ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกว่า “The Beveridge Report” ได้ร่างนโยบายระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ที่ครอบคลุมการจัดบริการสุขภาพฟรีสำหรับประชาชนทุกคนในสหราชอาณาจักร โดยไม่คำนึงถึงระดับรายได้ 70 ปีต่อมาระบบ NHS มีการพัฒนาจนมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมาก (เป็นระบบที่มีการจ้างงานมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก) บทความนี้ได้จำแนกความซับซ้อนของระบบ NHS ออกเป็น 8 กราฟเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายการเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่สถานะในปัจจุบันของระบบ NHS

การเพิ่มขึ้นของขนาดตามสัดส่วนของผลิตภัณณ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

มีงบประมาณจากภาษีทั่วไปและระบบประกันสุขภาพของประเทศเพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) เป็นต้นมา โดยมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเพียงร้อยละ 2 ในช่วงปีแรก ๆ ของการก่อตั้งระบบ NHS จนถึงร้อยละ 7 ในปัจจุบัน หรือเฉลี่ยร้อยละ 4 ในช่วงเวลาดังกล่าว 

ไม่ว่าจะการประเมินรายจ่ายด้านสุขภาพในอัตราส่วนต่อ GDP หรือใช้คำนิยามอื่น ๆ แต่ก็พบว่ารายจ่ายด้านสุขภาพก็มีแนวโน้มสูงมากขึ้นตามเวลาเสมอ

โดยการขยายตัวของรายจ่ายด้านสุขภาพ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีอัตราลดลง เนื่องจากแรงกดดันด้านงบประมาณของรัฐบาล  นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างอุปสงค์ต่อบริการสุขภาพกับรายจ่ายด้านสุขภาพ เหตุผลที่ทำให้รายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นนั้น มีความซับซ้อน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ร่วมกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่ทำให้สามารถรักษาโรคที่เคยรักษาไม่ได้กลายเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ นอกจากนี้ยังเกิดจากรายจ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มสูงมากขึ้นตามรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของรายจ่าย ยังทำให้ประชาชนมีความคาดหวังจากระบบบริการสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วย  

เปรียบเทียบระบบ NHS กับประเทศอื่น ๆ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ รายจ่ายที่สูงมากขึ้นของระบบ NHS ในแต่ละปี ทั้งในแง่ของปริมาณ และสัดส่วนต่อ GDP เป็นอย่างไร? และอังกฤษสามารถเพิ่มคุณค่าจากเงินที่ใช้ไปได้หรือไม่?   

ซึ่งการเปรียบเทียบในเรื่องเหล่านี้ อาจจะมีความยุ่งยาก เนื่องจากแต่ละประเทศมีการบริหารระบบบริการสุขภาพที่แตกต่างกัน และมีการจัดสรรการจ่ายชดเชยที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังไม่สามารถกำหนด “ระดับรายจ่ายด้านสุขภาพ” ที่ควรจะเป็นสำหรับการเปรียบเทียบในระดับสากลได้

แต่ก็มักจะมีรายงานว่า อังกฤษ มีรายจ่ายด้านสุขภาพต่ำกว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรป และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด ยังพบว่ารัฐบาลอังกฤษ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายจ่ายด้านทุนและบริการทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอยู่ในระดับกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ  

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอว่า ในบางประเทศรายจ่ายด้านสุขภาพที่ประชาชนต้องรับภาระเองนั้น สูงกว่าอังกฤษมาก โดยบริการสุขภาพส่วนใหญ่ในอังกฤษนั้นเป็นบริการฟรีสำหรับประชาชน และการที่มีรายจ่ายสูง ไม่ได้หมายความว่าจะมีคุณภาพบริการสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ในสหรัฐอเมริกาแม้ว่าจะมีรายจ่ายด้านสุขภาพสูงมาก แต่ก็ยังมีระบบบริการสุขภาพที่ห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบ   

รายจ่ายด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นนั้น จ่ายไปให้กับบริการด้านใดบ้าง? 

