ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากสถิติ ข้อมูลผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ คดี พ.ร.บ. ยาเสพติดทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2566 พบว่ามีจำนวนผู้ต้องที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวมทุกประเภท จำนวน 206,361 ราย ขณะนี้ที่เดือนตุลาคมในปีเดียวกันนี้มีจำนวน 204,187 ราย 

แม้ว่าจะมีกฎหมายปราบปรามยาเสพติดที่ทุกภาคส่วนกำลังเอาจริงเอาจัง แต่ทว่าเมื่อแยกตามลักษณะคดี อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด วันที่ 6 พ.ย. 2566 ก็ยังพบว่า “ยาเสพติด” ครองสัดส่วนผู้ต้องขัง 204,313 คน เมื่อเทียบกับ “คดีทั่วไป” ที่มีจำนวน 69,732 คน

เมื่อยาเสพติดยังเป็นภัยคุกคามสังคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จึงได้ประกาศแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ปักธงให้เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี 

การแก้ไขยาเสพติด ทางหนึ่งคือการปราบปราม แต่ในอีกมุมที่หลายประเทศดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมคือการ “มองผู้เสพเป็นผู้ป่วยและดึงออกมาสู่การบำบัด” ซึ่งก็เป็นแนวทางที่บรรจุอยู่ในประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่ระบุถึงการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ตามหลักการสันนิษฐาน 

สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ที่ประกาศ “Quick Win” เตรียมจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดภาย 100 วันแรก หรือภายในเดือนธันวาคม ปี 2566 นี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใกล้บ้าน เข้าถึงได้ง่าย สำหรับนโยบายหลักของ สธ. จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน มีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 

1. จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะกลางถึงระยะยาวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

2. มีหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 76.32 ของจังหวัดทั่วประเทศ

3. มีกลุ่มงานจิตเวชยาเสพติดทุกรพ. ระดับอำเภอ ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชยาเสพติด เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานเฉพาะด้านยาเสพติดและจิตเวชแล้ว 626 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.67 ที่เหลืออีก 150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ

“มินิธัญญารักษ์” ที่จะกระจายตัวในทุกจังหวัดทั่วประเทศถือเป็น ‘ช่องทาง’ ในการบำบัด ฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ป่วย (หรือผู้เสพยาเสพติด) ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ไม่สร้างผลกระทบต่อสังคม  

“The Coverage” จึงพาทุกคนมาพูดคุยกับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะแม่งานหลักของกลไกนี้

4

เชื่อมร้อย ‘มินิธัญญารักษ์’ กับ ‘รพศ./รพท.’

หลายคนคงทราบดีว่า ‘ยาเสพติด’ มีความสัมพันธ์กับอาการทางจิตเวช และผู้ป่วยจิตเวชจำนวนไม่น้อยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดจำเป็นต้องรับการรักษาและบำบัด 

พญ.อัมพร เล่าว่า ที่ผ่านมามีการยกระดับหน่วยบริการ โดยจัดตั้ง “หอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด” ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อม เพื่อให้สามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉิน เช่น คลุ้มคลั่ง ควบคุมไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ให้เข้าสู่กระบวนรักษาทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ความพร้อมของยา แพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยยึดหลักผู้เสพเป็นผู้ป่วย

รวมถึงการจัดตั้ง “กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด” ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยกลุ่มงานนี้ จะทำงานเฉพาะในด้านการดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด เชื่อมต่อการทำงานกับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อำเภอ) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ  

“ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างครบถ้วนแล้วในทุกจังหวัด เหลือเพียงบางแห่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนกระบวนการจัดตั้ง การประเมิน พัฒนาให้มีคุณภาพและลงตัวมากที่สุด” พญ.อัมพร อธิบาย

พญ.อัมพร อธิบายต่อไปว่า แน่นอนว่าการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดไม่ใช่แค่รักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาด เพราะส่วนใหญ่มักกลับมาเสพติดใหม่อีกครั้ง ในทางการแพทย์เรียกว่า “โรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นซ้ำได้” ฉะนั้นการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต จึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบำบัดรักษา

