ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรุ่งเรือง” ระบุ ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน เพราะเป็นความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ ไม่ใช่หน้าที่ขอใครคนหนึ่ง ชี้ ความต้องการบริการ-ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น-การทำงานแยกหน่วยงานยังเป็นความท้าทาย ขณะที่การผลิตแพทย์เพิ่มอาจทำให้เดินหลงทาง แนะโรงพยาบาลปรับระบบนิเวศ-เพิ่มบุคลากรเชิงคุณภาพ


นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิระดับ 11) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผ่านเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวต่อไปในหลักประกันสุขภาพของ ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร?” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไม่ใช่แค่เรื่องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะเป็นความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ 

ทั้งนี้ สำหรับความท้าทายของระบบบัตรทองในตอนนี้คือความต้องการในระบบบริการสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของสิทธิประโยชน์ที่อยากเพิ่ม แต่ไม่มีสิ่งที่อยากลด รวมทั้งการกระจายบริการ บุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่อาจยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาอาจเดินหลงทาง เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง 

4

“พูดในฐานะประชาชน ผู้ให้บริการ และผู้บริหาร สธ. เมื่อดูที่โรงพยาบาลไม่ใช่หมอไม่พอ เมื่อหารเฉลี่ยจำนวนหมอและผู้ป่วยนอก (OPD) ต่อวันแล้วไม่ได้มาก ไม่มีห้องตรวจ หรือห้องผ่าตัด ฉะนั้นโรงพยาบาลต้องปรับระบบนิเวศ และปรับตัวใหม่เป็นการเพิ่มบุคลากรในเชิงคุณภาพ” นพ.รุ่งเรือง ระบุ 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งความท้าทายคือค่าใช้จ่ายสุขภาพที่สูงขึ้น ขณะที่งบประมาณของรัฐมีจำกัด ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่จะต้องตระหนัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกปี และอาจจะเกิดโรคระบาดใหญ่อีกครั้ง หรือมีมิติที่ทำให้เกิดภัยสุขภาพ ซึ่งมองว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ส่วนระบบสาธารณสุขจะสนับสนุนส่งเสริมในภาพใหญ่สำหรับประเทศไทยที่จะขับเคลื่อน 5.0 แต่แม้ระบบดิจิทัลเฮลท์จะเข้ามามีส่วนช่วยในระบบได้มาก แต่ก็ยังต้องระวังเรื่องการจัดการข้อมูล 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาถึงจะมีการให้บริการดูแลรักษาสุขภาพในพื้นที่ห่างไกลจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีพื้นที่พิเศษที่เป็นบริบทใหม่เกิดขึ้นอีก รวมไปถึงความครอบคลุมในกลุ่มแรงงานอื่นๆ ซึ่งระบบสุขภาพปฐมภูมิจะเป็นคำตอบที่สำคัญ เนื่องจาก 95% ของระบบสุขภาพเป็นการแพทย์ปฐมภูมิ รวมถึงเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะระบบบัตรทองสำหรับการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่อาจจะเกิดสถานการณ์วิกฤติเพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักในอนาคต 

5

มากไปกว่านั้น ข้อจำกัดในการปรับทิศทางของประเทศก็ยังมีปัญหา เพราะยังทำงานแบบต่างคนต่างทำ และขาดการมีส่วนร่วม ทว่า ก็รู้สึกดีใจที่มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่ดูเชิงนโยบายภาพใหญ่ แต่ความท้าทายคือจะขับเคลื่อนในทิศทางที่ยังเป็นช่องว่าง เช่น การทำงานต่างหน่วยงาน หรือกระทรวงได้หรือไม่ 

นพ.รุ่งเรือง ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดขณะนี้ คือระบบบัตรทองของไทยครอบคลุมในหลายมิติแล้วหรือไม่ เช่น การทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และมีความเป็นเจ้าของสุขภาพโดยมีระบบสุขภาพให้คำปรึกษา รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศวิทยา เพราะหากจะจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) แค่การให้ความรู้ประชาชนต่อไปก็อาจจะไม่สำเร็จ ถ้าไม่จัดการมิติอื่นร่วมด้วย ฉะนั้นจึงเน้นย้ำเรื่องความท้าทายของความครอบคลุมเชิงมิติ ที่อาจจะต้องมองกว้างออกไป