ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กึ๋น” ของผู้บริหารถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ขึ้นอยู่กับการหล่อหลอม สภาพแวดล้อม และประสบการณ์ชีวิต วิธีคิดจึงเป็นสิ่งทำให้คนมีความแตกต่างกัน

ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างไม่รู้จบ และไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นใด ก็สามารถนำพาองค์กรก้าวข้ามมาตรฐานเก่าไปสู่คุณภาพใหม่ได้เสมอ

เฉกเช่นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับ “โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย” จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลชุมชนที่เคยขาดสภาพคล่องรุนแรงระดับ 7 แต่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ในระยะเวลาเพียง 18 เดือน

นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559

ทว่าทุกวันนี้ โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยได้ยกระดับบริการไปอีกขั้น เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ออกแบบสถานที่ใหม่ทั้งหมดไม่ต่างไปจากโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในเมืองหลวง

แต่สิ่งที่เหนือกว่า คือผู้ป่วยที่นี่ส่วนใหญ่ “รักษาฟรี” ด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ติด 1 ใน 5 หน่วยบริการที่สามารถคว้ารางวัลศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ในระดับ “เป็นเลิศ” จากสำนักนายกรัฐมนตรี

แน่นอน โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยจะไม่สามารถเดินมาถึงจุดนี้ได้เลย หากไม่มีคุณหมอคนหนุ่ม-นักบริหารที่คิดนอกกรอบ อย่าง นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ซึ่ง “The Coverage” ได้รับเกียรติในการพูดคุยด้วยในครั้งนี้

‘บัตรทอง’ แสงแรกแห่งความหวัง

นพ.ประวัติ เล่าว่า เมื่อช่วงปลายปี 2559 ตนเองได้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเป็นปีแรก และพบว่าโรงพยาบาลขาดทุนอย่างหนักอยู่ในวิกฤติระดับที่ 7 ซึ่งเป็นระดับท้ายที่สุด เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน จึงทำให้การพัฒนาต่างๆ ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากขาดเงินทุน

“เป็นวิกฤตระดับ 7 ขาดสภาพคล่องระดับสุดท้าย ไม่มีตัง ขาดทุน หวังจะทำโรงพยาบาลดีๆ เป็นไปไม่ได้ ... จะแก้อะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มีตัง”

ในตอนนั้นโรงพยาบาลเริ่มทรุดโทรม และเริ่มส่งผลกระทบต่อความสุขในการทำงานบุคลากรในโรงพยาบาล รวมไปถึงความพึงพอใจของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ นั่นจึงเป็นเหตุทำให้ต้องตั้งเป้าการพัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

“ปัญหาของสถานบริการภาครัฐเหมือนกันทั่วประเทศ คือเก่า ทรุดโทรม คนไข้รอนาน เจ้าหน้าที่ไม่มีความสุข ขาดแคลนเครื่องมือ ซึ่งโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยก็เป็นหนึ่งในนั้น”

คือโรงพยาบาลต้องมีศรัทธาพอสมควรนะ ต้องดึงให้เขา (ผู้ป่วย) กลับเข้ามา ไม่อย่างนั้นคนก็ไม่อยากเข้ามารักษา เขาเข้ามาแล้วก็ร้องยี้ก็หนีไปโรงพยาบาลอื่น ไปเอกชนดีกว่า ยอมเสียเงินดีกว่ามาตายที่นี่ ดีกว่ามารับบริการที่นี่ ฉะนั้นเป้าหมายแรกสุดคือทำให้โรงพยาบาลไม่เจ๊งก่อน ซึ่งก็สามารถทำได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก”

นพ.ประวัติ เล่าต่อว่า สัดส่วนผู้ป่วยในโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย เป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นหลัก โดยอยู่ที่ประมาณ 70% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ตนเองจึงเริ่มตั้งต้นมาจากจุดนี้