“ผู้ป่วยยาเสพติดหลายรายต้องการการดูแลในระยะยาว เพราะปัญหาการใช้ยาเสพติดมักจะมีปัญหาอื่นหนุนนำ เช่น ปัญหาสุขภาพจิต พื้นฐานทางอารมณ์ จิตใจ การขาดที่พึ่งพิง ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลทางจิตใจ และสังคมในระยะยาวแบบ Long Term Care” พญ.อัมพร กล่าว

นั่นคือจุดเริ่มต้นของนโยบายที่สำคัญให้มี “มินิธัญญารักษ์” 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหน่วยงานของกรมการแพทย์ ที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คือสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หรือ สบยช. และมีโรงพยาบาลธัญญารักษ์อีก 6 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา และปัตตานี ซึ่งไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการบำบัดรักษา 

ดังนั้นจึงมีนโยบายให้จัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” เพื่อทำหน้าที่ให้การบำบัดรักษาอย่างครบวงจรภายในจังหวัด เข้าถึงได้ง่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ ช่วย ลดอันตรายและความรุนแรงต่อสังคม โดยเป็นการบำบัดในระยะกลาง หรือระยะยาว ตามบริบทและสภาพปัญหาของพื้นที่ 

กล่าวคือ จะปรับตัวตามสิ่งที่พื้นที่ยังขาด เช่น หากขาดแคลนเตียงในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน มินิธัญญารักษ์ อาจจะเป็นตัวเสริมที่สามารถรองรับผู้ป่วยในกลุ่มนั้นได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีขึ้นแล้วราว 30-40 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมา การดูแลผู้ป่วยยาเสพติด อย่างบางจังหวัดเช่นจังหวัดระนอง ไม่มีโรงพยาบาลธัญญารักษ์ อยู่ในพื้นที่ ผู้ป่วยที่ต้องรักษาระยะยาวจะต้องส่งตัวผู้ป่วยขึ้นมาที่ สบยช.จังหวัดปทุมธานี หรือส่งไปยังโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในจังหวัดสงขลา ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องเหมาะสม และไม่ตอบโจทย์การรักษาบำบัดรักษาในระยะยาว การมี มินิธัญญารักษ์ จะเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้” พญ.อัมพร ฉายภาพ

 ข้อมูลจาก สธ. ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้ง มินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง โดยเปิดบริการแล้ว 29 แห่งแบ่งเป็น รูปแบบ  Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยเปิดบริการไปแล้ว 42 แห่ง และจะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบ มินิธัญญารักษ์ เพิ่มครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้

ขณะนี้มินิธัญญารักษ์ที่จะเปิดเพิ่ม กรมการแพทย์เร่งตรวจเยี่ยมประเมินความพร้อมของสถานที่ กำลังคน หรือกระทั่งภาระงานที่เหมาะสม รวมทั้งสถานการณ์ความรุนแรงของพื้นที่ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างดีที่สุด 

1

ส่งคืนสุขภาพดีให้กับชุมชน

พญ.อัมพร ยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์แล้ว อย่างจังหวัดชัยภูมิ โดยอธิบายให้เห็นภาพว่า เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินด้านยาเสพติดและจิตเวช สามารถเข้ารับการรักษาภาวะฉุกเฉินที่ รพ.ใกล้ที่สุด เพื่อให้การช่วยเหลือภาวะวิกฤติจนอาการสงบแล้ว จะประสานส่งต่อไปที่โรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดให้การบำบัดรักษาระยะวิกฤติ (Acute) /กึ่งวิกฤติ (Sub acute) 

เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควบคุมพฤติกรรมได้ ไม่เอะอะอาละวาด แต่ยังมีอาการทางยาเสพติด หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการกลับไปใช้ยาซ้ำ ยังกลับบ้านไม่ได้ ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยัง มินิธัญญารักษ์ ที่โรงพยาบาลคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ เพื่อให้การบำบัดในระยะกลาง (Intermediate care) และระยะยาว (Long term care) โดยจะมีหอผู้ป่วยแยกเฉพาะ จากผู้ป่วยอื่นๆ มีแพทย์และพยาบาลที่ผ่านการอบรมความรู้เฉพาะและฝึกปฏิบัติด้านการบำบัดรักษาจากกรมการแพทย์ โดย สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตพื้นที่ 

เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นอีกระดับหนึ่งจนพร้อมจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล จะมีการประสานและเตรียมความพร้อมของครอบครัวและชุมชน ให้การติดตามดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องในชุมชน ตามรูปแบบ Community based treatment หรือ CBTx รวมทั้งการประสานการดูแลช่วยเหลือด้านสังคมร่วมกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เช่น การสงเคราะห์ช่วยเหลือ การฝึกอาชีพ หรือ การจัดหาที่อยู่อาศัย ตามสภาพปัญหาและความจำเป็นเฉพาะราย 

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลในอำเภออื่น ๆ ที่ไม่มีมินิธัญญารักษ์ก็สามารถส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ หรือ ส่งต่อไปที่มิธิธัญญารักษ์ของโรงพยาบาลคอนสวรรค์ได้ โดยกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดของโรงพยาบาลอำเภอนั้นจะเป็นผู้ประเมิน ส่งต่อ หรือประสานการดูแลในชุมชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับการบำบัดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ก็ได้ 

“ความเป็นมินิธัญญารักษ์จึงหมายถึง โรงพยาบาลชุมชน ที่สามารถให้การบำบัดฟื้นฟูอย่างครบวงจร เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่าย ประจำจังหวัด ที่รองรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูระยะกลาง หรือ ระยะยาว ในพื้นที่จังหวัด” พญ.อัมพร อธิบาย

 พญ.อัมพร อธิบายต่อไปอ่กว่า ด้วยความร่วมมือของกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิตก็จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยจะมีการจัดสรรโรงพยาบาลในเครือกรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเข้าไปสนับสนุน และเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ทำให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการได้อย่างลงตัวมากที่สุด 

ทว่า ในการดูแลลงไปในระดับปฐมภูมิซึ่งมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ส่วนหนึ่งถ่ายโอนภารกิจไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้ว่าจะมีความยากเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล หรือยา แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะเข้ามีส่วนร่วมในการเชื่อมประสานท้องถิ่นที่เป็นต้นสังกัดของ รพ.สต. และ สสจ. ให้การทำงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานจะมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด และจะมีการประมวลผลทุกเดือนเพื่อดูผลลัพธ์ และปรับปรุงกระบวนการ เพราะไม่อยากให้มองแค่มี มินิธัญญารักษ์แล้วจะจบ เพราะกระบวนการดังกล่าวเป็นการคลี่คลายปัญหาให้ได้มากกว่าเดิมเท่านั้นเรียกได้ว่า เป็น 3 ประสาน เชื่อมร้อยการดูแล ตั้งแต่ ‘มินิธัญญารักษ์-รพช.-รพศ./รพท.’ และ ‘รพ.สต.’ เพื่อคืนสุขภาพที่ดี และความสงบสุขให้กับชุมชน

4

กำลังคนไม่พอ แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้

สำหรับ “กำลังคน” ถือเป็นอีกส่วนสำคัญในการดำเนินการตามนโยบายที่ได้มีการวางเอาไว้ เมื่อถามถึงความเพียงพอของบุคลากรที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยจากยาเสพติด ‘พญ.อัมพร’ ยอมรับว่า ยังมีไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ 

เห็นได้จากหลายเรื่องที่คิดว่าทำไม่ได้เพราะบุคลากรไม่พอก็ผ่านพ้นมา อย่างในกรณีโควิดที่ผ่านมาโรงพยาบาลธัญญารักษ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยยาเสพติดก็สามารถขึ้นมาฉีดยา เปิดศูนย์เฉพาะกิจรักษาผู้ป่วยโควิดได้

