ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นายก อบจ.กาญจน์’ เผยการทำ Cup Split อาจไม่ได้ประโยชน์ เลือกใช้กลไก ‘กสพ.’ เข้ามายกระดับ รพ.สต. ถ่ายโอน ตกลงกันช่วยไหลงบเข้า รพ.สต. มากขึ้น พร้อมเกลี่ยหมอ-พยาบาล-หมอฟัน ไปพื้นที่จำเป็น ส่วนค่าตอบแทน อบจ. จะตามจ่ายให้ 


นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (อบจ.กาญจนบุรี) เปิดเผยกับ "The Coverage" ถึงประเด็นการยกระดับ รพ.สต. หลังถ่ายโอน เพื่อทำ 'CUP Split' หรือการแยกตัวจากเครือข่ายบริการสุขภาพเดิม ไปสร้างเครือข่ายบริการใหม่ ว่า สำหรับ อบจ.กาญจนบุรี มองว่า การให้ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนพัฒนาเป็น Cup Split นั้นอาจไม่เป็นประโยชน์กับพื้นที่ เพราะจะเป็นการทำงานแยกส่วนกันระหว่าง อบจ.กาญจนบุรี และหน่วยบริการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงสาธาณณสุข (สธ.) 

อีกทั้งแม้ข้อดีของการทำ Cip split คือ รพ.สต.จะได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการสุขภาพปฐมภูมิโดยตรงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่งบประมาณส่วนใหญ่ที่ได้มา ก็จะถูกใช้ไปเป็นค่าจ้างให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เงินเดือนเจ้าหน้าที่ รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับบริหารจัดการหน่วยบริการ ทำให้งบประมาณในการเอาไปใช้กับการบริการสุขภาพอาจไม่เพียงพอ

ดังนั้น กระบวนการยกระดับ รพ.สต. ของ อบจ.กาญจนบุรี จึงได้เลือกดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ที่มีตัวแทนท้องถิ่น คือ อบจ.กาญจนบุรี ภาคปกครอง หน่วยบริการ โรงพยาบาลแม่ข่ายในสังกัด สธ. และภาคประชาชนในพื้นที่ เข้ามาบริหารจัดการร่วมกันผ่านรูปแบบคณะกรรมการ ทั้งในเรื่องงบประมาณ กำลังคน และปริมาณงาน โดยเป็นการบริหารจัดการร่วมกันใหม่ในลักษณะทีมเดียวกัน เพื่อให้การบริการสุขภาพปฐมภูมิของ รพ.สต. หลังถ่ายโอน มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนมากขึ้น

นพ.ประวัติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโมเดลการใช้กลไก กสพ. ของ อบจ.กาญจนบุรี นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการงบประมาณ และกำลังคน (บุคลากรทางการแพทย์) ที่เป็นปัจจัยสำคัญ โดยในส่วนเงินงบประมาณที่จะอยู่กับโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา (โรงพยาบาลจังหวัด) จะมีการไหลงบประมาณไปยังโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และส่งต่อไปยัง รพ.สต. ที่เป็นโรงพยาบาลลูกข่ายให้มากขึ้น เพื่อให้ รพ.สต. สามารถใช้งบประมาณส่วนนี้ไปบริหารจัดการ และพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ 

ขณะที่ด้านกำลังคน บุคลากรทางการแพทย์ที่เคยทำหน้าที่อยู่เดิมนั้น จะมีภาระงานที่ลดลง หลังมีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. แต่ปริมาณกำลังคนยังเท่าเดิม ก็จะประสานขอให้มีการเกลี่ยบุคลากรที่จำเป็น คือ แพทย์ พยาบาล และทันตแพทย์ ที่ไม่ได้ถ่ายโอน และอยู่ในสังกัดของ สธ. สลับหมุนเวียนเข้าไปให้บริการสุขภาพกับประชาชนใน รพ.สต. แต่ละแห่ง ตามความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งในส่วนค่าตอบแทน อบจ.กาญจนบุรี จะรับผิดชอบจ่ายให้ตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงมหาดไทย (มท.)

“กสพ. มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้วที่จะบริการจัดการเรื่องสุขภาพในพื้นที่ และทำได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ผมมองว่าเป็นเครื่องมือที่ดีอย่างมากสำหรับ อบจ. ที่รับการถ่ายโอน รพ.สต. เพราะจะช่วยให้การบริการสุขภาพของประชาชนมีความต่อเนื่อง และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่เท่าเดิม แต่สร้างความแตกต่างที่ดีกว่าเดิมได้

"การยกระดับ รพ.สต. เป็น Cup Split อาจเหมาะสมกับบริบทในบางพื้นที่ เช่น อบจ. บางแห่งอาจมีโรงเรียนแพทย์อยู่ในพื้นที่ ซึ่งก็จะช่วยให้หมุนเวียนบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นได้ แต่สำหรับ อบจ.กาญจนบุรี ก็เลือกเอาโมเดลที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละพื้นที่จะใช้กลไกใดเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งมองว่าเป็นสเน่ห์ของการกระจายอำนาจ" นายก อบจ.กาญจนบุรี กล่าว 

นพ.ประวัติ กล่าวอีกว่า หลังรับถ่ายโอน รพ.สต. มี อบจ. หลายแห่งที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องบุคลากรทางการแพทย์เองได้ รวมถึง อบจ.กาญจนบุรี ก็เช่นกัน สาเหตุเพราะ อบจ. ไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาแค่ 1-2 ปี รวมถึงเมื่อมีการผลิตแพทย์ผลิตออกมาก็ต้องมาแบ่งสัดส่วนกันระหว่าง อบจ. หรือ สธ. อีก แต่หากใช้กลไกของ กสพ. บริหารจัดการ ในอนาคตหากมีกำลังบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมก็จะได้วางแผนร่วมกัน ผ่านความร่วมมือที่เคยมีกันมา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ได้มามีให้ประโยชน์สูงสุด 

"เราจะร่วมกัน (อบจ.กาญจนบุรี และ สธ.) จะไม่แยกจากกัน เพราะงานสุขภาพปฐมภูมิของ จ.กาญจนบุรี ปริมาณคนก็เท่าเดิม งบประมาณก็เท่าเดิม ประชากรที่ต้องดูแลก็เท่าเดิม แต่เราใช้วิธีความร่วมมือระหว่างกันให้เข้ามาร่วมบริหารจัดการ และทำงานด้วยกัน เพราะ อบจ. เข้าไปจัดการลำพังในระยะสั้นไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์" นพ.ประวัติ กล่าวย้ำ