ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในวงการสาธารณสุข ชื่อของแพทย์หนุ่มไฟแรง นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ เป็นที่ยอมรับในฐานะ ‘นักบริหาร’ มือฉมัง

ผลงานที่ได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี คือการใช้เวลาเพียงแค่ 18 เดือน สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ขาดทุนเรื้อรัง-ขาดสภาพคล่องในระดับ 7 ของ โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ให้กลับมาเป็น ‘ตัวเขียว’ ได้

ในปี 2559 นพ.ประวัติ ได้ปักหมุดไว้บนยอดเขาอย่างห้าวหาญ เขาประกาศว่าจะทำให้โรงพยาบาลรัฐแห่งนี้ มีคุณภาพการให้บริการเทียบเท่า ‘โรงพยาบาลเอกชน’ แต่ให้การ ‘รักษาฟรี’

โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่จะต้องได้รับเกียรติและได้รับบริการอย่างถึงที่สุด

ผลงานการบริหารและวิธีคิดที่ค่อนข้าง ‘นอกกรอบ’ ออกจากความเป็นข้าราชการ ได้รับความรักและเสียงชื่นชมจากประชาชนคนเล็กคนน้อย ใน อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี จึงแทบจะไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ‘หมอประวัติ’ 

โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย กลายมาเป็น ‘ต้นแบบ’ การบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐ และกลายมาเป็นที่ศึกษาดูงานของโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ในปี 2563 ภายใต้การนำของ ‘นพ.ประวัติ’ โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ติด 1 ใน 5 หน่วยบริการที่สามารถคว้ารางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ในระดับ “เป็นเลิศ” จากสำนักนายกรัฐมนตรี

ถัดมาอีกไม่ถึง 3 ปี นพ.ประวัติ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งการบริหารระดับจังหวัด ด้วยการดำรงตำแหน่งรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี (รอง สสจ.กาญจนบุรี)

ใครหลายคนลงความเห็นตรงกันว่า … คุณหมอหนุ่มไฟแรงท่านนี้ มีอนาคตไกล

ทว่าเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2566 ‘นพ.ประวัติ’ ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เขาตัดสินใจลงนามในหนังสือ ‘ลาออกจากราชการ’ เบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว โดยเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งในตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (อบจ.กาญจนบุรี)

แน่นอน คนเมืองกาญจน์ลงคะแนนให้เขาอย่างท้วมท้นกว่า 1.4 แสนคะแนน เรียกได้ว่านำแบบ ‘ม้วนเดียวจบ’

ในวัย 46 ปี ‘นพ.ประวัติ’ กลายมาเป็น ‘ผู้นำ’ ในระดับจังหวัดอย่างเต็มตัว ทุกวิธีคิด-ทุกการตัดสินใจ จะเกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตคนเมืองกาญจน์

 และนี่เป็นอีกครั้งที่ “The Coverage” เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจยิ่งที่ได้สนทนากับ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ในฐานะว่าที่ นายก อบจ.กาญจนบุรี

เขา บอกกับเราว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนชนิดเป็นอื่นไปไม่ได้ ก็คือการยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขึ้นสู่การให้บริการในระดับพรีเมียม

เรายอมรับตรงไปตรงมาว่า เรา ‘เชื่อ’ เพราะเราเห็นปาฏิหาริย์ที่ นพ.ประวัติ สร้างมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

1

สร้าง รพ.กลางเมือง ขีดเส้น 3 ปีเสร็จ

บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นที่ภาพอนาคตสุขภาพของคน จ.กาญจนบุรี ซึ่ง ‘นพ.ประวัติ’ บอกกับ “The Coverage” ว่า เสียงส่วนใหญ่ของคน จ.กาญจนบุรี สะท้อนถึงความต้องการที่อยากให้ ‘ยกระดับบริการสุขภาพ’ ควบคู่ไปกับการอยากเห็นเมืองกาญจน์เป็น ‘เมืองท่องเที่ยวปลอดภัยชั้นนำ’ ฉะนั้นจึงจะชูจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและนิเวศน์ ขนาบข้างคู่กันไปกับสุขภาพ และความปลอดภัย

