ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชีวิตของประชากรในประเทศอังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และสกอตแลนด์ กว่า 67 ล้านคน กำลังระส่ำ เพราะระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (National Healthcare Service: NHS) ใกล้จะพังครืนลงมา!

เมื่อบุคลากรทางการแพทย์เกือบทุกระดับในโรงพยาบาล และสถานพยาบาล ไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่รถฉุกเฉิน ฯลฯ พากันลาออกถึง 1.7 แสนคน ในปี 2565 

อันมีสาเหตุหลักมาจาก “ภาระงานหนัก” ซึ่งส่งผลต่อให้เกิดทั้ง “ความเหนื่อยล้าทางกายและความป่วยไข้ทางใจ” ชีวิตไม่มี “Work-life balance” รวมถึง “สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า” 

ต้นตอไม่ใช่อื่นใด แต่เป็น “ตัวระบบเอง” เนื่องจากสื่อเมืองผู้ดีตีข่าวพุ่งมายัง NHS ว่า อาจเป็นปัจจัยทำให้ระบบบริการสุขภาพของสหราชอาณาจักรเข้าสู่ความวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสุดท้ายผลกระทบจะตกมาอยู่ที่ “ประชาชน” ผู้รับบริการ 

“The Coverage” นั่งคุยกับ ศาสตราจารย์ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ติดตามสถานการณ์ระบบสุขภาพทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อชวนมองถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมกับสะท้อนมายังไทยว่าเราจะลงเอยแบบเดียวกันหรือไม่ 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดูแลคนไทยกว่า 47 ล้านคน ผ่านการบริหารของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้นก็มี “ต้นแบบบางส่วน” มาจาก NHS 

2

NHS พังไปแล้ว หมอออกเพียบ คนไข้ลำบากหนัก

ศาสตราจารย์ นพ.มานพ อธิบายว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับระบบ NHS ในขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่คาดไม่ถึง เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์มีการประท้วงรัฐบาลสหราชอาณาจักรมาโดยตลอด หลังต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักหนาสาหัส แต่รัฐกลับไม่มีแผนในการแก้ไขปัญหา เช่น ขยายโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมบุคลากรเข้าสู่ระบบ เพื่อทดแทนบุคลากรที่ทยอยลาออกจนเกือบถึงขั้นวิกฤต

เหล่านี้เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้หลังจากนี้บุคลากรในระบบตัดสินใจลาออกมากขึ้น จนในที่สุดกลายเป็นตัวเลขหลักแสนคนตามที่สื่อรายงานออกมา 

“ก่อนสถานการณ์โควิด-19 อังกฤษต้องรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในระบบ NHS ซึ่งภาระงานต้องมาตกอยู่กับบุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาล” เขาขยายความ “อีกทั้งแม้หลังโควิด-19 ไปแล้ว ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้ลดลง และยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยที่รอคิวอยู่ในระบบที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สวัสดิการ และรายได้ไม่สอดรับกับความเครียดที่เกิดจากงาน ส่งผลให้ตัวเลขของคนที่ลาออกจากระบบเพิ่มสูงขึ้นถึง 25% หลังสถานการณ์โควิด”

ศาสตราจารย์ นพ.มานพ บอกต่อไปว่า ที่สำคัญคือคนที่ยังอยู่ในระบบก็ต้องรับมือกับผู้ป่วยต่อไป และตัวหารที่ต้องมาช่วยทำงานน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายจะเหมือนกับโดมิโน่ที่ล้มต่อกันพังลงมา

รีดศักยภาพ เฆี่ยนหมอเหมือนม้าแข่ง

วิกฤตทั้งหมดของ NHS ที่ ศาสตราจารย์ นพ.มานพ สะท้อนออกมา เขาบอกว่านั่นเป็นเพียงปลายทางของปัญหา ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไปถึงแก่นแกนมันคือเรื่องของผู้บริหารจัดการอย่าง NHS และรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ ‘อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก’ ต่อการ ‘พัฒนา’ โครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ 

เพราะจะเห็นได้ว่าปริมาณเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยทั่วไปที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศ หรือห้องฉุกเฉินที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ผนวกกับบุคลากรการแพทย์ที่ลดน้อยลง รวมไปถึงจำนวนการเติมคนเข้าสู่ระบบสุขภาพไม่สอดรับกับสถานการณ์ 

แม้ว่าภาพภายนอกจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปจะมองมายัง NHS ว่าเป็นระบบบริการสุขภาพที่ใช้งบประมาณได้คุ้มค่า สามารถคุมงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศได้ แต่หลังฉากอีกด้านหนึ่ง คือการรีดเอาทุกอย่างของระบบ เพื่อให้การจัดบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่ต้องแลกมาก็คือภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ 

