ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ เปิดความสำเร็จในการปลูกถ่าย 2 อวัยวะ โดยได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ   พร้อมไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว ถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลในกรมการแพทย์ 


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะอวัยวะล้มเหลว ได้แก่ หัวใจ ปอด หรือตับ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตสูงมาก บางรายจำเป็นต้องรักษาตัวในหอผู้ป่วย ICU ซึ่งการปลูกถ่ายหัวใจ ปอดหรือตับอาจเป็นทางรอดเดียว สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายการปลูกถ่ายไตจะช่วยให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้อง และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลับมาใกล้เคียงประชากรปกติมากที่สุด

สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ซับซ้อนมากกว่า 1 อวัยวะพร้อมกันให้แก่ผู้ป่วยหนึ่งราย จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างทีมสหสาขาในการเตรียมผู้ป่วยก่อนรับอวัยวะ ทีมช่วยผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 8-10 ชั่วโมง และทีมดูแลหลังผ่าตัดเพื่อให้อวัยวะปลูกถ่ายทำงานได้ดีที่สุดและป้องการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งต้องตรวจติดตามไปตลอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว

1

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลราชวิถีได้เริ่มดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นโรงพยาบาลแรกในประเทศไทยที่มีการผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2532 ซึ่งได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและปอดพร้อมกันเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย และดำเนินการปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไตมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว จำนวน 471 ราย แบ่งเป็น การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ จำนวน 56 ราย การผ่าตัดปลูกถ่ายไต จำนวน 373 ราย และการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจำนวน 42  ราย 

ด้าน นพ.วรพจน์ ชุณหคล้าย ประธานศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่าย 2 อวัยวะคือตับพร้อมไต ในผู้ป่วยหญิงอายุ 54 ปี ผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับอวัยวะตั้งแต่เดือน กันยายน พ.ศ. 2566 จนได้รับการแจ้งจากพยาบาลผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะว่ามีผู้บริจาคอวัยวะที่มีความเข้ากันได้ ทีมแพทย์จึงได้ทำการผ่าตัดนำตับและไตบางส่วนออกและปลูกถ่ายตับและไตให้กับผู้ป่วยใหม่ ซึ่งถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลในกรมการแพทย์ ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดมากกว่า 12 ชั่วโมง 

4

ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีระหว่าง ทีมผ่าตัดนำอวัยวะออก นำโดย พญ.วิภาวี ทีมปลูกถ่ายตับ นำโดย นพ.สมบูรณ์ นพ.สอาด นพ.ภาสุ นพ.กิตติพงศ์ ทีมผ่าตัดปลูกถ่ายไต นำโดย นพ.วรพจน์ นพ.ณัฐพงศ์ นพ.ชววรรธน์ ทีมแพทย์อายุรกรรมทางเดินอาหาร นำโดย นพ.เฉลิมรัฐ และทีมแพทย์อายุรกรรมโรคไต นำโดย พญ.กรทิพย์ รวมทั้ง ทีมพยาบาลผู้ประสานงานการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลราชวิถี เจ้าหน้าที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย 

ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริจาคอวัยวะและครอบครัวที่ร่วมสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นการสร้างประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาตัวต่อที่หอผู้ป่วย ICU ศัลยกรรม เพื่อพักฟื้นและเคลื่อนย้ายไปยังหอผู้ป่วยปลูกก่ายอวัยวะ โดยเบื้องต้นอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายทำงานได้ดี ในการนี้ โรงพยาบาลราชวิถีขอเชิญชวนร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเพื่อมอบให้แก่เพื่อนมนุษย์