ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เชื่อ อภ. ตั้ง ‘ศูนย์บริหารจัดการคลังยา’ วิเคราะห์สถานการณ์ยา-โรค เพื่อวางแผนการจัดการยา-เวชภัณฑ์ แก้ปัญหา ‘ยาขาดคราว-ขาดแคลน’ ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่อง


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการขาดคราวของโอเซลทามิเวียร์ เพราะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ว่า สถานการณ์ดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับปัญหาของกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนั้นได้มีการทวงถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องถึงความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะได้รับการแก้ไขเป็นครั้งๆ ไป

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการคลังยาที่มีประสิทธิภาพ น่าจะแก้ปัญหาเรื่องยาขาดคราว รวมถึงขาดแคลนได้ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะยาประเภทใดก็ตาม โดยที่ผ่านมากลุ่มเภสัชกร นักวิชาการ และเครือข่ายประชาชน เคยมีข้อเสนอเพื่อให้มีการตั้ง ‘ศูนย์บริหารจัดการยาระดับประเทศ’ โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมี อภ. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก 

ทั้งนี้ ให้มีหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์โรค เฝ้าระวัง และเตรียมยา รวมถึงเวชภัณฑ์รองรับให้เพียงพอ ตลอดจนวิเคราะห์วางแผนการจัดการคลังยาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะยาที่ต้องใช้กับผู้ป่วยต่อเนื่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะไม่มียา และเวชภัณฑ์ขาดคราว หรือขาดแคลน 

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังเคยมีการเสนอเรื่องการพัฒนา ‘ระบบบริหารจัดการคลังยา’ ที่เป็นระบบ VMI ของ อภ. เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการติดตามสถานการณ์ยา และสถานการณ์สุขภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการวางแผนการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศ รวมถึงแผนการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ทว่า ทั้ง 2 ข้อเสนอดังกล่าวในตอนนั้นก็เงียบหายไป ไม่ได้รับการดำเนินการต่อ