ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ แนะ รัฐบาลชุดต่อไป ‘สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว’ มุ่งผลักดันเป็นวาระชาติ แก้ปัญหา ‘ความไม่เท่าเทียมในระบบ’ เผย ปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองใดเห็นประเด็นนี้


นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอในการจัดทำนโยบายสุขภาพเพื่อประชาชนสำหรับรัฐบาลชุดต่อไปว่า ในระยะสั้นควรทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) มีความเท่าเทียมกันด้านมาตรฐานการให้บริการ เช่น การรักษา ยาที่ใช้ ฯลฯ และในระยะยาวต้องมีการรวมให้เป็นระบบเดียว รวมถึงต่อยอดไปให้ถึงการทำให้ครอบคลุมทุกคนในแผ่นดินไทยให้มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าว คนไร้บ้าน ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ทั้งนี้ เมื่อมีการรวมกันเป็นระบบเดียวแล้ว ควรให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ เพราะมีประสบการณ์ในการดูแลประชาชนจำนวนมากที่สุดในขณะนี้ คือกว่า 46 ล้านคนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยให้การจัดสรรค่าเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับบริบทมากที่สุดถ้าเป็นระบบเดียว

อย่างไรก็ดี คณะผู้บริหาร หรือผู้มีส่วนในการตัดสินใจที่เคยบริการอยู่ในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ อาจจะเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารเพื่อหนุนเสริมการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการที่พยายามทำการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ในขณะนี้ เพราะในบางเรื่อง อาจต้องอาศัยประสบการณ์การบริหารจากทั้งสองระบบ

2

นางสุนทรี กล่าวต่อไปว่า โดยเท่าที่ดูนโยบายด้านสุขภาพของแต่ละพรรคการเมืองก็ยังไม่พบว่ามีพรรคไหนที่นำเสนอประเด็นนี้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มรายการการรักษา หรือมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่น การเพิ่มศูนย์ฟอกไต และศูนย์ฉายรังสีมะเร็ง การเพิ่มระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เข้ามาช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ทว่า สิ่งต่างๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาไม่ใช่เรื่องไม่ดี ถือเป็นเรื่องที่ดีมากด้วยซ้ำ และเข้าใจได้ว่าทำไมพรรคการเมืองถึงจับประเด็น รวมถึงมีนโยบายรูปแบบนี้ออกมา เพราะการลงพื้นที่พบประชาชนจะทำให้เห็นถึงปัญหา และความต้องการของประชาชนจริงๆ แต่ขณะเดียวกันผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศก็ควรมีวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนในภาพรวมเพื่อลดปัญหา และความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย

“ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ค่อนข้างดีมากแล้ว โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบบัตรทองที่ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เดิมไม่ใช่ข้าราชการและผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แต่จุดอ่อนของระบบตอนนี้คือยังมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง 3 ระบบ อย่างข้าราชการก็จะมีค่าเหมาจ่ายรายหัวที่มากกว่าระบบัตรทอง 3-4 เท่า หรือผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ

“รัฐบาลชุดถัดไปน่าจะต้องมีการทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นวาระของชาติ เพราะที่ผ่านมาจนมาเรามีคณะกรรมการที่พร้อมจะทำเรื่องนี้แล้ว แต่ขาดการสนับสนุนในเชิงนโยบาย ทำให้ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ในระยะยาวจะเป็นผลดีกับประชาชน รวมถึงการบริหารงบประมาณด้านนี้จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น” กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าว