ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ที่ผ่านมาประชาชน (สิทธิบัตรทอง) ต้องใช้สิทธิสุขภาพด้วยความอดทนอย่างมาก … แต่จากนี้จะไม่ต้องอดทนอีกแล้ว”

ย้อนไปเมื่อราว 20 ปีก่อน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ คือหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค’ ในประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมร้อย ‘หมอหงวน’ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เข้ากับ “พรรคไทยรักไทย” จนนโยบายได้รับการขานรับและก่อกำเนิดเป็นรูปธรรม

จนที่สุดแล้ว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสุขภาพ และสังคมไทยไปตลอดกาล จากการสร้างหลักประกันทางสุขภาพให้กับประชาชนที่ไม่มีหลักประกันใดในชีวิต ได้เข้าถึง “การดูแลรักษาพยาบาล” ซึ่งทำให้ ไม่ต้อง “ล้มละลายจากความเจ็บป่วย” 

มาวันนี้ พุทธศักราช 2566 ที่พรรคเพื่อไทยได้ (ไทยรักไทยในอดีต) ขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งในรอบ 8 ปี โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นพ.สุรพงษ์ คนเดียวกันนี้ ดำรงตำแหน่งสำคัญในบทบาทเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

ที่สำคัญ คือ การเสนอแนวคิดการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ครั้งใหม่ ที่เขาบอกกับ “The Coverage” ว่าเป็นการ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” ระบบบริการสุขภาพของประเทศใหม่ในรอบ 2 ทศวรรษ 

นั่นก็คือ โครงการ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท กว่า 47 ล้านคนได้เข้าบริการรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือเอกชน สังกัดกองทัพ (กระทรวงกลาโหม) หรือมหาวิทยาลัย (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี) 

สิ่งนี้ยังถือโปรเจกต์ใหญ่ และเรือธงของรัฐบาลที่กำลังเร่งขับเคลื่อนในตอนนี้ โดยมีการตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ หรือในชื่อคุ้นหูที่คนเรียกกันว่า ‘ซูเปอร์บอร์ด’ ซึ่งแม้แต่ นพ.สุรพงษ์ เองก็ใช้คำนี้เช่นกันตลอดการพูดคุย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดขึ้น

อีกทั้งยังอยู่ใน Quick win 100 วันแรก ของนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้เริ่มคิกออฟนำร่องไปแล้วใน 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ และนราธิวาส เรียบร้อยแล้วด้วยเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 

เพื่อเข้าใจเบื้องลึกถึงแนวคิด และภาพฝันปลายทางแห่งความสำเร็จของโครงการ รวมถึงความจำเป็นของคำว่า ‘ทุกที่’ สำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท ตลอดจน ‘งบประมาณ’ มีเพียงพอหรือไม่ ขอพาทุกท่านร่วมเดินทางไปบนถ้อยสนทนานับจากนี้กับ “นพ.สุรพงษ์” 

1

จากทุกโรคสู่ ทุกที่

นพ.สุรพงษ์ เริ่มให้ภาพสั้นๆ ถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 22 ปีก่อน ที่พรรคไทยรักไทยผลักดันว่า ในตอนนั้นถือเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่ของระบบบริการสุขภาพในประเทศ โดยเฉพาะปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณ จนทำให้เกิดระบบสุขภาพที่รัฐบาลให้เงินกับโรงพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว ตามจำนวนประชาชนที่ไปรับบริการรักษาพยาบาล โดยให้ประชาชนจ่ายเพิ่ม 30 บาท โรงพยาบาลก็จะได้รับงบประมาณจากรัฐ และประชาชนที่มารับบริการไปบริหารจัดการโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น 

เขา บอกต่อไปว่า กระทั่งพอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ การพัฒนาแบบเดิมก็มาถึงจุดที่ ‘ไปต่อไม่ได้’ แล้ว ขณะที่ตัวระบบบริการสุขภาพก็มี Pain point สำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หายขาดอย่าง ‘ความแออัดในโรงพยาบาล’ คำถามคือ หากจะพัฒนาต่อ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ภายใต้บริบทปัจจุบันที่มีระบบนิเวศใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระบบสุขภาพเข้าด้วยกันได้ จะยังทำแบบเดิมอยู่อีกหรือเปล่า 