“แผนคือเราจะใช้ระบบบริการสุขภาพเป็นตัวเชื่อมต่อกับมิติอื่นๆ ในสังคม”

นพ.ประวัติ อธิบายว่า เป้าหมายนับจากนี้คือการขับเคลื่อนให้ จ.กาญจนบุรี เป็นเมืองชั้นนำของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่ประชากรสุขภาพดี อายุเฉลี่ยจะดีขึ้นทุกปี มีการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย มีระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ 

แน่นอนว่า ในเมื่อระบบบริการสุขภาพคือ ‘ข้อต่อ’ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพจึงเป็นภารกิจสำคัญ

นพ.ประวัติ อธิบายต่อไปว่า เตรียมยกเครื่องระบบบริการสุขภาพขนานใหญ่ โดยมี อบจ.กาญจนบุรี เป็นแม่งาน ทั้งในบทบาทการเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และการหนุนเสริมกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 

เบื้องต้น จุดโฟกัสก็คือ การบริการสุภาพปฐมภูมิ และทุติยภูมิ 

“เริ่มจากการเตรียมก่อสร้างโรงพยาบาลในอำเภอเมืองกาญจนบุรี ที่จะเป็นโรงพยาบาลที่บริหารโดย อบจ. เพื่อให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงานจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี จะแล้วเสร็จ”

เหตุผลที่อำเภอเมืองกาญจน์จำเป็นต้องมีโรงพยาบาล เพราะทุกวันนี้ ในเขตอำเภอเมืองไม่มีโรงพยาบาลที่รองรับกลุ่มโรค - อาการเล็กน้อยหรือปานกลางเลย ทำให้ทุกอย่างต้องตกไปอยู่กับโรงพยาบาลพหลฯ ซึ่งยิ่งทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิในเขตเมืองไม่เข้มแข็ง 

ตรงนี้จึงจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลที่เหมือนกับ ‘โรงพยาบาลระดับชุมชน’ ในพื้นที่ แต่จะบริหารโดยอบจ.กาญจนบุรี ซึ่งจะใช้กลไกของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามาบริหารจัดการ

“ควบรวมไปกับงานถนัดของผม คือการบริหารโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพคล้ายกับเอกชน ทั้งการบริหาร การให้บริการสุขภาพ ที่จะต้องสะอาด ไม่แออัด มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย นี่ถือเป็นจุดเน้นที่ อบจ.กาญจนบุรี จะทำ ซึ่งถ้าเป็น สธ. เอง คงทำไม่ได้ในเร็ววัน แต่ด้วยความยืดหยุ่นของท้องถิ่น และความคล่องตัวในการทำงาน โรงพยาบาลแห่งนี้น่าจะเสร็จใน 3 ปี” นพ.ประวัติ ขีดเดทไลน์ไว้อย่างชัดเจน

ยกระดับ รพ.ชุมชน ทุกอำเภอ - ผุด รพ.สต. พรีเมียม

นพ.ประวัติ ให้ภาพต่อไปว่า ในขณะที่อำเภอเมืองกาญจนบุรีจะมีโรงพยาบาล ในช่วงเวลาเดียวกัน อบจ.กาญจนบุรี ก็จะประสานทำงานร่วมกันกับ สธ. ในการบริหารจัดการทรัพยากร ทั้งบุคลากร เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูงสุด โดยจะมุ่งเน้น ‘ยกระดับโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ’  ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. และท้องถิ่น ในเรื่องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลชุมชน 

นพ.ประวัติ ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนมายังอบจ.กาญจนบุรี นั้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 143 แห่ง 

สำหรับ รพ.สต. ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่ตั้งอยู่ติดกับถนนใหญ่ และเป็น รพ.สต.ขนาดใหญ่ จะถูกอัพเกรดเป็น 'รพ.สต.พรีเมียม' ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นจะนำร่องก่อนใน 13 อำเภอ ก่อนจะขยายไปสู่ทั้งจังหวัดในอนาคต

