ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ราชวิถี สนับสนุน “ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 แสนเม็ด” มอบ สปสช.ร่วมบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 เผย ช่วง 2 วันแรก จัดส่งยาให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 แล้ว 760 ราย เป็นจำนวนยาเกือบ 4 หมื่นเม็ด แนะประชาชนรับบริการ 2 ช่องทางหลักก่อน เจอแจกจบ ที่ รพ. /คลินิก และบริการ Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชั่น


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สปสช.ได้รับมอบนโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในการจัดระบบสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเป็นระบบเสริมในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ภายหลังจากตรวจ ATK แล้วมีผลขึ้น 2 ขีด แต่ยังไม่ได้รับบริการ ทั้งในกลุ่ม 608 และที่ไม่ใช่ 608 นั้น โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากข้อมูลการดำเนินการปรากฏว่า ในช่วง 2 วันแรกของการเปิดระบบ คือในวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2565 มีประชาชนที่ผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด โทรเข้ามายังสายด่วน สปสช.1330 เพื่อขอรับการบริการจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในกลุ่ม 608 และได้รับการประเมินตามหลักเกณฑ์แล้วว่าจำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม สปสช. ได้จัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย จำนวน 542 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 ราย รวมเป็นยาจำนวน 27,217 เม็ด และวันที่ 24 กรกฎาคม ได้จัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยอีกจำนวน 218 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 13 ราย รวมเป็นยาจำนวน 11,103 เม็ด โดยรวม 2 วัน สปสช. ได้ส่งยาให้กับผู้ป่วยแล้วทั้งหมด 760 ราย เป็นยาจำนวน 38,320 เม็ด

ด้วยจำนวนการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยกว่า 700 รายนี้ ทำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ สปสช.หมดลง ส่งผลให้เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) สปสช.ไม่สามารถจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยได้ ดังนั้น สปสช. ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติมแล้ว โดย รพ.ราชวิธี กรมการแพทย์ ได้ร่วมให้การสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 100,000 เม็ด เพื่อให้ สปสช. ดำเนินการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบบริการ

“สปสช. ขอขอบคุณ รพ.ราชวิถี ที่ร่วมสนับสนุนยา 1 แสนเม็ด เพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยกลุ่ม 608 ใน กทม.และปริมณฑลที่ยังเข้าไม่ถึงบริการนี้ ซึ่งการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโควิดที่ สปสช.ดำเนินการอยู่นี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจ่ายยาในการดูแลผู้ป่วยโควิดของกรมการแพทย์ ภายใต้การประสานความร่วมมือกับ รพ.นพรัตน์ และ รพ.เลิศสิน” เลขาธิการส สปสช. กล่าวและว่า นอกจากนี้ สปสช.ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจัดส่งยากจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดำเนินการจัดส่งภายใน 24 ชั่วโมง โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่าการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ของ สปสช. เป็นเพียงระบบที่ช่วยเสริมการบริการหลักเท่านั้น รวมถึงผู้ป่วยกลุ่ม 608 ซึ่งผู้ป่วยโควิดสามารถรับบริการผ่าน 3 ช่องทางหลักได้ ดังนี้

1.บริการที่คลินิก/โรงพยาบาล ตามสิทธิสุขภาพของตัวเอง

2.รับบริการแบบ Telemedicine ซึ่งทีมผู้ให้บริการ Telemedicine จะทำการคัดกรองเบื้องต้น หากไม่มีอาการ จะจ่ายยาแล้วติดตามอาการภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการ ผู้ให้บริการ Telehealth จะประสานส่งต่อคลินิก/โรงพยาบาลเพื่อดูแลตามแต่ละการจัดการของโรงพยาบาล

3.บริการที่ร้านยา ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว สิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม โดยรับยารักษาตามอาการ-คำแนะนำการใช้ยา (ครอบคลุมทั่วประเทศ)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ทั้งนี้ สปสช.ได้รวบรวมลิงค์ลงทะเบียนเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิดไว้ที่เว็บไซต์ สปสช. ดูรายละเอียดได้ที่ 

รวมลิงค์ลงทะเบียนรักษาโควิด-19 ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล จัดส่งยาถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย
https://www.nhso.go.th/news/3680

ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาที่ไหนได้บ้าง ?
https://www.nhso.go.th/news/3681

ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

หรือดูแผนที่ดิจิทัล ร้านยาใกล้ฉัน Nostra Map https://map.nostramap.com/NostraMap/?layer/covid19pharmacy,feed/th

1

2

3