เนื่องจากแนวคิดการจัดระบบบริการสุขภาพเมื่อตอนให้กำเนิด 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ตอบโจทย์ได้ถูกต้อง ณ เวลานั้น แต่มาปัจจุบันในปี 2566 อาจไม่ถูกต้องแล้ว และต้องไปสู่การสร้างระบบให้ประชาชนไปรักษาพยาบาลที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีข้อกังวลว่าการรักษาจะสะดุด เหมือนกับแนวคิดของ ‘บริษัทประกันสุขภาพ’

“ในปี 2544 เราจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยียังไปไม่ถึง ตอนนั้นผมได้คุยกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ แพทย์ผู้บุกเบิกและผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีภาพฝันร่วมกันว่า อยากตื่นเช้ามาแล้วเรารู้ข้อมูลได้เลยว่าเมื่อวาน มีประชาชนไปใช้บริการสุขภาพทั่วประเทศจำนวนกี่คน มีโรคอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายต่อคนเท่าไหร่ มันเป็นภาพฝันที่ฟุ้งมากเมื่อกว่า 22 ปีก่อน เพราะมันทำไม่ได้ในตอนนั้น เราไม่มีระบบคลาวด์ เราไม่มีสมาร์ทโฟน ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในจินตนาการ

“ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น ระบบต่างๆ ที่เคยฝันกันไว้ ที่เคยฟุ้งก็เป็นจริงได้แล้ว ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมต้องทำแบบเดิม ที่รัฐบาลซื้อประกันสุขภาพให้กับประชาชน โดยให้โรงพยาบาลทำหน้าที่นายประกันสุขภาพขนาดเล็ก มีการกระจายไปทุกอำเภอ ถึงเวลาประชาชนก็ไปใช้บริการ แต่ถ้าจะไปโรงพยาบาลอื่น ก็ต้องใช้ใบส่งตัว หรือไม่มีก็ต้องจ่ายเงินเอง เป็นระบบที่เคยออกแบบเอาไว้เมื่อ 22 ปีก่อน ที่มีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี” นพ.สุรพงษ์ ย้อนความทรงจำให้เห็นบริบทที่แตกต่าง 

นอกจากนี้ในแนวคิดการให้บริการบัตรทอง 30 บาทเดิม คือ หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ แต่ที่เป็นอยู่อาจไม่ใกล้ใจจริงๆ เพราะประชาชนก็มารอรับบริการทั้งวัน เช้ารอตรวจได้รักษา เที่ยงไปกินข้าว บ่ายมารอรับยา แล้วถึงได้กลับบ้าน 

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยบริการที่เป็นเครือข่ายก็มีการพัฒนามาตลอด เช่น เกิดเป็นคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ มีร้านยาชุมชนที่มีเภสัชกรเป็นเจ้าของและให้บริการเพิ่มขึ้น มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ให้บริการตรวจแล็บ เจาะเลือดได้อย่างมีมาตรฐาน รวมถึงมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 

“ก่อนหน้านี้มีความพยายามจะทำกัน แต่มีข้อจำกัดที่ไปได้แค่โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ขณะที่สังกัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยก็ไปไม่ได้ หรือไปตรวจเบื้องต้นที่ร้านขายยาไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดที่สำคัญมาก นั่นคือ การเชื่อมระบบฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน” นพ.สุรพงษ์ อธิบาย

เหล่านี้เอง นำมาสู่การรื้อระบบเพื่อยกระดับบัตรทอง 30 บาท ครั้งใหญ่ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีหัวใจหลัก คือ การเชื่อมระบบข้อมูลสุขภาพ ของคนไทยเข้าด้วยกัน 

นพ.สุรพงษ์ ขยายความต่อไปว่า ที่ผ่านมาจริงๆ โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็พยายามจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยเอาไว้ แต่ก็เป็นแบบ ‘ของใครของมัน’ การเชื่อมโยงหรือแบ่งปันข้อมูลไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเพราะไม่มีระบบ หรือเทคโนโลยีกลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกันให้

รวมถึงข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลสุขภาพของประชาชน เจ้าของก็คือประชาชนที่ไปใช้บริการ ดังนั้น ประชาชนก็ควรมีสิทธิที่จะมอบข้อมูลให้กับใครที่ไว้ใจได้ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลทางสุขภาพสำหรับให้การรักษาพยาบาลมีความต่อเนื่อง 

