ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อปีใหม่มาบรรจบ นอกเหนือจากการแลกของขวัญ หรือเอ่ยคำกล่าวต้อนรับการเริ่มต้นศักราชใหม่ อีกเรื่องหนึ่งที่คนทำงานต้องนึกถึงก็คือการ ‘เสียภาษี’

ประชาชนผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์จะต้องกางที่มาที่ไปรายรับรายจ่าย หรืออื่นๆ ให้กับสรรพากรอย่างตรงไปตรงมาในทุกอาชีพ แน่นอนว่า ‘แพทย์’ ก็ไม่สามารถอยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ไปได้

ทว่า มีเรื่องที่ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจ่ายภาษีของแพทย์ เนื่องจากพบว่า ‘แพทย์โรงพยาบาลรัฐ’ กับ ‘แพทย์โรงพยาบาลเอกชน’ บางแห่ง แม้ว่าจะมีรายได้ที่เท่ากัน แต่กลับถูกคิดภาษีที่ต่างกัน

สาเหตุก็คือ การลงรายละเอียดในหมวดของรายได้ที่ไม่เหมือนกัน หรือใช้คนละมาตรา

นั่นทำให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐบางคนต้องจ่ายภาษีในอัตรา “ที่สูงกว่า” แพทย์โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แม้เทียบแล้วจะมีรายได้เท่ากันก็ตาม 

4

สำหรับที่มาของรายได้ของแพทย์จากเว็บไซต์ Settrade โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงินจะพบว่ามีอยู่ด้วยกันหลักๆ 4 ประเภท จากเงินได้ทั้งหมด 8 ประเภท ประกอบด้วย

1. เงินที่ได้จากสัญญาจ้างแรงงาน (เงินได้ประเภทที่ 1) โดยจะเป็นเงินที่แพทย์ได้รับจากโรงพยาบาลที่ทำงานประจำ ถือได้ว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) หมายรวมทั้งเงินเดือน เงินที่ได้จากการขึ้นเวร ค่าทำงานล่วงเวลา (OT) เป็นต้น ซึ่งในการลดหย่อนแพทย์สามารถนำเงินได้ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

2. เงินได้ไม่ประจำ (เงินได้ประเภทที่ 2) เป็นส่วนที่แพทย์ได้รับจากการทำงานพิเศษ เช่น การเข้าเวรในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประจำ และรายได้จากเงิน หรือตำแหน่งพิเศษ ซึ่งส่วนนี้จะถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) โดยแพทย์สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่หักจากเงินได้ประเภทแรกที่กล่าวไปข้างต้น 

3. เงินได้จากคลินิก หรือสถานพยาบาลประเภทไม่มีเตียง (เงินได้ประเภทที่ 6) ส่วนนี้จะถือเป็นเงินได้ตามาตรา 40(6) โดยแพทย์จะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี ได้แก่ 1. หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 

สุดท้าย 4. เงินได้จากการเปิดสถานพยาบาลมีเตียง หรือมียาในคลินิก (เงินได้ประเภทที่ 8) ตรงนี้จะถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40(8) และสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี เช่นเดียวกับข้อที่ 3 นั่นเอง

จากประเด็นความเห็นดังกล่าวที่เอ่ยข้างต้นปรากฎเป็นการเปรียบเทียบออกมา โดยระบุว่าแม้เงินเดือนเท่ากัน แต่การจ่ายภาษีระหว่างแพทย์โรงพยาบาลรัฐ และเอกชนบางแห่งนั้นไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากการรับเงินคนละมาตรา ได้แก่ แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐเป็นเงินได้ตามาตรา 40(1) และ 40(2) ขณะที่ฝั่งเอกชนบางแห่งจะเป็นเงินได้ตามาตรา 40(6) 

นั่นอาจทำให้มีส่วนต่างกันมากถึง 1.5-3 แสนบาท จากอัตราการลดหย่อน หรือการคำนวณที่แตกต่างกันตามกฎหมายอีกด้วย

ส่วนนี้จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เมื่อมีการคำนวณลักษณะนี้จะถือเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่ ? เพราะมองว่าแพทย์โรงพยาบาลรัฐมีรายได้น้อยกว่าหรือเท่ากัน แต่เมื่อคำนวนแล้วกลับต้องเสียภาษีมากกว่าเมื่อเทียบกับเอกชน

4

ทว่าการตั้งคำถามเรื่องการจ่ายภาษีที่ไม่เท่ากัน ไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด เพราะย้อนกลับไปในปี 2561 หรือในปี 2018 ก็เกิดเป็นกระทู้ที่ตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันว่า ทำไม แพทย์ รพ.เอกชนเสียภาษีน้อยกว่า แพทย์ รพ.รัฐ มาแล้ว และได้รับความสนใจจนมีผู้อ่านกระทู้ถึงกว่า 5 พันครั้ง

เรื่องดังกล่าวก็มีผู้อธิบายเอาไว้ว่า สำหรับแพทย์ที่รับราชการอย่างเดียวนั้น มีรายได้หลักๆ มาจากเงินเดือนประจำจากภาครัฐ ถือเป็นรายได้แน่นอน นั่นจึงอยู่ในมาตรา 40(1) และเงินจากการอยู่เวรในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับความถี่ของการอยู่เวร ฉะนั้นในส่วนนี้จึงอยู่ในมาตรา 40(2) 

สำหรับแพทย์รับราชการโรงพยาบาลรัฐ และใช้เวลาส่วนตัวรับงานที่โรงพยาบาลเอกชน รายได้จะมาจากการเงินเดือนประจำที่เป็นรายได้แน่นอน รายได้จากการอยู่เวรของภาครัฐ และรายได้ที่รับดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งส่วนนี้อยู่ในมาตรา 40(6) และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี ได้แก่ หักตามจริง (ต้องแสดงหลักฐาน) หรือหักแบบเหมาจ่าย 60% 

ขณะที่แพทย์ที่อยู่ภาคเอกชน ประเภทโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีรายได้จากการไปรับดูผู้ป่วยโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แน่นอน อยู่ในมาตรา 40(6) และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธีเช่นกันคือ หักตามจริงและต้องแนบหลักฐาน หรือหักแบบเหมาจ่าย 60% 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแพทย์ที่อยู่ในภาคเอกชนในโรงพยาบาลบางแห่งจะได้รับใบสำคัญการจ่ายเงินรายได้ให้แพทย์ตามจริงทั้งหมด ฉะนั้นแพทย์จึงต้องใช้ยอดนี้เพื่อการคำนวณภาษี ทำให้การเลี่ยงภาษีเป็นไปได้ยากด้วยเช่นกัน

แม้ว่านี่จะเป็นเรื่องของ ‘ระบบ’ และ ‘กฎเกณฑ์’ หากแต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้มีผลต่อการบ่อนเซาะกำลังใจของแพทย์รัฐ ที่นับวันจะหลุดออกไปจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