รายจ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่ใช้ไปกับการรักษา และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ประมาณร้อยละ 63) โดยเกือบครึ่งหนึ่งของรายจ่ายนั้น เป็นการจ่ายให้กับโรงพยาบาล, ประมาณร้อยละ 15 เป็นการจ่ายให้กับบริการสุขภาพประจำครอบครัว ซึ่งครอบคลุมบริการของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GPs) ทันตแพทย์ นักประกอบแว่นตา และเภสัชกร,   

ร้อยละ 15 เป็นค่าบริการระยะยาว (Long-term care) ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงรายจ่ายส่วนบุคคลในบริการสังคม และประมาณร้อยละ 10 เป็นรายจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ครอบคลุมถึงยาตามใบสั่งแพทย์ที่ซื้อจากร้านขายยา  

เมื่อจำแนกรายจ่ายด้านสุขภาพตามประเภทการเจ็บป่วย พบว่าส่วนใหญ่ของรายจ่ายด้านสุขภาพ ระหว่างปี ค.ศ.2010 – 2011 (พ.ศ. 2553 – 2554) ประกอบด้วย บริการด้านจิตเวช (ร้อยละ 11) ปัญหาของระบบไหลเวียนเลือด (ร้อยละ 7) และเนื้องอกและมะเร็ง (ร้อยละ 5) ตามลำดับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างคงที่ในช่วงหลายปีมานี้ แต่พบว่าตั้งแต่ ค.ศ.1993 (พ.ศ. 2536) เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตเวชเพิ่มสูงขึ้นมาก จนกลายเป็นสาเหตุหลักของภาระโรคที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งก็ยังคงมีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับการกำหนดระดับของรายจ่ายด้านสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากร  

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่ายา 

เพื่อความชัดเจน จึงขอจำแนกค่ายาที่มีรายจ่ายสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.3 หมื่นล้านปอนด์ ในปี ค.ศ. 2010 – 2011 (พ.ศ. 2553 – 2554) เป็น 1.74 หมื่นล้านปอนด์ ในปี ค.ศ.2016 – 2017 (พ.ศ. 2559 – 2560) โดยอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีของค่ายานั้น เป็นอัตราที่สูงมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณที่ระบบ NHS ได้รับอย่างลิบลับ

โดยเกือบครึ่งหนึ่งของค่ายาเป็นรายจ่ายในโรงพยาบาล และกว่าครึ่งหนึ่งของค่ายาเป็นรายจ่ายค่ายาในบริการปฐมภูมิ และมีปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่เป็นการสั่งยาในโรงพยาบาล แต่เป็นการจ่ายยาในร้านยา  

ปริมาณค่ายาที่แท้จริงของระบบ NHS จะแตกต่างจาก รายการค่ายา (list costs) เพราะต้องหักด้วยค่าส่วนลดที่ระบบ NHS อาจจะได้รับ ค่าจ่ายยา และรายได้จากค่ายา

ค่ายาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่ายาในบริการปฐมภูมิมาก โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ในระหว่างปี ค.ศ. 2010 (2553) ถึง ค.ศ.2016 (พ.ศ. 2559) โดยภาพรวมแล้ว มีค่ายาเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 33 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ค่ายาสูงขึ้น คือ การมียาใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการใช้ยาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีปริมาณสูงขึ้น 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ พบว่ายาที่มีการใช้มากที่สุด ได้แก่ ยา adalimumab ซึ่งเป็นยารักษาข้ออักเสบ สำหรับยาที่มีการใช้มากที่สุดในบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ยา rivaroxaban ซึ่งเป็นยารักษากลุ่มอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน (acute coronary syndrome)

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

การปรับปรุงเงื่อนไขทางสังคม การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน และความก้าวหน้าทางการแพทย์ เป็นปัจจัยทำให้การมีอายุขัยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) เป็นต้นมา โดยในอังกฤษ และเวลล์ ในปี ค.ศ.1948  (พ.ศ.2491) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปจะสามารถมีชีวิตยืนยาวขี้น 12 ปี สำหรับเพศชาย และ 15 ปี สำหรับเพศหญิง และในปี ค.ศ.2016 จะสามารถมีชีวิตยืนยาวขี้น 21 ปี สำหรับเพศชาย และ 23 ปี สำหรับเพศหญิง ตามลำดับ

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ในทุก ๆ สิบปี ประชากรใน อังกฤษ และเวลล์ มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น 3 ปี เพศชายที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 1950s (พ.ศ.2493) เพศชายมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี และ 72 ปี สำหรับเพศหญิงตามลำดับ และในช่วงกลางทศวรรษ 2000s (พ.ศ.2543) ได้มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 79 ปี และ 83 ปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังความแตกต่างระหว่างอายุขัยของเพศชายและเพศหญิงก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย โดยมีความแตกต่างกันมาก โดยในยุคที่ผู้ชายต้องทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ในขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสรอดจากการคลอดบุตรสูงขึ้น แต่ความแตกต่างของอายุขัยระหว่างเพศเริ่มต้นลดลง ในช่วงต้นทศวรรษ 1970s (พ.ศ.2513) เนื่องจากการสูบบุหรี่ลดลง และสภาพการทำงานที่ดีขึ้นของผู้ชาย 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติปีล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของผลลัพธ์ในการเพิ่มอายุขัย แต่ก็ยังพบความแตกต่างระหว่างพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจน ตัวอย่างเช่น ผู้ชายที่อาศัยอยู่ในย่านร่ำรวยของอังกฤษจะมีชีวิตยืนนานกว่าคนที่อาศัยอยู่ในย่านที่ยากจนที่สุดถึง 6 ปี 

การมีอายุขัยสูงขึ้น ก็หมายถึงการมีประชากรสูงอายุมากขึ้นด้วย ในขณะที่ ในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) อังกฤษมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 5.5 มีประชากรอายุ 75 ปีขึ้นไปร้อยละ 1.9 และ มีประชากรอายุ 85 ปีขึ้นไป ร้อยละ 0.2 เท่านั้น แต่ในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18, ร้อยละ 8 และ ร้อยละ 2.4 ตามลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตยืนยาวขึ้นอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี จากข้อมูลสุขภาพที่รายงานด้วยตนเอง ได้แนะนำ “อายุขัยของการมีสุขภาพดี” (healthy life expectancy) ซึ่งจะทำให้มีอายุลดลงมาถึง 63 ปีในเพศชาย และ 64 ปี ในเพศหญิง หลังอายุ 65 ปี ผู้สูงอายุจะต้องอยู่โดยที่มีสุขภาพแย่ต่อไปอีกประมาณ 8 ปีสำหรับผู้ชาย หรือ 10 ปี สำหรับผู้หญิง ซึ่งก็เช่นเดียวกันที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไประหว่างพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจน

เหล่านี้มีผลต่อการขยายตัวของกิจกรรมในระบบ NHS ด้วย ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี ค.ศ. 2016 – 2017 (พ.ศ. 2559 – 2560) ผู้สูงอายุ 70-75 ปี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนครั้งของการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสูงมากที่สุด และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุ 85 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวของการเข้ารับบริการเร็วที่สุด   

การที่ประชากรมีชีวิตยืนยาวขึ้น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีสุขภาพดีเสมอไป ดังนั้นย่อมทำให้เกิดอุปสงค์ต่อบริการที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้อธิบายแรงกดดันด้านทรัพยากรที่กระทบต่อระบบ NHS ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงสาเหตุการตาย

ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็ก โดยที่การพัฒนาคุณภาพด้านโภชนาการ น้ำ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้มีอัตราตายลดลงอย่างต่อเนื่อง  

และต่อมา ความก้าวหน้าของวัคซีน มีบทบาทหลักในการลดการเกิดโรคติดเชื้อโดยเฉพาะในเด็ก การตายจากโรคติดเชื้อทางอากาศ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดติดเชื้อ และไข้หวัดใหญ่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลหลักของการเสียชีวิตโดยรวมของประชากรที่ลดลง นับตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ.2513) เป็นต้นมานั้น เกิดจากการลดลงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 

แนวโน้มอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างในสังคม เช่น การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถที่เคยมีจำนวนสูงมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีจำนวนที่ลดลงหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเข็มขัดนิรภัย 

ในปัจจุบัน การเสียชีวิตส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยในช่วงเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าในการป้องกันและการรักษาโรค ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมีอัตราลดลงประมาณร้อยละ 50    

นอกจากนี้ยังมีการลดลงของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในผู้ชาย ถึงประมาณ 1 ใน 3 และมีการลดลงของอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง ถึง 1 ใน 4 แต่ในทางกลับกัน กลับมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อม (dementia) สูงขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และพบว่าผู้ชายมีอัตราเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับมากขึ้น ส่วนผู้หญิงมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไต โรคระบบทางเดินปัสสาวะ และมะเร็งปอด มากขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความก้าวหน้าในด้านการรักษา และการปรับปรุงด้านการวินิจฉัยและการติดตามการรักษาโรคเหล่านี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม และวิถีการดำเนินชีวิต  

แม้ว่าจะมีการลดลงของอัตราการเสียชีวิต แต่โรคเหล่านี้ก็ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ยังคงอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับโรคแรกที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ในผู้ชายและผู้หญิง และเมื่อประชาชนมีอายุยืนขึ้น จำนวนการเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมก็เพิ่มขึ้น ทำให้โรคสมองเสื่อมเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้หญิง และติดอันดับ 2 ของสาเหตุหลักการเสียชีวิตในผู้ชาย     

