ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าว The Japan times รายงานผลการสำรวจของทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า จากการเก็บข้อมูลการทำงานของแพทย์กว่า 19,879 คน จาก 5,424 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในปี 2565 มีแพทย์ราว 20.4% ที่ทำงานในเวลาปกติมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) 

อีกทั้งยังต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) ถึง 80 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ 960 ชั่วโมงต่อปี สภาพการณ์นี้เช่นนี้ส่งผลให้แพทย์กลุ่นนี้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการทำงานหนัก 

นอกจากนี้ แพทย์ศัลยกรรมระบบประสาท มีแนวโน้มที่จะต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น และต้องทำงานล่วงเวลาถึง 36.6% ของชั่วโมงการทำงานปกติ รองลงมาคือแพทย์ฉุกเฉิน 32.2% แพทย์ผ่าตัดอีก 29.7% และสูตินรีแพทย์ 28% 

ทว่า หากเทียบการทำงานหนักในปัจจุบันของแพทย์ญี่ปุ่นกับช่วงก่อนหน้านี้ ยังถือว่าลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนในปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลได้ปฏิรูปแนวการทำงานของแพทย์ โดยแพทย์ที่ทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 18.9% เหลือ 12.1% ในขณะที่สัดส่วนของแพทย์ที่ทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป แต่น้อยกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 10.4% เหลือ 5.4%

ขณะที่สัดส่วนของแพทย์ที่ทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 13.7% เป็น 22.5% และที่ทำงาน 40 ชั่วโมงขึ้นไป แต่น้อยกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 22.3% เป็น 32.7%

1

การทำงานล่วงเวลาที่ลดลงของแพทย์ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในมาตรการของภาครัฐที่เร่งแก้ไข รวมถึงสร้างระบบที่ยืดหยุ่นในการลางานที่ได้รับค่าจ้างที่สะดวกกว่าเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์ต้องทำงานหนักเกินไป และอาจส่งผลเสียต่อการรักษาดูแลผู้ป่วย 

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจล่าสุดก็ยังสะท้อนว่าแพทย์ญี่ปุ่น ยังคงทำงานหนักอยู่เช่นเดิม 

ศาสตราจารย์ โซอิจิ โคอิเกะ (Prof.Soichi Koike) หัวหน้าศูนย์วิจัยเวชศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยการแพทย์จิจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลจะช่วยทำให้การทำงานของแพทย์ลดลง แต่ก็เป็นเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น แพทย์ที่ประจำคลินิกแต่ละแผนกที่ดูแลผู้ป่วยยังคงทำงานหนักอยู่เหมือนเดิม 

มากไปกว่านั้น การปฏิรูปแนวทางการทำงานของแพทย์ ยังส่งผลกระทบต่อการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆ ให้เข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมป้องกันโรค เพราะหน้าที่ส่วนนี้ถูกปรับให้ลดลง รวมไปถึงการวิจัยแสวงหาเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ ก็ลดลงไปเช่นกัน 

“การส่งเสริมการปฏิรูปรูปแบบการทำงานไปพร้อมๆ กับการรักษาคุณภาพการรักษาพยาบาลถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากของญี่ปุ่น” ศาสตราจารย์ โซอิจิ กล่าว 

ที่มา : Around 20% of doctors in Japan at risk of death from overwork - The Japan Times