ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอธีระ' เผย ต่ออายุราชการหมอเกษียณเป็นเรื่องดี แต่ต้องเกลี่ยหมอไปพื้นที่ขาดแคลนจริงๆ ชี้แนวทางนี้อาจแก้ปัญหาขาดแคลนได้แค่ชั่วคราว แนะ สธ. เปิดช่องรับ นักเรียนแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเอกชนทำงานในภาครัฐ อย่าติดกับแค่การใช้ทุน 


จากกรณีที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการ สธ. และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่  1 – 12 เรื่องการดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง นายแพทย์ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ในสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาประสาทศัลยศาสตร์ และสาขาความขาดแคลนตามบริบทของพื้นที่ ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อได้ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการนั้น

ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ยังถือว่าขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อยู่ โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการแพทย์อีกด้วย การต่ออายุราชการแพทย์เกษียณอายุราชการเพื่อให้ทำงานต่อในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนจึงเป็นแนวทางที่ดี แต่หากเป็นพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความเจริญ ซึ่งมีจำนวนแพทย์ที่เพียงพอ การไปต่ออายุราชการอาจมีคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนแพทย์อยู่แล้ว หากไม่มีแพทย์ประสงค์ต่ออายุราชการ ก็อาจมีปัญหาต่อระบบสาธารณสุข 

ดังนั้น หากจะต่ออายุราชการแพทย์ ก็ควรต้องมีการพิจารณากระจายแพทย์ที่ต่ออายุไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน หรือมีโอกาสให้แพทย์ที่ต้องการต่ออายุราชการ ได้เลือกพื้นที่ที่ต้องการไปทำงานต่อ ซึ่งจะเป็นการเกลี่ยทรัพยากรบุคคลไปยังพื้นที่ที่จำเป็นอย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

นอกจากนี้ การต่ออายุราชการเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้แพทย์ใกล้เกษียณอยู่ในระบบต่อไป แต่ สธ. อาจต้องดูแลในเรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความพร้อม และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี ซึ่งจะทำให้แพทย์มีความสบายใจในการทำงาน 

"ต่อให้เพิ่มกำลังแพทย์ในระบบ หรือให้คงอยู่ ไม่ให้ออกไปทำงานภาคเอกชน แต่หากรัฐบาล และ สธ. วางนโยบายไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งระบบที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์ ต่อให้มีนโยบายเพิ่มคนเท่าไหร่ ก็อาจมีปัญหาทำให้คนไหลออกเหมือนเดิม" รศ.นพ.ธีระ ระบุ

รศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า ในส่วนสมรรถภาพทางร่างกายของแพทย์ใกล้เกษียณ ถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันหากจะต้องต่ออายุราชการ ซึ่งต้องคำนึงถึงลักษณะงานที่แพทย์เกษียณทำได้ด้วย เช่น งานบางอย่างอาจต้องใช้ประสบการณ์มาใช้ประโยชน์ โดยอาจให้บทบาทเป็นพี่เลี้ยง หรือโค้ชให้กับแพทย์รุ่นน้อง แต่หากเน้นใช้แรงงานอาจไม่เหมาะสมกับช่วงอายุ โดยเฉพาะแพทย์สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ที่เป็นงานผ่าตัดที่หนัก การรักษาบางกรณีอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง อีกทั้งหากให้ไปทำงานเหมือนกับแพทย์ปกติ และต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการ ก็อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของแพทย์ที่เกษียณด้วย  

"สธ. ที่ต่ออายุราชการแพทย์เกษียณ อาจต้องกำหนดไกด์ไลน์ขอบเขตการทำงานที่เหมาะสมแต่ละช่วงอายุให้ชัดเจน เพื่อให้แพทย์เกษียณได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับอายุ เช่น อาจเป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการแนะนำแพทย์ หรืองานหัตถการที่ไม่หนักเกินไป เป็นต้น ซึ่งในด้านหนึ่งระบบสาธารณสุขจะได้ประโยชน์จากการต่ออายุราชการ แต่อีกด้าน สธ. ก็ต้องดูแลแพทย์เกษียณเหล่านี้อย่างเหมาะสมด้วย" รศ.นพ.ธีระ กล่าว 

รศ.นพ.ธีระ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายการต่ออายุราชการแพทย์เกษียณมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการขาคแคลนแพทย์ได้ แต่ก็เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และการจะแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมด สธ. อาจต้องพิจารณาถึงต้นเหตุ โดยเฉพาะการพิจารณาจ้างงานนิสิตนักศึกษาแพทย์จบใหม่เข้าสู่ระบบ ซึ่งที่ผ่านมา สธ. ยังติดอยู่กับโรงเรียนแพทย์ของภาครัฐที่ต้องรับนักศึกษาแพทย์เพื่อให้ใช้ทุน แต่ปัจจุบัน โรงเรียนแพทย์ภาคเอกชนหลายแห่งก็ผลิตนักศึกษาแพทย์ ซึ่ง สธ. อาจพิจารณารับแพทย์กลุ่มนี้เข้าสู่ระบบมากขึ้น 

"สธ. อาจต้องพิจารณาการจ้างงานแพทย์ในระบบสาธารณสุขที่หลากหลาย และยืดหยุ่น เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ที่จบจากโรงเรียนแพทย์เอกชนเข้ามาทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ และควบคู่ไปกับการพิจารณาสวัสดิภาพ สวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดอย่างเหมาะสม และตรงกับความต้องการ ซึ่งอาจช่วยให้แพทย์อยู่ในระบบมากขึ้น" รศ.นพ.ธีระ กล่าวทิ้งท้าย