชการจากนักศึกษาที่จบในปี 2563 จำนวน 4 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา

2

แบ่งเป็น สายงานแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข

อย่างไรก็ดีพบว่า สายงานแพทย์และทันตแพทย์ จำนวน 3,142 อัตรา มีการบรรจุมาตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 3,790 อัตรา มีการทยอยคัดเลือกบรรจุ

ฉะนั้นจึงเหลือเพียง บุคคลในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข จำนวน 647 อัตรา ที่ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด แม้ว่าจะผ่านมาแล้วสองปีก็ตาม

นอกจากนี้ จากมติเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ของ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 จำนวน 63 สายงาน รวม 37,144 คน ซึ่ง สธ. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ก.พ. ว่า ขอรับการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่

จนถึงตอนนี้ เรื่องก็ยังเงียบอยู่สายลม ไม่มีการนำเสนอหรือชงให้ ครม. พิจารณาแต่อย่างใด

ประเด็นสุดท้าย การเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 ที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น กรณีพิเศษ ในสังกัด สธ. และต่อมา สธ. ก็ได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการ ก.พ. ว่าขอหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว

แต่จนแล้วจนเล่า สำนักงาน ก.พ. ก็ยังไม่ได้เสนอเรื่องต่อให้ ครม. พิจารณา เรื่องนี้จึงยังค้างเติ่งอยู่ไม่น้อยกว่า 7 เดือน

ในมุมมองของ “สภาการสาธารณสุขชุมชน” แล้ว ทั้งสามประเด็นใหญ่ข้างต้นถือเป็นยืนยันถึงการรับรองการงานและความก้าวหน้า มีสิทธิ สวัสดิการ และค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นความมั่นคงบนฐานของวิชาชีพ

ฉะนั้น การดำเนินการที่ล่าช้า อาจเกิดความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ทั้งต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน จากผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุชชุมชน และสหวิชาชีพอื่นๆ

มากไปกว่านั้น ยังไม่สอดคล้องกับหลักการการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือน ต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า

3

แน่นอน แม้ว่าทั้งหมดนี้จะยังไม่มีความชัดเจนจาก ก.พ. ว่าจะอนุมัติเมื่อใด แต่ก็อย่างที่กล่าวในข้างต้น ทุกอย่างกำลังผลิดอกออกผล สู่ความหวังที่บุคลากรสาธารณสุขต่างรอคอยมาเนิ่นนาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการ กมธ.สาธารณสุข ส.ส. ได้ทำหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปลัด สธ., เลขาธิการ ก.พ., ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน, เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ฯลฯ อีกครั้ง เพื่อเชิญให้เข้าร่วมประชุม กมธ.สาธารณสุข ส.ส. ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ย. 2565

โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาความก้าวหน้าเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งใหม่นักสาธารณสุข เป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ การรับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และการเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ในสังกัด สธ. ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

เชื่อว่าจากการประชุม กมธ.สาธารณสุข ส.ส. นัดนี้ จะได้ความชัดเจนถึงทิศทาง และได้ทราบคำตอบว่า เหตุใดเรื่องถึงยังค้างคาไม่ไปไหนสักที

อย่างไรก็ดี หากภายในวันที่ 1 ก.ย. 2565 ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เชื่อเหลือเกินว่าเราจะได้เห็นการแสดงพลังครั้งใหญ่

นั่นเพราะ ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พร้อมด้วยบุคลากร 63 สายงานที่รอบรรจุ รวมถึงเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่รอปรับสู่แท่งวิชาการจากทั่วประเทศ ได้ประกาศจุดยืนแล้วว่า

ถ้า 1 ก.ย. 2565 ไม่ได้ตามที่หวัง จะยกพลมาทวงถามความคืบหน้าภายใน ต.ค. 2565 อย่างแน่นอน

4

เกร็ดความรู้ : อ.ก.พ. คืออะไร !!?

คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สาธารณสุข) ประกอบด้วย รมต.เจ้าสังกัด เป็นประธาน ปลัดกระทรวง เป็นรองประธาน และมีผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ. หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีอนุกรรมการ ซึ่งเป็นอำนาจของประธาน อ.ก.พ. แต่งตั้ง โดยจะมาจาก 1. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และมิได้เป็นข้าราชการในกระทรวงนั้น จำนวนไม่เกิน 3 คน

2. ข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในกระทรวงนั้น ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวนไม่เกิน 5 คน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.พ. กระทรวง มีด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1. พิจารณากำหนดนโยบาย ระบบ และระเบียบวิธีการบริหารทรัพยากรบุคคลในกระทรวงซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานที่ ก.พ. กำหนด 2. พิจารณาการเกลี่ยอัตรากำลังระหว่างส่วนราชการต่างๆ ภายในกระทรวง

3. พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและการสั่งให้ออกจากราชการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 4. ปฏิบัติการอื่นตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ และช่วย ก.พ. ปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ตามที่ ก.พ. มอบหมาย