ผมใช้เวลา 1 เดือนเต็มๆ อยู่กับข้อมูล เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมเราถึงขาดทุนมาตลอด”

สิ่งที่ “นพ.ประวัติ” ค้นพบ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดความคาดหมายสำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน หากแต่สิ่งที่คุณหมอนักบริหารท่านนี้ได้ดำเนินการ นับเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้และน่าถอดบทเรียนร่วมกัน

“เราพบว่าปัญหาอยู่ที่เราหาเงินไม่เก่ง ทั้งๆ ที่ยังมีช่องทางในการทำเงินได้อีกมากจากการทำงานเท่าเดิม”

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาต้องเข้าไปคลุกวงในร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจกับตัวเลข สถิติ ตลอดจนระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีการเบิกจ่าย (เคลม) งบประมาณจากกองทุนสุขภาพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกองทุนบัตรทอง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้สิทธินี้

เงินที่เข้ามาหลักๆ ก็ต้องเป็น UC อยู่แล้ว แต่ว่าก็จะมีเงินอื่นๆ เข้ามาด้วย กลุ่มกรมบัญชีกลาง กลุ่มข้าราชการ ประกันสังคมอะไรแบบนี้ แต่หลักๆ แล้วก็คือเงิน UC อยู่แล้ว หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีช่องทางที่ให้เราเก็บเรื่อยๆ ก็เก็บให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่นั้นเอง”

“เดิมเราได้เงินจากกองทุนบัตรทองประมาณปีละ 30 ล้านบาท แต่เมื่อเราปรับปรุงส่วนนี้ ทำให้สามารถเคลมเพิ่มขึ้นได้กว่า 49 ล้านบาท โดยเงินที่งอกเงยมาอีกเฉียดๆ 20 ล้านบาท หมายถึงงบประมาณที่จะถูกนำไปพัฒนาสถานพยาบาล และยกระดับการให้บริการประชาชน

นพ.ประวัติ บอกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal Coverage : UC) ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในการช่วยผู้ป่วยไม่ให้ล้มละลายจากการรักษาได้ และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพง่ายเกือบจะที่สุดของโลก

สำหรับเม็ดเงินที่ได้รับมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในแต่ละปี ก็ “เพียงพอ” คือไม่มาก-ไม่น้อยเกินไป และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีก

“ผมต้องการทำให้คนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการรักษาแบบพรีเมี่ยม ได้รับความสะดวกสบายแบบโรงพยาบาลเอกชน แต่คนไข้ไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียว นี่คือความฝันของผม”

เสกสภาพแวดล้อมใหม่ภายใน 1 สัปดาห์ สร้างศรัทธาบุคลากร-ผู้ป่วย

เมื่อห้ามเลือดได้สำเร็จ พลิกตัวเลขทางบัญชีจากสีแดงเป็นสีเขียวแล้ว “นพ.ประวัติ” จึงเริ่มต้นพัฒนาสภาพแวดล้อมภายนอกของโรงพยาบาลเป็นสิ่งแรก โดยเริ่มจากการปลูกต้นไม้ใหญ่ จัดสวน เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างซึ่งๆ หน้า

“ถ้าคนเดินเข้ามาแล้วเห็นสภาพแวดล้อมแย่ เขาก็ไม่อยากเข้า ผมจึงต้องการให้คนในชุมชนเห็นว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โรงพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลงแล้วนะ”

“ผมว่ารูปลักษณ์สำคัญ ผมต้องการอะไรที่ชุมชนรู้ว่าเรามีการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาติดภาพนี้กันมานาน ก็เลยเริ่มจากการนำคอนกรีตร้อนๆ ออกแล้วเอาสวน ต้นไม้มาลงให้เห็นเลยว่ามีอะไรเขียวๆ เพิ่มขึ้นมา ใช้คำว่าเสกขึ้นมาก็ได้เพราะใช้เวลาแค่ 1 อาทิตย์”