“รพ.สต.พรีเมียม จะเปลี่ยนไปจาก รพ.สต. ในความรู้สึกเดิมของประชาชนอย่างแน่นอน ทั้งมิติของลักษณะกายภาพ ความสะดวกสบายน่ามอง ติดแอร์ เพิ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นให้มีความพร้อม มีเครื่องเอกซเรย์เล็กๆ เพิ่มบริการเจาะเลือด รวมถึงที่สำคัญคือการเชื่อมข้อมูลเข้ากับ รพ.ชุมชน เพื่อส่งต่อผู้ป่วย

“การให้บริการ 24 ชั่วโมงนั้น จะเน้นหนักไปที่ทักษะการกู้ชีพ อุบัติเหตุฉุกเฉิน ในส่วนนี้ก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็นและต้องทันสมัย หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มรถกู้ชีพประจำ รพ.สต.”

“ในส่วนของบุคลากรที่จะมารองรับการทำงานของ รพ.สต. นั้น ในระยะสั้นเฉพาะหน้า เราจะประสานความร่วมมือกับ สธ. เป็นหลัก เพื่อจัดสรรกำลังคนให้เพียงพอ และหากขาดในส่วนใด ก็จะใช้งบประมาณของ อบจ. จ้างเพิ่มให้เหมาะสมกับภาระงาน 

“ส่วนในระยะยาว ขณะนี้เราได้ประสานกับมหาวิทยาลัยมหิดลไปแล้ว เพื่อขอโควตาให้เด็กในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เข้าไปเรียนและกลับมาทำงานในพื้นที่ เช่น มาสนับสนุนงาน รพ.สต. โดยปัจจุบัน เราได้โควต้าพยาบาลมาแล้วปีละ 5 คน สามารถเริ่มได้ทันที ส่วนโควตาแพทย์นั้นอยู่ระหว่างการพูดคุย ซึ่งก็มีความคืบหน้า สำหรับค่าใช้จ่าย-ทุนการศึกษานั้น ทาง อบจ. ก็จะช่วยสนับสนุน”

ทั้งหมดนี้ นอกจากจะมีไว้เพื่อดูแลประชาชนชาว จ.กาญจนบุรี แล้ว ยังเป็นการรองรับนักท่องเที่ยว ตามแผนการขับเคลื่อนให้ จ. กาญจนบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวปลอดภัยด้วย

“เรายังมีแผนการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน ทั้งระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรองรับนโยบายยกระดับโครงการ 30 บาทพลัส ที่รัฐบาล และ สธ. ต้องการให้มีการดำเนินการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ซึ่งหากความร่วมมือระหว่าง อบจ.กาญจนบุรี และ สธ. เกิดขึ้นและสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลสำคัญที่ อบจ.แห่งอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันกับ สธ. เพื่อรองรับนโยบายสุขภาพในภาพรวมของรัฐบาลได้” ว่าที่นายก อบจ.กาญจนบุรี ระบุ

4

การถ่ายโอนฯ ยังขรุขระ รอ สธ. โอนอุปกรณ์-ที่ดิน

ในส่วนประเด็นการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้กับ อบจ. นั้น สำหรับพื้นที่กาญจนบุรี ‘นพ.ประวัติ’ ยอมรับว่า ที่จริงแล้วทุกอย่างควรจะดีขึ้นเมื่อมีการถ่ายโอนฯ มายัง อบจ. ทว่าด้วยปัญหาข้อติดขัดเรื่องงบประมาณปี 2566 ที่ได้ล่าช้าจนเกือบสิ้นปีงบประมาณไปแล้ว ทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ โดย อบจ. เกิดขึ้นได้ยาก 

นอกจากนี้ อบจ. ยังเจอประเด็นการโอนวัสดุอุปกรณ์-ครุภัณฑ์ ที่ดิน จาก สธ. มายัง อบจ. ซึ่งยังมีข้อติดขัดและทำได้ล่าช้า นั่นยิ่งทำให้ อบจ.ทำงานได้ยาก เพราะยังไม่สามารถเข้าไปพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของรพ.สต. ได้ เนื่องจากยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของ อบจ. 