ฉะนั้น ครั้งนี้จะเป็นแบบเดียวกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือกลไกการดูแลทางสังคม และจิตใจที่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้มีภาคส่วนจากท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุน และทำงานกันอย่างเต็มที่ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีจิตแพทย์ที่กระจายอยู่ทุกจังหวัด และด้วยต้นทุนทางวิชาชีพของจิตแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยจากยาเสพติดได้อยู่แล้ว ทว่าการทำงานจะใช้เฉพาะจิตแพทย์ก็ยังไม่พอ ฉะนั้นแพทย์ หรือบุคลากรในแขนงอื่นก็มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด โดยกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกันอบรมให้ความรู้ทางวิชาการที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับเขตและพื้นที่ รวมถึงโรงพยาบาลจิตเวช หรือ โรงพยาบาลธัญญารักษ์จะเข้าไปช่วยฝึกฝนให้กับแพทย์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ดูแล กระจายองค์ความรู้ต่างๆ ออกไป และยังมีระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์ของ มินิธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลเฉพาะทางร่วมด้วย 

“เราทราบว่าความตึงตัวของบุคลากรของทุกสายงานยังมี แต่ถ้าการดำเนินงานตรงนี้มีช่องว่างที่เห็นชัดว่าเป็นส่วนของบุคลากร เชื่อว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม และรวดเร็วที่สุดที่จะสามารถทำได้” พญ.อัมพร เชื่อมั่นเช่นนั้น

1

เข้าถึง-อยู่ในระบบบำบัด-เลิกยา

พญ.อัมพร กล่าวถึงหมุดหมายในการดำเนินการเอาไว้ว่า สิ่งสำคัญคือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้รับการประเมิน และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้เกิดความรุนแรง หรือสร้างอันตรายให้ผู้เสพ ครอบครัว หรือคนในชุมชน 

ฉะนั้นส่วนที่เข้ารับการรักษาก็คาดหวังว่าจะอยู่ในระบบติดตาม และระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้จะทำไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อมีการค้นหาหรือตามตัวต้องเจอ รวมถึงสามารถควบคุมการเสพติดจนหายได้ 

ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ และศึกษาผู้ที่ยังเข้าไม่เข้าถึงการบำบัดรักษา ส่วนสำคัญคือความหวาดกลัวการถูกลงโทษ ตีตรา หรือตกเป็นจำเลยสังคม ส่งผลให้ไม่กล้าปรากฏตัว และเข้ารับการบำบัด รวมถึงบางคนอาจมีความประสงค์เป็นผู้เสพ เพราะอาจจะไม่รู้ว่าสามารถรักษาได้ หรืออาจจะมีพื้นฐานจากโรคจิตเวชบางอย่าง ปัญหาด้านจิตใจที่ทำให้เลือกพึ่งยาเสพติดเป็นตัวบำบัดทุกข์ หรือบางรายมีปัญหาจากปัจจัยความอ่อนแอของครอบครัว ไร้การศึกษา ความยากจน ต่างๆ ฉะนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้แรงจูงใจเพื่อให้เข้าสู่การบำบัด รวมถึงต้องตีโจทย์ให้แตกถึงเหตุผลของการใช้สารเสพติดด้วย

“ถ้ากลุ่มนี้ถูกค้นพบ และช่วยเหลือก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ข้อสังเกตคือ กระบวนการเปลี่ยนต้องใช้พลังและเวลามากเมื่อเทียบกับการเสพยาจึงเป็นโจทย์ยาก ทำให้ต้องการหลายภาคส่วนช่วยในการค้นหา รวมถึงเป็นกำลังใจให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้” พญ.อัมพร กล่าว

พญ.อัมพร รักษาการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการแพทย์ ในฐานะกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทหน้าที่กำหนดมาตรฐานการบำบัดรักษาที่ผ่านกระบวนการวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับรองคุณภาพกระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู  การนำผู้เสพซึ่งถือเป็นผู้ป่วยให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูอย่างเหมาะสม จึงเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของกรมการแพทย์ ที่ต้องพัฒนาระบบและกลไกการดำเนินงาน รวมทั้งการจัดตั้ง มินิธัญญารักษ์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

“เราคงจะต้องใช้สรรพกำลัง และความสามารถของชาวกรมการแพทย์ ในการพัฒนาเรื่องของกระบวนการรักษาและฟื้นฟูทางการแพทย์ให้ดีที่สุด เพื่อสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากยาเสพติด” พญ.อัมพร กล่าวอย่างหนักแน่น