ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนจาก ‘โรงพยาบาลเอกชน’ แห่งหนึ่ง เผย สถานการณ์ ‘ยาโอเซลทามิเวียร์’ สำหรับเด็กเล็กยังพอมี ไม่ขาดจนเป็นปัญหาหนัก เบื้องต้นเร่งประสาน อภ. ขอซื้อเพิ่มรองรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ คาด ยาสำหรับใช้ในผู้ใหญ่มาต้นเดือนหน้า 


แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในโรงพยาบาลเอกชนตอนหนึ่งว่า สำหรับยาโอเซลทามิเวียร์นั้นมีหลายขนาด และมิลลิกรัม โดยในขณะนี้ยาที่ใช้สำหรับเด็กเล็กยังพอมีอยู่บางส่วน ซึ่งในโรงพยาบาลที่เริ่มรู้ว่าจะยาจะขาดแคลน เนื่องจากมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ก็ได้มีการประสานไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้ว ส่วนในโรงพยาบาลบางแห่งที่อาจจะไม่ได้เตรียมไว้ก็อาจจะมีปัญหาเล็กน้อย 

“ตอนนั้นก็ได้มีการให้หัวหน้าเภสัชกรประสานไปที่ อภ. แล้ว ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่ายาสำหรับเด็กยังมีพอสั่งซื้อได้ ส่วนสำหรับของผู้ใหญ่จะเข้ามาอีกครั้งในช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้ ตอนนี้ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องใช้ 2 เม็ดของเด็ก” แหล่งข่าวระบุ 

สำหรับสถานการณ์ของฝั่งโรงพยาบาลภาครัฐในขณะนี้ พบว่ายาโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้สำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงพยาบาลบางแห่งในหลายพื้นที่เริ่มมีการขาดคราว (หมายถึงยาที่เคยมีใช้ปกติขาดชั่วคราวเนื่องจากปัญหาการผลิตหรือผลิตไม่ทันตามความต้องการ) ทำให้ต้องมีการนำยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มาใช้ทดแทน 

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า กบรส. ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลในบางพื้นที่ว่าเริ่มมีการขาดคราวยาโอเซลทามิเวียร์ และได้มีการประสานไปยังผู้ตรวจราชการ สธ. ในเขตสุขภาพที่ขาดแคลน ให้หยิบยืมยากันในพื้นที่เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในพื้นที่ระหว่างนี้ก่อน 

นอกจากนี้ ให้มีการทบทวนการจ่ายยา รวมถึงยาที่ใช้ทดแทน เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ลงทะเบียนเป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ตามแนวทางปฏิบัติ ซึ่งก็ได้มีการแจ้งข้อมูลไปทางพื้นที่แล้ว 

ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ อภ. เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า แนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้น อภ.จะบริหารจัดการสายการผลิต โดยเน้นไปที่ยาขนาด 30 และ 45 มิลลิกรัม สำหรับเด็กเป็นก่อน โดยกลุ่มนี้จะสามารถส่งยาให้กับหน่วยบริการได้ภายในวันที่ 4 ต.ค. 2566 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 10 ต.ค. นี้ 

อย่างไรก็ดี สาเหตุการขาดคราวยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ใช่เพราะขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิต แต่เป็นเพราะ ‘สายการผลิต’  ซึ่งปัจจุบันยังมีวัตถุดิบสต็อกที่เตรียมผลิตอยู่อีกประมาณ 2.8 ตัน แต่ปัญหาเกิดจากการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการยาสูงขึ้นตาม