และก็ได้ผล-เป็นไปตามที่ “นพ.ประวัติ” ตั้งใจจริงๆ คือเกิดแรงกระเพื่อมในชุมชน มีการบอกต่อกันว่าโรงพยาบาลสวยขึ้น สบายตาขึ้น น่ามาใช้บริการมากขึ้นจริงๆ

“ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเองก็ตกใจคิดว่าเข้าโรงพยาบาลผิด ผมเป็นแอดมินในเฟซบุ๊กเพจของโรงพยาบาลด้วย ทำให้ผมได้รับฟังเสียงสะท้อนจริงๆ ทำให้เห็นเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

นพ.ประวัติ เชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจะช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน ช่วยเยียวยาหัวใจและความรู้สึกของคนทำงาน ฉะนั้นเมื่อโรงพยาบาลถูกพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น การให้บริการของบุคลากรจึงเปลี่ยนไปตาม

เมื่อภาพลักษณ์ทั้งสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล รวมไปถึงบุคลากรดูดีกว่าเก่า ประชาชนก็เริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น นอกจากผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองแล้ว ก็เริ่มมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม-ข้าราชการ เข้ามารับการรักษา หรือแม้แต่ประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ก็มีเข้ามาบ้างประปราย

ที่สุดแล้ว รายได้ของโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว

“เพียงแค่เราคิดที่จะเปลี่ยนแปลงและลงมือทำทันที แม้เริ่มจากสิ่งเล็กๆ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เล็กตาม”

สร้างวัฒนธรรมด้วยความเปลี่ยนแปลง

หลังจาก “นพ.ประวัติ” กอบกู้สถานการณ์โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยให้ขึ้นมายืนอยู่เหนือเส้นขาดทุน ความคิดของเขาก็วิ่งวนอยู่กับการพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลได้เต็มคำนิยาม ทว่าในช่วงแรกเขายังมองไม่ออกว่าจะมีเงินทุนมากน้อยเพียงใด

“ทอดผ้าป่า” นพ.ประวัติ คิด เพราะนั่นเป็นวิธีการที่จะช่วยระดมทุนที่ดี ควบคู่ไปกับการทำให้ชุมชน-ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกร่วมกันว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นของทุกคน

“เรามีตึกหลังใหม่อยู่หนึ่งหลัง แต่ขณะนั้นยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ คณะผู้บริหารก็ช่วยกันคิดว่าแล้วจะทำอย่างไรกันต่อดี ถ้าเพิ่มเตียง แต่ไม่มีคนไข้เข้ามาใช้บริการ ก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ขาดทุน เพราะทุกอย่างมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

“เราเลยคิดถึงการทอดผ้าป่าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างโรงพยาบาล และก็ตัดสินใจดำเนินการทันที ผลคือเราระดมทุนได้มากถึง 3-4 ล้านบาท เพียงพอต่อการซื้ออุปกรณ์และลงเตียงเพิ่ม”

“การตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ เราตั้งต้นมาจากอุปกรณ์ที่จะช่วยให้บริการประชาชนและก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมาสู่โรงพยาบาล จึงเริ่มจากการลงเตียงผู้ป่วยใน และเน้นไปที่อุปกรณ์สำหรับทำกายภาพบำบัด เครื่องดึงหลัง เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า

“เมื่อมีเงินเข้ามามากขึ้น เราสามารถก้าวข้ามโรงพยาบาลชุมชนไปได้ ไปได้อีกเยอะ และจะไม่อนาถาอีกต่อไป อย่างเครื่อง CT Scan โรงพยาบาลชุมชนจะมีได้ไง แต่เรามี เราทำได้ มีอะไรอีกหลายอย่างที่เราสามารถพัฒนาไปได้อีกเยอะ โดยที่เงินเท่าเดิม ประชากรเท่าเดิม”

มากไปกว่านั้น ในเมื่อประชาชนช่วยกันลงเงินทุนคนละไม้คนละมือเพื่อสร้างโรงพยาบาล “นพ.ประวัติ” จึงต้องการให้โรงพยาบาลตอบแทนกลับคืนแก่ประชาชน ในรูปของคุณภาพการให้บริการที่ดีเยี่ยมขึ้น

