ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นายก อบจ.กาญจนบุรี’ เผย เตรียมตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยจิตเภท-สุขภาพจิตให้กับประชาชนครบวงจร ย้ำไม่ทับซ้อน ‘มินิธัญญารักษ์’ เชื่อช่วยลดภาระงานจิตแพทย์ได้ด้วย ชี้ผู้ป่วยจิตเภทเป็นปัญหาทางสังคม ท้องถิ่นต้องมาเป็นเจ้าภาพ เผยหากทำเสร็จ จะเป็นที่แรกของประเทศที่ อบจ. จัดการเองทั้งหมด 


นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (อบจ.กาญจนบุรี) เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า อบจ.กาญจนบุรี เตรียมตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท รวมถึงผู้ป่วยจิตเภทที่มีสาเหตุจากยาเสพติด โดยตั้งใจจะจัดตั้งเป็นศูนย์ที่ดูแลอย่างครบวงจร เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการดูแลอย่างเป็นระบบ เพราะหน่วยงานแต่ละแห่งไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งฝ่ายตำรวจ หรือแม้กระทั่งฝ่ายปกครอง ซึ่งผู้ป่วยจิตเภทหากไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง รวมถึงปล่อยให้ใช้ชีวิตตามปกติร่วมกับผู้อื่นในสังคม ก็มีโอกาสเสี่ยงในการที่จะไปก่อความรุนแรงเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพจิต ทั้งความรุนแรงต่อครอบครัว และชุมชน ซึ่งมีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันตามมาได้ 

"เป็นอีกหนึ่งบทบาทของ อบจ. ที่จะเข้าไปดูแลผู้ป่วยจิตเภท โดยตั้งใจตั้งเป็นศูนย์ดูแลขึ้นมา โดย อบจ.จะรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณทั้งหมด แต่การทำงานจะประสานกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ ในการเข้ามาช่วยกระบวนการบำบัดดูแล และประเมินอาการของผู้ป่วย หากกลับคืนสู่สังคมได้ ก็จะให้กลับไป แต่หากกลับไปไม่ได้ หรือว่าครอบครัว ชุมชน ไม่ต้องการ เพราะหวาดระแวง อบจ.กาญจนบุรี ก็จะดูแลไปตลอดชีวิตให้" นายก อบจ.กาญจนบุรี กล่าว 

นพ.ประวัติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยจิตเภทของศูนย์ จะไม่เป็นการซ้ำซ้อนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะจัดตั้งศูนย์มินิธัญญารักษ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่คิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ท้องถิ่นอย่าง อบจ. ได้เข้าไปหนุนเสริมการทำงานด้านสุขภาพจิตให้กับประชาชนด้วย

อีกทั้งยังมองว่าศักยภาพของ สธ. อาจไม่มากพอที่จะดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด ทั้งในด้านงบประมาณ และกำลังคน รวมถึงหากปล่อยให้เป็นความเป็นรับผิดชอบของ สธ. ฝ่ายเดียว ก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ปัญหาผู้ป่วยจิตเภทในแต่ละพื้นที่ ท้องถิ่นก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยด้วย ถึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะท้องถิ่นต้องมีหน้าที่ดูแลประชากรของตัวเอง 

นพ.ประวัติ กล่าวอีกว่า โครงการตั้งศูนย์ดังกล่าวยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้ร่วมกับทีมงานขับเคลื่อนดำเนินการไปแล้ว ทั้งการออกไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง และกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งหากทำได้สำเร็จ อบจ.กาญจนบุรี จะเป็นแห่งแรกของประเทศ ที่ท้องถิ่นมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยจิตเภท และผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ได้อย่างครบวงจร 

"อีกด้านหากเราทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการกดดันให้กับ อบจ. ที่อื่นๆ ได้ทำตามด้วย เพราะเขาจะเห็นว่าได้ประโยชน์ต่อสังคม และทำให้ครอบครัวของผู้ป่วย และชุมชนในสังคม ได้วางใจว่ามีท้องถิ่นดูผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นพ.ประวัติ กล่าว