ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อบจ.กาญจนบุรี เปิดสอบ-สัมภาษณ์ ปรับสายงาน “เจ้าพนักงานสาธารณสุข-ทันตสาธารณสุข” เป็น “นักวิชาการสาธารณสุข” เสริมความก้าวหน้าทางวิชาชีพ คาดประกาศผลเป็นของขวัญปีใหม่ 2 ม.ค. 2567


นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (นายก อบจ.กาญจนบุรี) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 อบจ.กาญจนบุรี ได้จัดให้มีการสัมภาษณ์เพื่อปรับตำแหน่ง ‘เจ้าพนักงานสาธารณสุข’ และ ‘เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข’ เป็น ‘นักวิชาการสาธารณสุข’ โดยมีผู้สอบผ่านข้อเขียนที่มีการจัดสอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 80 คน กระทั่งมีผู้เข้าสู่รอบสัมภาษณ์รวมทั้งสิ้น 41 คน โดยคาดว่าจะมีคำสั่งประกาศผลเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ได้ภายในวันที่ 2 ม.ค. 2567 ซึ่งหากคุณสมบัติผ่านก็พร้อมรับทั้งหมดทุกคน

นพ.ประวัติ กล่าวต่อไปว่า การปรับตำแหน่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิชาชีพและเป็นสิทธิที่บุคลากรด้านสุขภาพควรจะได้รับ ดังนั้นเมื่อมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มายัง อบจ. แล้ว หากบุคลากรมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ ทาง อบจ.กาญจนบุรี ก็จะรีบดำเนินการให้ โดยการปรับตำแหน่งดังกล่าวจะช่วยให้บุคลากรมีโอกาสเติบโตเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. หรือขึ้นไปถึงตำแหน่งชำนาญการพิเศษได้ 

“เขาก็ดีใจและตื่นเต้นเพราะเป็นเรื่องที่เขาคาดหวัง เขาตื่นเต้นที่จะได้เจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพ และมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น เพราะส่วนมากบุคลากรที่ปฏิบัติงานนั้นมีทัศนคติที่ดี และทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็อยากให้เขามีความก้าวหน้าทางวิชาชีพ” นายก อบจ.กาญจนบุรี ระบุ 

นพ.ประวัติ กล่าวต่อไปว่า ในรอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2567 อบจ.กาญจบุรี รับถ่ายโอน รพ.สต. เข้ามาทั้งหมดครบ 100% โดยแนวทางหลังจากนี้คือจะผลักดันให้ รพ.สต. และบุคลากร เติบโตไปพร้อมๆ กัน ยืนยันว่าหากมีคุณสมบัติครบ ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเจริญในหน้าที่การงานในบทบาทของตัวเอง เป็นแรงผลักดันให้คนทำงานสมศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการท้องถิ่น ซึ่ง อบจ.กาญจนบุรี ไม่มีความคิดที่จะชะลอแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในกรอบอัตรากำลังของ รพ.สต. จะแบ่งเป็นตามขนาด S M L ซึ่ง จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่พิเศษ มีพื้นที่ห่างไกล การเติมอัตรากำลังให้เต็มกรอบอาจเป็นเรื่องที่เติมยาก เพราะขณะนี้ก็ยังมีหลายจังหวัดที่ยังขาดอยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ให้บุคลากรสมัครหรือไม่สมัครใจถ่ายโอน ทำให้เมื่อถ่ายโอนมาแล้วคนทำงานในระบบปฐมภูมิหายไปส่วนหนึ่ง แต่งานยังเท่าเดิม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าบุคลากรที่ไม่ถ่ายโอนมานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะวางบทบาทบุคลากรกลุ่มนั้นอย่างไร เพราะบางแห่งก็ไปรวมกันอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) โดยที่ไม่มีงานรองรับ ส่วนตัวคิดว่าหากมีการปล่อยให้หมุนเวียนไปตามธรรมชาติ ส่วนนี้ก็จะมีคนที่เข้าหรือออกอยู่แล้ว ส่งผลให้ อบจ. ไม่ต้องใช้งบประมาณในการจ้างบุคลากรมากเกินไป

ทั้งนี้ ก็ได้มีการวางแผนจัดอัตรากำลังเอาไว้ในเบื้องต้น โดยในระยะสั้น อบจ.กาญจบุรี จะทำหนังสือขอยืมบุคลากรส่วนเกินที่ไม่ถ่ายโอนมาที่ไปอยู่ สสอ. ให้มาช่วยงาน โดย อบจ. จะเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ คาดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้บ้างในระยะสั้นๆ รวมถึงใช้งบประมาณจาก อบจ. ในการจ้างพยาบาลวิชาชีพ ฯลฯ ที่อยู่นอกระบบเข้ามาเป็นลูกจ้าง อบจ.

ขณะเดียวกัน ในระยะยาวจะมีการให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนจาก อบจ. เพื่อส่งนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่เข้าไปเรียนวิชาชีพต่างๆ เช่น พยาบาล ทันตาภิบาล ฯลฯ เพื่อให้กลับมาทำงานในพื้นที่ ซึ่งก็ได้มีการพูดคุย ติดต่อกับมหาวิทยาลัยมหิล สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ไว้แล้ว

“ผมว่าผู้ใหญ่ระดับกระทรวงต้องคุยกัน จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ จริงๆ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราคือคนไทยดูแลคนไทยด้วยกันเอง ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่หลังการถ่ายโอนทำให้การจัดสรรบุคลากรบิดเบี้ยวไป ไม่อยากให้เกิด ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ เงินก็เงินภาษี บุคลากรก็เป็นข้าราชการของประชาชน อยากให้มองประชาชนเป็นหลักมากกว่า” นพ.ประวัติ ระบุ