ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ‘โอเซลทามิเวียร์’ แต่ทว่ายาดังกล่าวกำลังขาดแคลนในหลายโรงพยาบาล

ช่วงเช้าของวันที่ 29 ก.ย. 2566 “The coverage” ต่อสายตรงไปถึง พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อฉายภาพสถานการณ์ และทำความเข้าใจขนาดของปัญหาตามสภาพความเป็นจริง

‘พญ.มิ่งขวัญ’ ให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า สาเหตุการขาดคราวยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ใช่เพราะขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับการผลิต แต่เป็นเพราะมีความจำเป็นใช้อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าที่คาดการณ์  และได้มีการปรับเพิ่ม ‘สายการผลิต’ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่

ผอ.องค์การเภสัชกรรม อธิบายว่า ปัจจุบันยังมีวัตถุดิบสต็อกที่เตรียมผลิตอยู่อีกประมาณ 2.8 ตัน แต่ปัญหาเกิดจากการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการยาสูงขึ้นตาม 

“ปัญหาอยู่ที่สายการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ ทำให้ความต้องการยาพุ่งสูงขึ้นไปถึง 4 เท่า ทำให้ตอนนี้ทางองค์การเภสัชกรรมได้เร่งส่งยาโอเซลทามิเวียร์ที่มีอยู่ในคลังออกไปจนหมดแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา  ในขณะนี้ได้เร่งการผลิตให้ทันต่อความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอย่างเร็วที่สุด” พญ.มิ่งขวัญ ระบุ

3

วัตถุดิบพอสำหรับ 2.6 ล้านคน

พญ.มิ่งขวัญอธิบายว่า วัตถุดิบในสต็อกปัจจุบันสามารถผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ ได้ประมาณ 26 ล้านแคปซูล ครอบคลุมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ 30 มิลลิกรัม 45 มิลลิกรัม และ 75 มิลลิกรัม ซึ่งจะสามารถดูแลประชากรได้ประมาณ 2.6 ล้านคน

เพราะผู้ป่วย 1 คน จะต้องใช้ยาประมาณ 10 แคปซูลเพื่อการรักษา ส่วนขนาดยาจะแปรผันไปตามความรุนแรงของอาการและน้ำหนักตัว ส่วนใหญ่เด็กจะใช้ขนาด 30 และ 45 มิลลิกรัม ขณะที่ผู้ใหญ่จะใช้ 75 มิลลิกรัม

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในเบื้องต้น อภ.จะบริหารจัดการสายการผลิต โดยเน้นไปที่ยาขนาด 30 และ 45 มิลลิกรัม สำหรับเด็กเป็นก่อน โดยกลุ่มนี้จะสามารถส่งยาให้กับหน่วยบริการได้ภายในวันที่ 4 ต.ค. 2566 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 10 ต.ค. นี้ 

ส่วนยาขนาด 75 มิลลิกรัม ที่ใช้ในผู้ใหญ่ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งให้กับหน่วยบริการได้ภายในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน แต่จะเป็นการทยอยส่งให้ทุกๆ 3 วัน ตามสายการผลิตยา และคาดว่าจะเคลียร์ Back Order ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน 

พญ.มิ่งขวัญ อธิบายต่อไปว่า ส่วนประเด็นที่มีการแนะนำให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แทนนั้น ในทางคลินิกและประสิทธิภาพก็สามารถใช้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ปัจจุบัน ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยา Second Line Drugs สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ 

สต็อก ฟาวิพิราเวียร์ ดูแลได้อีก 3.2 หมื่นคน

นั่นทำให้ อภ. ยื่นเรื่องไปยังอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาเงื่อนไขเพิ่มเติมให้หน่วยบริการสามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ เพื่อทำให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพได้

"แต่ไม่ใช่ว่าต้องรอให้ยาฟาวิฯ ไปอยู่ในบัญชียาหลักเพื่อใช้กับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก่อน หมอถึงจะใช้กับผู้ป่วย ไม่ใช่เลย กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของเอกสารในระบบบริการสุขภาพ ไม่ได้เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ 

“เพราะแน่นอนว่า เมื่อผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรงอยู่ตรงหน้า แต่ไม่มียาโอเซลทามิเวียร์ แพทย์ก็จะพิจารณาใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยแน่นอน ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มียารักษา หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่” พญ.มิ่งขวัญ เน้นย้ำ 

สำหรับคำแนะนำการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ทดแทนในปัจจุบัน มาจากนักวิจัย นักวิชาการ รวมถึงแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งบทบาทของ อภ. มีหน้าที่ผลิตยา ส่งยา เมื่อมีการกดปุ่มออร์เดอร์ความต้องการเท่านั้น ส่วนที่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ก็ต้องรอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นคนให้คำตอบ 

ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวอีกว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ปัจจุบัน อภ. มีอยู่ในสต็อกประมาณ 1.6 ล้านเม็ด ครอบคลุมประชากรได้ประมาณ 3.2 หมื่นราย เพราะผู้ป่วย 1 คนจะต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ประมาณ 50 เม็ดเพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ และขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการเพิ่มสายการผลิตอีก 8 แสนเม็ดเพิ่มเติม เหมือนกับยาโอเซลทามิเวียร์ 

หนุนตั้งศูนย์บริหาร ยาขาดคราว

พญ.มิ่งขวัญ ยังบอกด้วยว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของเภสัชกรที่เสนอให้มีการตั้งศูนย์ ‘ศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์’ ที่จะช่วยให้สามารถทำนายสถานการณ์ของโรคและมอนิเตอร์สถานการณ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศในขณะนั้นๆ ได้ 

แต่ทั้งนี้ ก็ควรเป็นระบบบริหารจัดการคลังยาแบบจุดเดียว ซึ่งจะช่วยให้วิเคราะห์ภาพรวมการใช้ยา ความต้องการยาของทั้งประเทศได้ แต่ปัจจุบัน ข้อมูลการใช้ยายังกระจัดกระจาย เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการจัดเก็บกันเอง 

นอกจากนี้ การเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคและสุขภาพ ปัจจุบันจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่คอยคาดการณ์ แต่หากกลุ่มเภสัชกรที่รวมกลุ่มกันผ่านศูนย์บริหารจัดการยา และวิเคราะห์สถานการณ์ยา ส่งสัญญาณการขาดแคลนยาได้เร็ว ก็จะเป็นอีกพลังในการแก้ปัญหายาขาดคราว หรือยาขาดแคลนในแต่ละช่วงได้ 

ขณะเดียวกัน อภ. ก็มีหน้าที่เฝ้าระวังในฐานะผู้ผลิตยา ที่ต้องมอนิเตอร์สถานการณ์ความต้องการใช้ยา และคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อผลิตยาให้สามารถรองรับกับโรค หรือการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

"ยาโอเซลทามิเวียร์เราก็เฝ้าระวังมาเช่นกัน และรู้ว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า แต่มาเจอกับการระบาดที่ทำให้ความต้องการยาเพิ่มอีกเท่าตัว ทำให้เราต้องมาเร่งการผลิตขึ้นไปเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ปกติ" พญ.มิ่งขวัญ ระบุ