“ผมตัดสินใจลงทุนกับเทคโนโลยีส่งยาแบบกระสวย โดยการเดินท่อเชื่อมต่อจากห้องยาไปยังหวอดต่างๆ ทำให้สามารถส่งยาไปถึงหวอดภายใน 30-45 วินาที นอกจากผู้ป่วยในจะได้รับยาอย่างรวดเร็วแล้ว บุคลากรก็จะไม่ต้องวิ่งไป-วิ่งมา ถือเป็นการลดภาระงานและสร้างความสุขในการทำงาน พฤติกรรมของผู้ให้บริการก็ดีขึ้น พูดจากดีขึ้น ใจเย็นลง ส่วนผู้รับบริการก็เปลี่ยนไปเพราะเขามีความรู้สึกให้เกียรติสถานที่มากขึ้น

“จากที่เราเริ่มพัฒนาโรงพยาบาล เพิ่มเติมนวัตกรรมที่แปลกใหม่ ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ พอมาถึงจุดหนึ่งบุคลากรในโรงพยาบาลก็เริ่มสนุกไปกับเราด้วย เขามีความตื่นเต้นที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และเขาเองก็มีความภูมิใจว่าสิ่งที่เรามีที่อื่นไม่มี แม้จะเสียเงินไปเยอะแต่สิ่งที่ได้นั้นคุ้มค่า เจ้าหน้าที่มีความภูมิใจ เพราะไปไหนก็มีแต่คนรู้จักโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย

“ธรรมชาติของผู้นำเป็นเรื่องที่สร้างยาก สอนยาก มันจะเห็นกันเองในทุกๆ ขั้นตอน ในทุกๆ ฝีก้าวว่าเขาเป็นผู้นำจริงๆ ไม่ได้แสร้งทำ ซึ่งเราก็ทำไปพร้อมกัน เหนื่อยไปพร้อมกัน ทำให้เขาเห็นจนเขามั่นใจว่าผู้นำสามารถทำได้จริง ไม่ใช่แค่จับไม้กวาดถ่ายรูป

“เมื่อเราทำสำเร็จจริงอย่างที่เราพูด บุคลากรก็เริ่มเกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา การทำงานก็จะยิ่งมีความลื่นไหล”

นพ.ประวัติ บอกว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัวและเกินความคาดหวังของผู้คน ภาพในหัวในจังหวะก้าวถัดไปก็คือการทำให้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเป็นเหมือนโรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง อุปกรณ์ เครื่องมือ สถานที่

“อันนี้คือทิศทางที่จะไป เจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้ว่าเราจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการฟรี”

“ที่นี่มีคนมาดูงานเยอะโดยเฉพาะช่วงก่อนโควิด ไม่ใช่แค่ฝั่งสาธารณสุข บริษัทเอกชน โรงพยาบาลเอกชนก็มาแทบจะครบแล้ว เพื่อมาดูว่าโรงพยาบาลรัฐมีการเปลี่ยนแปลง”  

มาโรงพยาบาลจะไม่ต้องรอนานอีกต่อไป

นอกเหนือจากการลงทุนด้านโครงสร้างดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น สิ่งที่ “นพ.ประวัติ” ให้ความสำคัญมากกว่า คือ “จิตใจในการให้บริการ”

การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการให้บริการในช่วงแรก โดยภาพรวมแล้วสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเพียง 4 นาทีเท่านั้น เพราะจากสถิติที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยจัดเก็บ พบว่าตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนรับยากลับบ้าน ผู้ป่วยต้องใช้เวลาเฉลี่ย 94 นาที แต่เมื่อมีเทคโนโลยีหนุนเสริม ทำให้การรับบริการเหลือ 90 นาที