“ตอนนี้คณะทำงานด้านข้อมูล เรารื้อข้อมูลและรวบรวมย้อนหลังได้ไกลสุดถึง 6 ปีแล้ว และกำลังจะสืบค้นลงไปให้ลึกอีก เพื่อจัดการข้อมูลเหล่านี้เป็นระบบเดียวกัน และให้โรงพยาบาลเข้าถึงได้เหมือนกัน เพื่อให้นโยบายการใช้บัตรประชานใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทำได้จริง และไร้ข้อจำกัดจริงๆ” เขา ระบุ

โฉมหน้าใหม่ของการรับบริการ

สำหรับการนำร่อง ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ ใน 4 จังหวัด นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายการให้บริการเรียบร้อยแล้ว โดยรูปแบบการให้บริการจะมีขั้นตอน ดังนี้ 1. ประชาชนเสียบบัตรประชาชนที่เครื่องอ่านและจัดเก็บข้อมูล 2. บุคลากรทางการแพทย์เสียบบัตรประชาชนตัวเองเพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย 3. ให้การรักษาที่ต่อเนื่องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมาสอบถามประวัติการรักษา และ 4. เมื่อรักษาเสร็จ หากรอรับยาคิวยาว ก็ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้เลย

ในส่วนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่าง โรคเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ที่ต้องควบคุมอาการ และหากมีการคุมได้ดี มีการกินยาและดูแลตัวเองตามแพทย์สั่ง ก็ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อตรวจอาการทุกเดือน อาจจะนัด 1 ปีต่อครั้งก็ได้ โดยแต่ละเดือนให้ไปตรวจวัดสุขภาพที่ร้านยา พร้อมกับรับยาต่อเนื่องที่ร้านยาใกล้บ้านได้ 

นพ.สุรพงษ์ บอกอีกว่า แม้แต่การไปเจาะเลือดก็ไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาลอีกแล้ว แต่ประชาชนสามารถไปยังคลินิกเทคนิคทางการแพทย์ที่ให้บริการเจาะเลือดได้เลย ซึ่งเมื่อเจาะเลือดให้แล้ว ผลเลือดจะนำขึ้นสู่ระบบคลาวด์ ผู้ป่วยก็ไปพบแพทย์ในวันถัดไป แพทย์ก็จะเห็นผลเลือด และข้อมูลต่างๆ 

นอกจากนี้ กลไกการจ่ายเงินอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็จะปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเป็นแบบ Per Visit  หรือ การจ่ายตามครั้งที่ไปรักษา ในอัตราที่เหมาะสม ไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป เพื่อรองรับการไปรับบริการที่ไหนก็ได้

“นี่คือการเปลี่ยนรูปแบบการไปโรงพยาบาลอย่างสิ้นเชิง ไปที่ไหนก็ได้แล้ว ไม่ต้องไปแต่เช้ามืด ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่แออัด นี่คือแก่นหลักของแนวคิดนี้ ต่อไปคือจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งก็ต้องอยู่ที่นโยบาย ต้องมีคนเคาะ 

“ที่ผ่านมาประชาชน (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ต้องใช้สิทธิสุขภาพด้วยความอดทนอย่างมาก เพราะไม่อดทนก็จะใช้สิทธิไม่ได้ ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่จากนี้ประชาชนไม่ต้องอดทนอีกแล้ว เพราะรัฐบาลจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และไม่ยึดติดว่าโรงพยาบาลเฉพาะตัวอีกต่อไป” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

เขา นิยามสิ่งนี้ว่าเป็นเหมือนการโยนก้อนหินลงไปในแม่น้ำ ก่อนอธิบายต่อไปว่า จากนั้นจะเกิดการกระเพื่อมไปเรื่อยๆ เป็นวงกว้าง มันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลไหนให้บริการไม่ดี ไม่ปรับปรุงหรือพัฒนา ประชาชนคงไม่ไปรับบริการอีกแล้ว มันจึงเหมือนกับแรงจูงใจโดยอัตโนมัติที่จะทำให้โรงพยาบาลมีการพัฒนา ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่จะวัดฝีมือผู้บริหารโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น กรณี นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (อบจ.) เมื่อไม่นานมานี้ว่า ตอนเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้พลิกฟื้นตัวเลขขาดทุน นำไปสู่ตัวเลขเสมอตัว และทำกำไรได้ในเวลาแค่ 1 ปี พร้อมกับปรับเปลี่ยนการบริการ สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลใหม่เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ประชาชนอยากไปรับบริการมากขึ้น 

