ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มลูกจ้าง-พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค ตบเท้ายื่นหนังสือติดตามความ ‘การขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน – สวัสดิการ’ ต่อ กมธ.การสาธารณสุข โดย รอง ปธ.กมธ.การสาธารณสุขรับปาก ‘ช่วยผลักดัน-นำเรื่องเข้าวาระประชุม’


น.ส.อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ผู้ประสานงานกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า วันนี้ (20 ก.พ. 2567) ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.การสาธารณสุข) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามการขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน และสวัสดิการของลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ใน 6 ประเด็นสำคัญ โดยมี น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ รองประธาน กมธ.การสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมกับรับปากว่าจะช่วยผลักดันและจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นวาระในการประชุม

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขฯ ได้มีการยื่นหนังสือติดตามในลักษณะเดียวกันต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทำให้ตัดสินใจว่าต้องเข้ายื่นหนังสือต่อ กมธ.การสาธารณสุข ด้วย เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากค่าจ้าง และสวัสดิการที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานและการดำรงชีพภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งหลังจากการยื่นหนังสือในครั้งนี้ก็จะมีการติดตามต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าหรือไม่อย่างไร 

“การยื่นหนังสือในวันนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี ส่วนในวันนี้นอกเหนือจากการยื่นหนังสือติดตามแล้ว ก็ได้ขอความเป็นธรรมด้วย โดยเรื่องหลักๆ ที่อยากได้การปรับเพิ่มฐานเงินเดือน 3,000 บาท เพราะพวกเราอายุงาน 20 กว่าปีเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เราอยู่ไม่ได้ในเศรษฐกิจแบบนี้ ตรงนี้ก็ขอเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย รวมถึงปรับการประเมินเรื่องเงินประจำปี ปีละ 2 ครั้งแต่ละครั้งไม่เกิน 2.5%” น.ส.อภิสราธรณ์ ระบุ

ด้าน น.ส.กัลยพัชร กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขฯ หลักๆ คือการได้รับค่าแรงที่น้อย หรือการขึ้นค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมซึ่งไม่สอดคล้องกับภาระงาน รวมถึงสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่บางคนมีอายุงาน 28 ปี จนใกล้เกษียณ แต่ได้รับเงินเดือนเพียง 1.4 หมื่นบาท ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่น่ากังวล และเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการบรรจุข้าราชการของ สธ. ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.การสาธารณสุข เคยได้คุยกันเอาไว้ว่าอยากจะแยก สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ด้วย แม้รู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องเริ่มต้น

“สำหรับการเข้ายื่นหนังสือในวันนี้ทาง กรรมาธิการการสาธารณสุข ก็ขอรับเรื่องนี้เข้าเป็นวาระ เพราะเราเชื่อว่าในระบบสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงแค่แพทย์ และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีองคาพยพที่เราจะต้องพาไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” น.ส.กัลยพัชร กล่าว