ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท’ เสนอ สธ. ออกแนวทางปฏิบัติการใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ แทน ‘ยาโอเซลทามีเวียร์’ ที่กำลังขาดแคลนในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ พร้อมเสนอตั้ง ‘ศูนย์บริหารขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์’ มองภาพรวม-ทำนายสถานการณ์ 


ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท และเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ปี 2556 เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ว่า ส่วนตัวมีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมการแพทย์ ออกแนวทาง-แนวปฏิบัติ-คำแนะนำ เพื่อใช้ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ (Favipiravir) ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

ทั้งนี้ ปัจจุบันแพทย์และเภสัชกรใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อย่างระมัดระวัง และเท่าที่มีการหาข้อมูลการใช้ยาภายใต้ข้อจำกัด พบว่าจะใช้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่มีเคสผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยเด็กเข้ามา และยาโอเซลทามิเวียร์กำลังขาดแคลน ก็จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แบบระมัดระวัง

ภญ.ศิริพร กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งข้อเสนอคือ อยากให้มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์’ ที่จะช่วยให้สามารถทำนายสถานการณ์ของโรคและมอนิเตอร์สถานการณ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศในขณะนั้นๆ ได้ อาทิ หากรู้ว่าโรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด ก็จะได้ทราบว่ามียาตัวใดที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และขณะนั้นมียาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนจัดหายาให้เพียงพอ 

ภญ.ศิริพร กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีระบบบริหารจัดการเรื่องการขาดแคลนยาได้ดีพอสมควร แต่สำหรับ ‘การขาดคราว’ ในกรณียาที่เคยใช้ได้ปกติแต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น การเกิดโรคระบาด ขาดแคลนวัตถุดิบ ฯลฯ จนทำให้สะดุดนั้น พบว่ายังไม่เคยเห็นการบริหารอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด

“เราอยากเห็นศูนย์บริหารตรงนี้ เพราะตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามี ทุกวันนี้จึงทำได้แต่ให้โรงพยาบาลบริหารการซื้อยาเอง ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็บริหารภายใต้ตัวเลขที่มี แต่เมื่อถึงเวลากลับปรากฏว่าซื้อไม่ได้ เพราะยาหมดทั้งประเทศ” ภญ.ศิริพร กล่าว

ภญ.ศิริพร กล่าวอีกว่า หากมีศูนย์บริหารการขาดคราว-ขาดแคลนฯ ในอนาคต จะช่วยทำให้เห็นว่า ณ เวลานี้มีพื้นที่ใดที่มีโรคระบาด หรือมีพื้นที่ใดที่กำลังขาดแคลนยา และสามารถบริหารยาที่อาจจะมีอยู่อย่างจำกัด ไปยังพื้นที่ที่จำเป็นหรือสถานการณ์เร่งด่วนก่อน ฉะนั้นหากมีศูนย์ตรงนี้และเห็นข้อมูลก็จะสามารถบริการจัดการภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนยาได้ แม้ขณะนี้จะมีหน่วยงานที่ทำได้ดีอยู่แล้วแต่ยังไม่มีคนที่จะมองภาพรวม และมีอำนาจตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร 

“ยาโอเซลทามิเวียร์ เป็นตัวอย่างยาในสถานการณ์เกิดโรคระบาด แต่ที่ผ่านมามีบางครั้งที่ไม่ได้เกิดโรคระบาด แต่เกิดปัญหาเรื่องหาวัตถุดิบไม่ได้ทำให้ผลิตยาไม่ได้ หรือในบางครั้งผู้แทนบริษัทยากลับเป็นคนมาบอกว่ายาตัวนี้ตัวนั้นจะขาดแคลนในอีก 2 เดือนข้างหน้า แนะให้เราซื้อตุน ซึ่งจริงๆ หากมีศูนย์นี้ หากเราได้ข้อมูลจากผู้แทนยาก็จะส่งข้อมูลนั้นเข้าไปในศูนย์ฯ เพื่อตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ข่าวลือ ถ้าเป็นข่าวจริงก็วางแผนเลยว่าจะป้องกันอย่างไร ถ้าป้องกันไม่ได้จะบรรเทาปัญหาผลกระทบอย่างไร” ภญ.ศิริพร กล่าว