โดย 10 อันดับแรกของปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และ โภชนาการ ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 26 ของผู้ใหญ่ในอังกฤษมีภาวะอ้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในปี ค.ศ.1993 (พ.ศ. 2536) และพบว่าในช่วงปี ค.ศ.2016 - 2017 (พ.ศ.2559 – 2560) มีการเข้ารักษาในโรงพยาแทรก/แก้ไข Anchorบาลถึง 617,000 ครั้ง ที่มีภาวะอ้วน เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 จากช่วงปีก่อนหน้า 

เช่นเดียวกับ “การสูบบุหรี่” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคที่ป้องกันได้ โดยในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ ประมาณร้อยละ 15.5 ของผู้ใหญ่ (ร้อยละ 17 ในเพศชาย แล ร้อยละ 14 ในผู้หญิง) และพบว่ามีจำนวนการเสียชีวิตจากโรคที่สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่จำนวน 79,000 คนในอังกฤษ และมีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงถึงเกือบครึ่งล้านครั้ง ถึงแม้ว่าสัดส่วนของจำนวนประชากรที่สูบบุหรี่จะมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และจำนวนบุหรี่ที่สูบลดลงกว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 ก็ตาม โดยมีจำนวนคนที่สูบบุหรี่ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 (พ.ศ.2493) ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่สูงมากถึงร้อยละ 80 ของผู้ชาย และร้อยละ 40 ของผู้หญิง

เมื่อเปรียบเทียบสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้งระบบ NHS กับปัจจุบัน พบว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วงแรก ๆ นั้น หลายสาเหตุสามารถรักษาได้แล้วในปัจจุบัน ในขณะที่สาเหตุของการเสียชีวิตหลักในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน มากกว่าการรักษา 

โดยระบบ NHS เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้ เพราะหนทางมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการสนับสนุน และการศึกษาของส่วนบุคคล ซึ่งอยู่นอกเหนือบทบาทของระบบบริการสุขภาพ ตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การเก็บภาษีและการจำกัดการโฆษณาบุหรี่และเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ และล่าสุดคือ เครื่องดื่มผสมน้ำตาลมีบทบาทสำคัญมาก นอกจากแรงกดดันด้านทรัพยากร และโครงสร้างประชากรที่มีอายุมากขึ้นแล้ว ยังมีความจำเป็นในการสร้างความมั่นใจว่า ประชาชนจะมีสุขภาพที่ดีและสามารถใช้ชีวิตในที่มีอายุยืนนานขึ้นอย่างมีคุณภาพ เป็นแรงกดดันใหม่ที่เพิ่มเข้ามา      

สิ่งที่ควรจะภูมิใจ

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ระบบบริการสุขภาพของอังกฤษเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถซื้อหาได้ การก่อตั้งระบบ NHS บนหลักการที่ว่า บริการสุขภาพควรเป็นบริการฟรีสำหรับทุกคน ณ จุดที่ให้บริการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากระบบภาษี ซึ่งหมายความว่าทุกส่วนมีส่วนร่วมจ่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ของระบบภาษีอยู่แล้ว ซึ่งหลักการนี้ยังคงเป็นหลักการสำคัญของระบบ NHS ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลใจเกี่ยวกับความยั่งยืนของกองทุนในอนาคต และความไม่พึงพอใจต่อระบบบริการ แต่ระบบ NHS ก็ถูกจัดให้อยู่ในอันดับสูงสุดของโครงการภาครัฐที่น่าภูมิใจ ที่มีหลักการพื้นฐานของระบบที่มีคุณค่าเป็นแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง 

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) ระบบบริการสุขภาพ และสุขภาพของประเทศอังกฤษผ่านการแปรรูปมามาก ถึงแม้ว่าจะยังต้องเผชิญกับอุปสรรคความท้าทายต่าง ๆ อยู่ แต่ระบบ NHS ยังต้องอยู่รอด และรักษาหลักการของการเข้าถึงอย่างเป็นธรรมโดยที่มีความคุ้มครองทางการเงินด้วย ดังที่นาย Aneurin Bevan ผู้ก่อตั้งระบบ NHS ยึดมั่น

ขอบคุณที่มา แปลจากเรื่อง The NHS explained in eight charts: https://theconversation.com