ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Saw Swee Hock School of Public Health จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มีโครงการวิจัย SEARCH (Southeast Asia Regional Collaborative for Health) โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างองค์ความรู้และมุ่งยกระดับศักยภาพ “การซื้อบริการเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน” (Strategic Health Purchasing) ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ที่จะนำไปสู่การสร้าง “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้กับนานาประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก Bill & Melinda Gates Foundation

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ภายใต้โครงการดังกล่าว มีการจัดการประชุมในหัวข้อ Strategic Health Purchasing in ASEAN Project: Launch of the Strategic Health Purchasing Registry โดยเป็นการเปิดตัวระบบฐานข้อมูลส่วนกลาง (Registry) ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการซื้อบริการเชิงกลยุทธ์ของแต่ละประเทศในอาเซียน ทั้งด้านการบริหารจัดการ (Governance) ด้านกฎหมายและนโยบาย (Legal and policy landscape) และด้านการติดตามกำกับดูแลผลสัมฤทธิ์ (Performance monitoring) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ได้มี 2 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมนำเสนอ ได้แก่ เวียดนาม และไทย

ในส่วนของประเทศไทยผู้ที่ได้ทำวิจัยและนำเสนอ คือ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยในโครงการ SEARCH ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมความรู้ของประเทศไทย

อาจารย์ทีปกร อธิบายถึงข้อค้นพบให้กับ “The Coverage” ฟังว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ของไทยสามารถมีภาพที่สมบูรณ์ในการคุ้มครองความเสี่ยงยากจนด้านสุขภาพครอบคลุมทุกคนและประสบความสำเร็จได้เป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องจากนานาชาติอันน่าภาคภูมิใจ ก็เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยการบริหารงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

รวมไปถึงมีการติดตามประเมินประสิทธิผลของการให้บริการ ด้วยภูมิทัศน์ (Landscape) ทางกฎหมาย และในการนโยบายทำให้ สปสช. สามารถมีรับผิดชอบ (Accountability) ต่อประชาชน สถานพยาบาลที่เป็นผู้ให้บริการ และรัฐบาล

ดร.ทีปกร ขยายความต่อไปว่า สปสช. ได้ใช้กลยุทธ์ในการบริหารเงินที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลแบบปลายปิด (Close-ended provider payment) การสนับสนุนระบบ gatekeeping ในระดับบริการปฐมภูมิ การพัฒนาอำนาจการจัดซื้อแบบรวมหมู่ (Collective purchasing power) และการรับฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) จากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมาประกอบกระบวนการตัดสินใจ

ยิ่งไปกว่านั้น สปสช. ยังได้ดำเนินการด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นผู้นำในการพัฒนาสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณจำกัดแต่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนทำให้บริการสาธารณสุขของประเทศมีประสิทธิผลอย่างมากในเชิงต้นทุน (Cost effective)

ดร.ทีปกร กล่าวอีกว่า สปสช. ได้พัฒนารวบรวมและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบติดตามข้อมูล Microdata ในเรื่องการให้บริการ และการเบิกจ่ายของสถานพยาบาล ซึ่งสามารถสะท้อนต้นทุนและการเบิกจ่ายเงินของ สปสช. ฉะนั้น สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงสามารถมีข้อมูลงานวิจัยที่มาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อใช้สำหรับตัดสินใจในระดับนโยบายในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ดี แม้ระบบบัตรทองจะประสบความสำเร็จในการเป็นหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนจำนวนมาก แต่หากเทียบกันระหว่าง สวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 3 ระบบ ประกอบด้วย สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และระบบบัตรทอง จะพบว่า ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในหลายประเด็น เช่น ความครอบคลุมทางสิทธิประโยชน์ การร่วมจ่าย ฯลฯ

“โดยหลักพื้นฐานเราควรที่จะขยายกลไกการบริหารเงินไปให้อีก 2 ระบบด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์ของบริการสุขภาพโดยรวมของทั้งระบบสาธารณสุขไทย เพราะประเทศไทยกำลังเริ่มเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณทางการคลัง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพของทรัพยากรเงินที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความเป็นธรรมระหว่างแต่ละระบบ” ดร.ทีปกร กล่าว

นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ คือ ความร่วมมือในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน พลังของภาคนโยบาย และความรู้จากภาควิชาการ เพื่อช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือ ขับเคลื่อนภูเขาได้ ตามแนวคิดยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี