ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังคงมีคำถามถึงความยั่งยืนของระบบ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและต้นทุนสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น

ญี่ปุ่นสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จตั้งแต่ปี 2504 ทั้งยังเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุยืน เป็นกรณีศึกษาที่นานาประเทศให้ความสนใจ

นั่นเพราะญี่ปุ่นยังคงเก็บรักษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านานมากว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้ประชากรชาวญี่ปุ่นทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในราคาที่จ่ายได้

ผู้ประกันตนยังสามารถเลือกสถานพยาบาลได้เอง โดยค่าบริการของสถานพยาบาลทุกประเภทไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคลินิกขนาดเล็กไปจนถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังทำนโยบายเพิ่มโรงเรียนแพทย์ตั้งแต่ปี 2516 โดยเฉพาะในเขตชนบท เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ให้พอกับความต้องการ ทำให้บริการสุขภาพของญี่ปุ่นมีคุณภาพเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

1

ด้วยประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างยาวนาน ญี่ปุ่นเริ่มใช่ความรู้ความเชี่ยวชาญในการรณรงค์ให้นานาประเทศสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยผนวกประเด็นด้านสุขภาพเข้ากับนโยบายต่างประเทศชื่อว่า “นโยบายสำหรับสันติภาพและสุขภาพ” ในปี 2558

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่จัดประชุมระดับโลกโดยใช้ประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำ

ในระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศพัฒนา G7 ณ อิเสะชิมะ ในปี 2559 ญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นผู้นำสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก โดยเสนอให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศเอเชีย แอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

บทบาทของญี่ปุ่นนำเพิ่มขึ้นในเวทีระดับโลก โดยในปี 2560 ญี่ปุ่นจัดประชุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มผู้นำประเทศทั่วโลก ร่วมกับธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก และสหประชาชาติ

นำไปสู่การประกาศ “สัญญาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งโตเกียว” ที่นานาประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สำเร็จภายในปี 2573

ในเดือน พ.ค. 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ออก “นโยบายสุขภาพโลก” ฉบับใหม่ โดยเน้นบทบาทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาด และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพในภาพรวม

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการเสริมบทบาทญี่ปุ่นในระดับโลก

2

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอาหารสัญชาติญี่ปุ่น อายิโนโมโตะ ร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) ในการทำโครงการเพิ่มสารอาหารให้ทารกในประเทศกานาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของทารกจากโรคขาดสารอาหาร

อีกด้านหนึ่ง บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เลเบอร์ (LEBER) พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้บริการทางการแพทย์ทางไกล ทำให้หมอให้คำปรึกษากับผู้ป่วยผ่านมือถือ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน

แม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการทำนโยบายสุขภาพ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ แต่ยังคงมีความท้าทายสำคัญ คือการสร้างความยั่งยืนให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะในด้านงบประมาณและทรัพยากรมนุษย์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาธารณะเริ่มมีคำถามว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่นจะยืนหยัดได้นานเพียงไร เมื่อต้นทุนบริการสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จำนวนประชาการสูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตช้ากว่าในอดีต ซึ่งจะส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลในการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหดตัวลง

การระบาดของเชื้อโควิด 19 ได้เผยให้เห็นความอ่อนแอของระบบสุขภาพในปลายประเทศ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงควรยกให้เป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อสร้างรากฐานให้ระบบสุขภาพ เมื่อระบบสุขภาพมีความมั่นคงแล้ว เศรษฐกิจและสังคมก็จะมีความมั่นคงเช่นกัน

3

รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นความเร่งด่วนในการหาแนวทางยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโรค เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการ ได้ออกนโยบายตัวใหม่ซึ่งวางโรดแมปปฏิรูประบบสุขภาพให้สำเร็จภายในปี 2578

ในปี 2566 นี้ จะมีการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ที่เมืองฮิโรชิมะ พร้อมกับการประชุมกลุ่มรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในเมืองนางาซากิในเดือน พ.ค. นานาประเทศต่างคาดหวังให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการพูดคุยประเด็นการการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกลุ่มประเทศพัฒนา

อ่านข่าวต้นฉบับที่:
https://www.weforum.org/agenda/2022/12/mainstreaming-universal-health-coverage-with-japan-at-the-helm-as-a-leading-health-nation/