แน่นอน สำหรับ นพ.ประวัติแล้ว นั่นยังนานอยู่

“คนทั่วไปมองว่าการที่เรานำเทคโนโลยีมาช่วยมันทำให้ลดระยะเวลาการรอคอยได้จริง แต่ผมทำให้เห็นเลยว่ามันไม่ได้ลด ลดไปนิดเดียว แต่ลงทุนไปเยอะมาก ลงทุนกับระบบไปเยอะมาก ไอทีไม่ใช่ทุกอย่าง ไม่ใช่ทุกคำตอบ ไม่ใช่พระเจ้าที่จะทำให้ระบบดีขึ้น

“เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งทีเข้ามาช่วยให้การทำงานดีขึ้น แต่หลักๆ ก็ต้องเป็นคนอยู่ ต่อให้มีเครื่องมือที่ดี แต่ถ้าคนไม่เปลี่ยนก็จบ”

นั่นทำให้ “นพ.ประวัติ” และคณะผู้บริหารต้องกลับมาช่วยกันวิเคราะห์ดูว่า ในเวลา 94 นาทีนั้น มีคอขวดหรือเกิดการกระจุกตัวอยู่ตรงไหน ขั้นตอนใดบ้างที่สามารถทำให้รวดเร็วขึ้นได้บ้าง

“เวลาที่มีคุณค่า เช่น การรักษา การให้คำปรึกษา ก็ต้องคงไว้ เวลาที่ไม่มีประโยชน์ก็ต้องตัดทิ้ง สุดท้ายแล้วเราก็ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า ที่ผ่านมาบุคลากรจะเข้างานพร้อมกัน-เลิกงานพร้อมกัน นั่นเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต้องมารักษาพร้อมๆ กัน รับยาพร้อมๆ กัน จนเกิดความแออัด-ล่าช้า

“เราไม่จำเป็นต้องมา หรือตรวจ กินข้าวพร้อมกันก็ได้ ก็เลยเป็นที่มาของการเหลื่อมเวลาเพื่อให้เวลามากขึ้น กระจายคนได้มากขึ้น”

เมื่อเป็นเช่นนั้น นพ.ประวัติ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนการให้บริการใหม่ทันที ด้วยการจัดเวรการทำงานของบุคลากรให้ “เหลื่อม” กัน โดยให้แพทย์เริ่มตรวจตั้งแต่ 07.30 น. และให้เลิกงานไวขึ้น เพื่อยืดเวลาในการให้บริการของโรงพยาบาลให้ยาวขึ้น

“ผมก็ไปคุยกับแพทย์ก่อนว่าเอาไหม ลองไหม ลองกับผมหน่อยไหม ถ้าแพทย์ตกลง ก็ไปคุยกับพยาบาล เวรเปล ห้องยา ห้องแล็บว่าเห็นด้วยหรือไม่ ตอนนั้นใช้เวลาพูดคุยราว 15 นาที เมื่อเห็นว่าทุกคนตกลงจึงได้เริ่มนโยบายใหม่ในสัปดาห์หน้าเลย สุดท้ายเราลดระยะเวลาจาก 90 นาที เหลือเพียง 30 นาทีได้สำเร็จ

“บุคลากรดูเหมือนจะเหนื่อยมากขึ้น แต่ผมทำให้เขาไม่เหนื่อยมากขึ้น คนมาก่อนกลับก่อน คนมาหลังกลับหลัง นับเวลาการทำงานเท่ากัน ให้บริการยาวตั้งแต่ 7 โมงครึ่งถึง 4 โมงเย็น แต่คนไข้จะไม่รู้เลยว่าเราเปลี่ยนคนทำงานแล้ว

ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่ทำควบคู่ไปกับการยืดเวลาแล้ว โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยยังมีการเปิดคลินิกนอกเวลาเพิ่มอีก และขยายการให้บริการคลินิกนอกเวลาไปจนถึง 20.00 น. ซึ่งตรงนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย แต่ก็ช่วยลดความหนาแน่นของโรงพยาบาลไปได้มากทีเดียว

ที่สุดแล้ว ผลจากการจัดเวรเหลื่อมและเพิ่มเวลาคลินิกนอกเวลา ทำให้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยสามารถให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) ได้มากถึง 12 ชั่วโมง คือตั้งแต่ 07.30 น. ไปจนถึง 20.00 น.

“คุณมาเวลาไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นคนก็ไม่กระจุก คอขวดก็จะหายไป ทีนี้ก็เลยการันตีได้ว่าใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็สามารถกลับบ้านได้แล้ว”

คนต่างจังหวัดต้องไม่ใช่คนที่โชคร้าย

นพ.ประวัติ เล่าให้ “The Coverage” ฟังต่อไปว่า อุปสรรคใหญ่ที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยต้องเผชิญคือเรื่องกรอบการจ้างงานของบุคลากร เช่น พยาบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดเอาไว้ว่าให้มีได้ 36 คน แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลต้องการเพิ่มมากกว่านั้น

ในเมื่อไม่สามารถขอเพิ่มได้ “นพ.ประวัติ” จึงคิดถึงการจ้างพยาบาลจากภายนอกเข้ามาช่วยเพื่อให้การให้บริการดำเนินไปได้โดยไม่กระทบต่อผู้ป่วย

“พยาบาลเขากำหนดให้มีแค่ 36 คน แต่เราต้องการคนมากกว่านี้ ก็ต้องใช่วิธีจ้าง ดึงคนเข้ามา เพราะอัตรากำลังเราได้แค่นี้แต่เรามีเงิน เราขอคนเพิ่มไม่ได้แต่เรามีเงินไปจ้างเขาได้”

นอกจากนี้ ส่วนตัวคิดว่า “ระบบร่วมจ่าย” นั้นจะสามารถทำให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นกรณีของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยเอง จะมีห้องสำหรับผู้ป่วยในที่สามารถให้ผู้ป่วยเลือกจ่ายได้ตั้งแต่ 100 300 และ 900 บาท ซึ่งเงินที่ได้จากในส่วนนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลต่อไป แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีระบบที่ฟรี และมีมาตรฐานรองรับเช่นเดิม

คนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโดนค้ากำไร นี่คือสิ่งที่สุดยอด และคุ้มค่ามาก ถ้าไม่มีเงิน เขาก็ยังได้รับบริการที่ฟรีที่ดีมีคุณภาพ โรงพยาบาลที่อื่นใช้เวลาร่วมปีว่าจะตามผมทัน หมายถึงถ้าผมหยุดอยู่นิ่ง” นพ.ประวัติ กล่าว 

นพ.ประวัติ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยยังมีพื้นที่รกร้างภายในโรงพยาบาล จึงได้ทำการชักชวนบุคลากรมาร่วมกันปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา และวัว ในเวลาหลังเลิกงาน นอกจากจะเป็นการพักผ่อนแล้ว ผลผลิตยังสามารถนำไปปรุงอาหารให้ผู้ป่วย และสามารถสร้างรายได้ให้โรงพยาบาลได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการวางแผนในการสร้างลานกีฬา เช่นสนามบอลหญ้าเทียม สนามบาสเก็ตบอล เพื่อเป็นศูนย์กลางให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ซึ่งการสร้างลานกีฬานั้นก็เป็นหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

แม้ว่า “นพ.ประวัติ” จะอยู่ที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยมาร่วม 20 ปี พัฒนาโรงพยาบาลจนเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ทว่าความคิดที่ “อยากจะพัฒนาต่อไป” ก็ยังไม่ได้หายไปไหน

“ผมไม่อยากทำให้คนต่างจังหวัดรู้สึกว่า โชคร้ายที่เกิดในต่างจังหวัด สถานบริการก็ห่วย ซึ่งเราอยากให้เขาได้รับบริการที่ดี และไม่ได้ด้อยไปกว่าคนในเมือง” นพ.ประวัติ ระบุ