"NHS รีดศักยภาพทุกอย่างของระบบออกมาใช้ให้ได้ เหมือนกับการเฆี่ยนม้าให้วิ่ง มันก็วิ่งได้นะ แต่ระยะยาวจะวิ่งได้แค่ไหน ก็เหมือนกัน หากไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีการปรับปรุงค่าตอบแทน หรือไม่มีการขยายคุณภาพการบริการ ก็จะส่งผลต่อบุคลากรการแพทย์ ที่เป็นหัวใจของระบบบริการสุขภาพ" ศาสตราจารย์ นพ.มานพ กล่าว

เขาอธิบายต่อว่า เมื่อระบบบริการสุขภาพไม่มีการรักษาสมดุลระหว่างการจัดบริการ และโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการ ผลกระทบจึงมาตกกับผู้ป่วยที่มีความต้องการดูแลรักษาสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องรอรับบริการนานขึ้น ทั้งการรอส่งตัว รอปรึกษาแพทย์ หรือแม้แต่รอการรักษา การผ่าตัด สำหรับคนที่รอได้ก็ต้องรอ และถ้ารอไม่ได้ ก็เหมือนกับถูกบังคับให้รอเช่นกัน 

ทำให้ในปัจจุบันตัวเลขของผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรที่ต้องรอรับการรักษามีจำนวนสูงถึง 7.9 ล้านคน ขณะที่ก่อนหน้านี้แค่ 2-3 ปี มีผู้ป่วยที่ต้องรอคิวรับการรักษาอยู่ที่ 4.4 ล้านคน สิ่งที่มันชัดเจนก็คือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูงเกือบเท่าตัวในระยะเวลาไม่กี่ปี

2

ถ้าไทยไม่ปรับ มีสิทธิพังตาม

จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ NHS อาจกลายเป็นบทเรียนให้ทั่วโลกต้องใส่ใจ และแน่นอน ‘ไทย’ เองเช่นกัน โดย ศาสตราจารย์ นพ.มานพ เทียบเคียงให้เห็นภาพว่า สหราชอาณาจักรกับประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันทั้งระบบบริการสุขภาพ รวมถึงปัญหาทางสุขภาพที่เจอ ทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมไปถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุ 

มากไปกว่านั้น ประเด็นภาระงานจำนวนมากของบุคลากรการแพทย์ทั้ง 2 ประเทศ ก็ยังเป็นปัญหาที่เจอเหมือนๆ กันด้วย และบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนก็ลาออกจากภาครัฐ เพื่อไปทำงานที่อื่นที่มีรายได้ดีกว่า และสามารถใช้ชีวิตของตัวเองในลักษณะเดียวกัน

"แตกต่างกันแค่ปลายทาง อย่างสหราชอาณาจักร บุคลากรแพทย์เขาที่ลาออกก็อาจไปอยู่ภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือไปทำงานต่างประเทศที่มีรายได้สูงกว่า แต่ประเทศไทย หมอ-พยาบาลไทยลาออกจากภาครัฐ ไปทำงานกับภาคเอกชนไม่ต้องถึงขนาดย้ายประเทศ ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแล้ว" ศาสตราจารย์ นพ.มานพ ระบุ 

แม้ปลายทางของบุคลากรทางการแพทย์จะไม่เหมือนกันเมื่อตัดสินใจลาออก แต่ผลเสียที่ตกมาหาประชาชนเหมือนกันแน่ๆ ศาสตราจารย์ นพ.มานพ ยืนยันว่า หากประเทศไทยยังไม่ปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกับการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพ ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มค่าตอบแทน  รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อยกระดับให้สมดุลกับการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพให้กับประชาชน สถานการณ์ของประเทศไทยอาจเดินตาม NHS ก็ได้ 

"ถ้าเกิดเราไม่ทำอะไร เราจะเดินตาม NHS แน่นอน และต้องเข้าใจร่วมกันว่า บุคลากรการแพทย์ก็มีแรงทำงานได้แค่นี้ มีสองมือ สองเท้าเหมือนกัน พวกเราทำงานได้เต็มที่แล้ว แต่หากรัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายไม่ทำอะไร แล้วเกิดวิกฤตขึ้นมาค่อยมาแก้กันอีกที ก็อาจจะไม่ทัน เป็นผลเสียกับผู้ป่วยที่มารับบริการสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพของเราอาจพังครืนเหมือนกับ NHS ก็ได้" ศาสตราจารย์ นพ.มานพ ทิ้งท้าย