ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์โดยรพ.ราชวิถี ผนึกกำลังกับรพ.เครือข่าย ขับเคลื่อนการเกิดให้มีคุณภาพ รองอธิบดีฯ เผยเด็กคลอดก่อนกำหนดส่งผลกระทบต่อสังคมทุกมิติ 


กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และเครือข่ายโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการมีบุตรและเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กมีคุณภาพ กรมการแพทย์ จัดกิจกรรม วันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก (World Prematurity Day) วันที่ 17 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมี ผศ.(พิเศษ) นพ.สุเพ็ชร ทุ้ยแป หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวรายงาน เพื่อรณรงค์และให้ความรู้ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดแก่หญิงตั้งครรภ์และประชาชนทั่วไป รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ดูแลหญิงตั้งครรภ์และทารกแรกคลอด เพื่อร่วมส่งมอบเด็กคุณภาพสู่ครอบครัว

1

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ วันที่ 17 พ.ย.ของทุกปีเป็น World Prematurity Day หรือ วันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก เพื่อให้คนทั่วโลกเกิดความตระหนักและความเห็นอกเห็นใจแก่เด็กเกิดก่อนกำหนดและครอบครัว โดยในปีนี้ เป็นธีม “Small Actions, BIG IMPACT : Immediate skin-to-skin care for every baby everywhere” เพื่อเน้นย้ำการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อระหว่างมารดากับทารกตั้งแต่แรกเกิด 

ทั้งนี้ การคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกแรกคลอดเสียชีวิต ส่วนทารกที่รอดชีวิตอาจมีภาวะทุพพลภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมาได้ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบกับทารก แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

4

ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี 2563 มีจำนวนทารกที่คลอดทั้งหมด 134.7 ล้านราย โดยมีทารกคลอดก่อนกำหนด 13.4 ล้านราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 9.9 เทียบเท่ากับว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนด 1 รายในทารกที่คลอดทุกๆ 10 ราย และในปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีทารกคลอดก่อนกำหนดเสียชีวิตในช่วง 5 ขวบปีแรกประมาณ 1 ล้านรายจากผลโดยตรงของการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น การป้องกันการคลอดก่อนกำหนดจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด ปัจจุบันพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนดและตรวจพบปากมดลูกสั้นจะมีความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ควรมาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพื่อให้สูติแพทย์ตรวจคัดกรองและให้การป้องกันในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงเพื่อลดภาวะทุพพลภาพหรือการเสียชีวิตของทารกแรกคลอดลงให้ได้มากที่สุด

9

ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) พญ.เด่นนพพร สุดใจ หัวหน้างานเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการให้ความรู้เรื่องการคลอดก่อนกำหนด ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนการมีบุตรเพื่อลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด การดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และเมื่อมีภาวะคลอดก่อนกำหนดขึ้นแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร รวมทั้งการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างไร

"นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาร่วมกันทั้งสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์โรงพยาบาลราชวิถี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์และมีภาวะคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นแล้วผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไรอีกด้วย" ผศ.(พิเศษ) พญ.เด่นนพพร กล่าวตอนท้าย