“ดังนั้นตรงนี้ทำให้เราเห็นเลยว่างบฯ เรามีเพียงพอให้ แต่อยู่ที่ว่าผู้บริหารจะทำอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเราไม่ยอมรับว่าบริหารไม่ได้ มันเลยมีการขาดทุนเกิดขึ้น” นพ.สุรพงษ์ ระบุ 

4

อุ๊งอิ๊งกุญแจความสำเร็จ

แม้ ‘ซูเปอร์บอร์ด’ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และ รมว. ทุกกระทรวง รวมถึงนายกสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นกรรมการ ดูจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ สำเร็จลุล่วง

กระนั้น หากว่ากันตามคำสั่งแต่งตั้ง และคำยืนยันจาก ‘หมอชลน่าน’ ที่ผ่านมาก็จะพบว่าซุปเปอร์บอร์ด จะมีบทบาทในเชิง ‘นโยบาย’ แต่ไม่มีอำนาจในการ ‘สั่งการ’ 

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของซุปเปอร์บอร์ด จะมีการประกาศว่าจะแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ โดยมี ‘อุ๊งอิ๊ง’ หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ทำหน้าที่ ‘ขับเคลื่อน’ โครงการ รวมถึงนโยบายต่างๆ จากซูเปอร์บอร์ด ก็ยังไม่เห็นความ ‘ชัดเจน’ ว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมทำตาม

ในประเด็นนี้ นพ.สุรพงษ์ อธิบายว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาฯ น.ส.แพทองธาร ในฐานะประธาน จะมีอำนาจจากนายกฯ ในการ ‘สั่งการ’ และ ‘กำกับติดตาม’ หน่วยงาน และภาคีที่เป็นระดับปฏิบัติการ ซึ่งจะมาอยู่ในโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาฯ เช่น เจ้ากรมการแพทย์ทหารบก เจ้ากรมการแพทย์ทหารเรือ กรมการแพทย์ ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอาทิ 

นอกจากนี้ ภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาฯ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ขึ้นมา เช่น คณะอนุกรรมการด้านการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่ง เขา จะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานอนุกรรมการในชุดนี้เอง เพื่อทำการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั้งระบบเป็นหนึ่งเดียว โดย นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่าได้ศึกษาโมเดลแล้ว ทำได้แน่นอน 

สำหรับความจำเป็น และเหตุผลว่าทำไมประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาฯ จะต้องเป็น ‘น.ส.แพทองธาร’ แต่ไม่ใช่ ‘นพ.ชลน่าน’ ซึ่งเป็น รมว.สาธารณสุข นพ.สุรพงษ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจาก น.ส.แพทองธาร มี อำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยประสาน และขับเคลื่อนโครงการได้ 

รวมถึงอย่างที่บอกเอาไว้ว่าจะมีการรื้อระบบสุขภาพใหม่กันทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่างานนี้เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และ นพ.ชลน่าน เองก็ถือเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฉะนั้นการจะไปสั่งการข้ามกระทรวงเพื่อให้ทำงานกันคงไม่ได้ ก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจในการสั่งการ หรือคนที่นายกฯ มอบอำนาจให้

“อย่างผมเองไม่มีตำแหน่ง ไปทำงานอะไรใครจะเชื่อผม หรือใครจะฟังผม แต่ถ้าเป็นนักการเมืองด้วยกัน การทำงานก็จะง่ายขึ้น อีกทั้งคุณอุ๊งอิ๊ง (น.ส.แพรทองธาร) ก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ท่านนายกฯ เศรษฐาก็ขอให้คุณอุ๊งอิ๊งเข้ามาช่วยงานและพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่

“คุณอุ๊งอิ๊งมีแพชชั่นในการทำงานทางการเมือง 2 เรื่องสำคัญๆ คือ การขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ และยกระดับบัตร 30 บาทรักษาทุกที่ หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลและข้อเสนอทางนโยบาย ก็ตกลงว่าพร้อมจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนทำงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประสานการทำงานเชิงนโยบายข้ามกระทรวงร่วมกัน ซึ่งจริงๆ แล้วคุณอุ๊งอิ๊งต่างหากที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จ” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ กล่าวเสริมว่า ส่วนการทำงานของซูเปอร์บอร์ดจะประชุมร่วมกันทุก 3 เดือน ส่วนคณะบริหารการพัฒนาฯ จะประชุมทุกเดือน โดยคาดว่าจะประชุมที่ สธ. เป็นหลัก ส่วนอนุกรรมการจะมีการประชุมความจำเป็น และวาระเร่งด่วน

