ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.สุรพงษ์” สรุปความท้าทายระบบหลักประกันสุขภาพ ระบุ การเมืองมีผลต่อการพัฒนาระบบบัตรทอง เร่งพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการที่มากขึ้น ชี้ การเชื่อมข้อมูลไม่ควรทำแค่เรื่องสุขภาพ แต่ควรรวมระบบการเงินด้วย พร้อมแนะ ควรพิจารณาตั้งองค์การมหาชนอย่างจริงจัง หลัง 20 ปีที่ผ่านมามีแค่ที่เดียว


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยผ่านเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวต่อไปในหลักประกันสุขภาพของ ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร?” อันเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า ความท้าทายในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ส่วนหนึ่งคือเรื่องของการเมือง

เนื่องจากการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สามารถพัฒนาระบบบัตรทองควบคู่ไปกับบริบทนั้นๆ หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคการเมืองชุดไหน แต่หากมีความเป็นประชาธิปไตย และมีระบบสภาผู้แทนราษฎรที่ยึดประโยชน์ของประชาชน การพัฒนาจะเกิดขึ้นตามวิสัยทัศน์ของผู้นำขณะนั้น โดยไม่มีการสะดุดอย่างแน่นอน

1

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เข้ามารองรับการขยายบริการประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะต้องมีการวางแผนอย่างจริงจัง และกระจายอย่างเท่าเทียม เนื่องจากขณะนี้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังถือว่าเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งเกิดจากการอยู่เวรจนกลายเป็นภาระงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการลาออกจากราชการ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งยังเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 ตอนเริ่มมีระบบบัตรทองแล้ว ทว่า ปัจจุบันอาจจะหนักขึ้นในบางวิชาชีพ กระนั้นก็ยังไม่เคยได้รับการแก้ไข

“ในปี 2544 ที่เริ่มต้นให้งบประมาณรายหัว มุ่งหวังให้เกิดการกระจายคนอย่างเหมาะสม ที่ไหนที่มีภาระงานเยอะ คนก็จะไปที่นั่น ส่วนที่มีภาระงานน้อยคนก็จะถูกกระจายออกไป แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะขณะนั้นใช้มาตรการชั่วคราว คือการเอาเงินเดือนบุคลากรมาอยู่ตรงกลาง และที่เหลือค่อยจัดสรรเป็นงบประมาณรายหัว ผ่านมาถึงวันนี้มาตรการชั่วคราวก็ 22 ปีแล้ว เมื่อไหร่มาตรการชั่วคราวจะกลับไปสู่ความเป็นจริงซักทีหนึ่ง ก็คือว่าการสะท้อนในแง่ของบุคลากรที่เหมาะสมในแต่ละที่” นพ.สุรพงษ์ ระบุ 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า มากไปกว่านั้น ในช่วงปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีระบบบัตรทอง ขณะนั้นมีการใช้คำว่าใกล้บ้านใกล้ใจ แต่ก็ยังพบว่าแม้จะใกล้บ้าน (หน่วยบริการ) แต่ยังไม่ใกล้ใจจริง เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่รู้สึกได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ แต่สิ่งนี้กำลังจะได้รับการแก้ไขจากนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกสถานพยาบาลในการรักษาได้ เช่น โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ โดยการเกิดขึ้นของนโยบายนี้ไม่ใช่เพื่อหาเสียง หรือเรียกร้องความนิยมจากประชาชน แต่เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

4

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเมื่อประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน รวมถึงส่งผลกระทบต่องบประมาณอย่างไร หรือใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ซึ่งก็ได้มีการตั้งเป้าว่าจะไม่เกิน 20% จากงบประมาณเดิม 

ขณะเดียวกันหนึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือการเชื่อมระบบข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพ แต่ยังรวมถึงระบบการเงินการคลังเพื่อเรียนรู้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ เพราะหากใช้เอาแค่ข้อมูลสุขภาพ จะทำให้เรียนรู้ได้แค่ปัญหาสุขภาพเท่านั้น 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจากหากมีการเชื่อมระบบข้อมูล การดูแลผู้ป่วยที่ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยระยะท้ายนั้น ก็จะสามารถรู้ได้ว่ามีจำนวนกี่รายที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือมีพฤติกรรมใดที่เป็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรือป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ หากพิสูจน์แล้วว่าช่วยให้มะเร็งลดลงได้ก็เป็นสิ่งที่ควรรีบทำ ส่วนเรื่องการดูแลผู้ป่วยระท้าย เรื่องสถานชีวาภิบาล หรือการจากไปอย่างสงบ เป็นเรื่องที่จะต้องพูดถึงอย่างจริงจัง 

5

นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีเป็นอีกความท้าทายว่าในอนาคตจะใช้อย่างไรให้เกิดความคุ้มค่า รวมถึงความท้าทายในเรื่องการเปลี่ยนการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขทั้งระบบ สิ่งที่ทำควบคู่กันมาตั้งแต่เริ่มมีบัตรทอง คือการตั้งองค์การมหาชน ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมา มีเพียงโรงพยาบาลบ้านแพ้วแห่งเดียวเท่านั้นจึงทำให้เกิดคำถามว่ามีการประเมินองค์การมหาชนอย่างจริงจังหรือยัง

อย่างไรก็ดี ก็ได้มีการเสนอไปยัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) แล้วว่าให้ใช้โรงพยาบาลสร้างใหม่ในเขตดอนเมือง ซึ่งเกิดจากนโยบายที่กำลังจะตั้งโรงพยาบาลในเขตเมือง เช่น การตั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เป็นองค์การมหาชน เพื่อทดลองระบบอย่างจริงจังว่าดีหรือไม่ 

“ตัวอย่างในประเทศอื่น ไม่มีประเทศไหนที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าของโรงพยาบาลทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็น โรงพยาบาลเมือง โรงพยาบาลของท้องถิ่น วันนี้จึงคิดว่า ต้องมีการพิจารณาองค์การมหาชนอย่างจริงจัง” นพ.สุรพงษ์ กล่าว