“ยืนยันว่าอุปสรรคเหล่านี้ ในภาพรวมแล้วไม่กระทบต่อการให้บริการสุขภาพกับประชาชน เพียงแต่เรื่องโครงสร้างต่างๆ ยังไม่สามารถปรับปรุงหรือต่อเติมพัฒนาเพิ่มได้ แต่ล่าสุดที่มีการปรับทัพผู้บริหารในมิติสุขภาพ ทั้งท้องถิ่น และ สธ. ทีมผู้บริหารในมิติสุขภาพของ จ.กาญจนบุรี ก็ทำงานเป็นทีมกันมากขึ้น หากเราเคลียร์ข้อติดขัดต่างๆ ออกไปได้เแล้ว เชื่อว่าจะทำให้การยกระดับ รพ.สต. ร่วมกันทำได้อย่างก้าวกระโดด” นพ.ประวัติ กล่าว 

อย่างที่กล่าวถึงในข้างต้น สำหรับ นพ.ประวัติ แล้ว คนจำนวนมากเห็นตรงกันว่าเป็นแพทย์นักบริหารที่มีอนาคตไกล คำถามที่เราสงสัยก็คือ คุณหมอคิดอย่างไรจึงตัดสินใจลงสู่สนามการเมือง

“ประชาชนในต่างจังหวัด ในแต่ละท้องถิ่น ต้องการผู้นำที่มีผลงาน มีประวัติที่ดี เพื่อพาจังหวัดไปในทิศทางที่ดีและถููกต้องได้ ดังนั้นการคัดตัวผู้ลงสมัครเลือกตั้งจึงสำคัญ นี่ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกของการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ต้องรู้ความต้องการของประชาชน" 

กลุ่มพลังกาญจน์ ที่ นพ.ประวัติ สังกัดอยู่มีการคัดเลือกแคนดิเดตจากทั้งหมด 3 คน ทว่าจากแนวทางการทำงานทางการเมืองของกลุ่ม ที่ต้องการมุ่งเน้นยกระดับระบบบริการสุขภาพของ จ.กาญจนบุรี ให้ดียิ่งขึ้น ‘นพ.ประวัติ’ จึงมีความโดดเด่น

นพ.ประวัติ บอกว่า เขาใช้เวลาเพียง 10 นาทีตัดสินใจ และยื่นหนังสือลาออกจากราชการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีลงนาม

เมื่อถามถึงบทบาทหน้าที่ระหว่างแพทย์และนายก อบจ. คุณหมอนักบริหาร บอกว่า “ไม่ว่าจะหน้าที่อะไรก็ทำประโยชน์เพื่อสังคมและประชาชนได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์ที่เป็นผู้บริหารในโรงพยาบาล หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงตัวนักการเมืองท้องถิ่นเอง หากจะพัฒนามิติสุขภาพก็ย่อมมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง มีระบบบริการสุขภาพที่ดี เท่าเทียม สะดวกสบาย และมีคุณภาพดี เพียงแต่มุมมองของการทำงานระหว่างหมอ และนักการเมือง อาจมีความแตกต่างกัน 

"บุคลากรของ สธ. ก็จะมีมุมมองการทำงานที่เป็นมิติของ สธ. เป็นหลัก เป็นการทำงานที่ตอบสนองกับนโยบายจากส่วนกลาง แต่นักการเมืองท้องถิ่นเองจะมองมิติสุขภาพที่กว้างกว่า ซึ่งเป็นการเมืองถึงจุดเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ ไปยังเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน ก็จะเป็นมุมมองที่ใหญ่ขึ้น และครอบคลุมการทำงานกว่ามิติของนายแพทย์ที่เป็นนักบริหาร" นพ.ประวัติ ระบุ