ซูเปอร์บอร์ด เน้นเรื่องยกระดับ 30 บาท

ถึงจะเรียกกันว่า ‘ซูเปอร์บอร์ด’ จนติดปาก และคาดหวังกันว่าอาจเข้ามาเป็นกลไกในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการมีบุตร การรวม 3 กองทุนสุขภาพ (บัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) การถ่ายโอน รพ.สต. แต่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ซูเปอร์บอร์ดจะไม่มีบทบาทตรงนั้น 

รวมถึงจะไม่มีการยกระดับจัดตั้งเป็นองค์กรถาวร แต่เป็นลักษณะเฉพาะกิจเพื่อจัดการเรื่องยกระดับบัตรทอง 30 บาท โดยเฉพาะส่วนงานที่ต้องทำข้ามกระทรวง โดยหลังจากได้ระบบรองรับ ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ มาแล้ว จะส่งต่อการบริหารจัดการให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งไม่ใช่การที่รัฐบาลเติมอำนาจให้ เพียงแต่มีระบบใหม่ที่ต้องให้บริหารและจัดการ

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องการรวม 3 กองทุนสุขภาพ หาก ‘บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่’ ของสิทธิบัตรทองเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็จะเป็นแรงผลักตามธรรมชาติ ในการทำให้กองทุนสุขภาพอื่นๆ เร่งพัฒนาขึ้นมาทัดเทียมกัน เพราะทั้งผู้ประกันตน และข้าราชการ ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนอย่างแน่นอน 

“ประชาชนในสิทธิประกันสังคมต้องร้องแน่นอน เพราะเขาจ่ายเงินทุกเดือนด้วย แต่ว่าบัตรทองได้รักษาทุกที่ แม้ว่าประกันสังคมจะรักษาเอกชนอยู่แล้วบางส่วนก็ตาม แต่อย่างไรการเรียกร้องดังกล่าว ก็ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว

“ในความหมายของการรวมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ เราต้องการให้สิทธิสุขภาพเท่าเทียมกันจากการบริหารงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนให้ทั้ง 3 กองทุนใช่หรือไม่ ดังนั้น คำตอบอยู่ที่การบริหาร ‘มาตรฐานและพื้นฐานของการให้บริการสุขภาพ’ ที่ให้บริการทางการแพทย์ไม่แตกต่างกัน ใช้ยาเหมือนกัน ช่องทางการเข้าถึงเหมือนกัน ซึ่งหากทำได้ด้วยการบริหารจัดการเป็นระบบเดียวกัน การรวมกองทุนก็ไม่จำเป็น แต่ว่าทุกวันนี้ เราใช้ความเชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนของแต่ละหน่วยงาน จึงทำให้เกิดปัญหา เช่น สิทธิประกันสังคม สู้สิทธิบัตรทองไม่ได้ ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น 

“แต่ถ้าระบบประกันสังคมอาจไม่รองรับรูปแบบการให้บริการแบบนี้ ก็อาจให้ สปสช. มาบริหารก็ได้ สปสช. เองก็จะทำหน้าที่จัดการประกันสุขภาพรายใหญ่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ส่วนสิทธิข้าราชการอาจจะต้องพรีเมียมตามที่สัญญากันไว้ ก็ทำไปตามเดิมนั้น แต่เรื่องการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การให้ยา จะต้องเหมือนกัน” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

  เมื่อถามว่าสถานการณเช่นนี้ สปสช. จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่ สธ. ถูกลดบทบาทลงหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ตอบว่า สธ. ก็ยังทำหน้าที่ตามเดิมและไม่ได้ถูกลดบทบาทอะไรในปัจจุบัน รวมไปถึงยังไม่มีแนวคิดขยับและผลักดันให้โรงพยาบาล Spin-off ออกไปเป็น ‘องค์การมหาชน’ เหมือนกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งหากทำแบบนั้น แน่นอนว่าอำนาจและบทบาทของ สธ. จะลดลงทันที ซึ่งอนาคตควรจะต้องไปสู่ทิศทางนั้นที่โรงพยาบาลต้องแยกออกไป แต่ยังไม่ใช่ ‘เรื่องเร่งด่วน’ ที่ ‘ต้องทำในตอนนี้’

4

อุปสรรค ปัญหา

หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการ ‘ปฏิรูป’ หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ย่อมมีผลกระทบตามมา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ โดย นพ.สุรพงษ์ บอกว่า ซูเปอร์บอร์ด รวมถึงพรรคเพื่อไทยก็มองถึงเรื่องนี้เช่นกันว่าการดำเนินการครั้งนี้จะมีแรงเสียดทาน เนื่องจากการยกระดับครั้งนี้อาจมีผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์อยู่บ้าง แต่อีกด้านหากมีการกระจายภาระงานอย่างเป็นระบบออกไปนอกโรงพยาบาลมากขึ้น ก็จะช่วยให้ภาระงานในโรงพยาบาลมีความสมดุล

“ภาระงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ ต้องยอมรับว่า ยังมีวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องอยู่ในโรงพยาบาล แต่จริงๆ ที่กำลังขาดแคลนอย่างมาก คือพยาบาล ซึ่งก็อาจจะมีการฝึกอบรมครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ สธ. ที่ต้องเตรียมการเอาไว้” นพ.สุรพงษ์ เผย

ส่วนคำถามสำคัญที่ว่า ‘งบประมาณจะเพียงพอหรือไม่’ นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่า ‘พอ’ พร้อมกับอธิบายว่า ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาน่าจะไม่เกิน 20% ของงบประมาณเดิม หรือราว 2- 3 หมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่จะได้กลับคืนมา คือ ‘ฐานข้อมูลสุขภาพเป็นจุดเดียว’ ที่มีการจัดเก็บรวบรวมอย่างปลอดภัยสูงสุด และสามารถใช้ข้อมูลไปวิเคราะห์สุขภาพของคนไทย 

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนสงสัยว่าจะมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมจริงไหม นพ.สุรพงษ์ บอกว่า โรงพยาบาลเอกชนอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คงไม่เข้าร่วมแน่ เพราะมีผู้ปวยที่ต้องดูแลอยู่แล้ว แต่อย่างโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เข้าร่วมแน่ๆ เพราะที่ผ่านมาก็อยู่ได้เพราะดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ยิ่งการที่ สปสช. เปลี่ยนระบบจ่ายเงินเป็นแบบ Per Visit ก็เชื่อว่าจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งอยากเข้าร่วมแน่ๆ เพราะเก็บค่าบริการต่อครั้งได้เลย ไม่ใช่เป็นการบริการแบบให้เหมาจ่ายรายหัว 

ฉะนั้น ภาพความแออัดจะไม่เกิดขึ้นแล้ว เพราะผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่งจะไปอยู่ที่ร้านขายยาใกล้บ้านเพื่อรับบริการ ส่วนที่เหลือจะกระจายไปตามหน่วยบริการที่เข้าร่วม 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลังเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ แรงกดดันใน ‘เชิงบวก’ ที่หลายจังหวัดอยากจะทำด้วย เช่น จ.นครรราชสีมา ที่ขอดำเนินการทันทีในเฟส 2 

“อย่างที่โคราชเราก็เล็งเอาไว้อยู่เหมือนกัน แต่เขายังไม่พร้อมเรื่องการเชื่อมข้อมูลกับระบบข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ปัญหาคือระบบที่ยังไม่พร้อม จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ขนาดของพื้นที่ที่เราเลือกนำร่องก่อน” นพ.สุรพงษ์ ระบุ

นพ.สุรพงษ์ เผยว่า 4 จังหวัดที่นำร่องไปแล้วจะสังเกตได้ว่าเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ที่มีระบบข้อมูลผู้ป่วยไม่ซับซ้อน โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยของ สธ. เป็นหลัก และดึงข้อมูลผู้ป่วยจากหน่วยบริการอื่นๆ เข้ามารวมเอาไว้ แต่ก็จะเห็นความสำเร็จ หรือบทเรียนบางอย่างจากการนำร่องนี้ รวมไปถึงประสบการณ์สำคัญจากประชาชน ที่จะช่วยส่งต่อหลังจากได้รับบริการสุขภาพในการไปรักษาได้ทุกที่ โดยแน่นอนว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจเป็นพื้นที่ที่ทำได้ช้าที่สุด เพราะข้อมูลซับซ้อนมาก 

เมื่อถามว่าทั้งประเทศจะใช้ระบบนี้พร้อมกันได้เมื่อไหร่ 

นพ.สุรพงษ์ ให้คำตอบทิ้งท้ายว่า ประมาณ 1 ปี น่าจะทำให้ทั้งประเทศเกิดระบบที่ไปรักษาได้ทุกที่ได้จริงๆ