ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิกฤตในระบบบริการสุขภาพอังกฤษที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องจากนักการเมืองที่ต้องการทำให้เป็นระบบแบบเอกชน ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับหลักฐานเชิงประจักษ์และความเห็นของสาธารณชน

ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย “ในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่ผมฉลองอายุครบ 75 ปี ซึ่งถ้าไม่มีระบบสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ผมคงจะไม่มีชีวิตถึงวันนี้”

The Guardian เผยแพร่บทความของ ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษที่แสดงความกังวลถึงอนาคตของระบบบริการสุขภาพของอังกฤษ หรือ NHS

“ผมมีประสบการณ์ตรงในการใช้บริการระบบสุขภาพแห่งชาติ (NHS) เช่นเดียวกับชาวอังกฤษทั่วไป ในกรณีของผมบริการทางการแพทย์ ชีวิตส่วนตัว และงานวิทยาศาสตร์ของผมเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันหมด และผมก็คงจะไม่ได้มาอยู่ ณ ที่นี่ในวันนี้ ถ้าผมไม่ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพสูงจากระบบ NHS 

บริการสุขภาพที่ผมได้รับนับตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (motor neurone disease) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ในสมัยยังเป็นนักเรียนอยู่ ทำให้ผมสามารถมีชีวิตดังที่ผมต้องการได้ และสร้างประโยชน์ในความก้าวหน้าสำคัญที่ทำให้พวกเราเข้าใจระบบจักรวาลได้  ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสฉลองวันเกิดอายุครบ 75 ปีในการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่เมืองเคมบริดจ์ ผมยังคงมีงานประจำในตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการวิจัยของศูนย์จักรวาลวิทยาทฤษฎี (Centre for Theoretical Cosmology) และเร็ว ๆ นี้ผมและเพื่อนร่วมงานอีก 2 คนจะตีพิมพ์บทความทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ หลุมดำของควอนตัม (quantum black holes)

ในปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ส่วนตัวของผมกับระบบ NHS และชีวิตการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของผมมาบรรจบกัน เมื่อผมได้ร่วมลงนามเรียกร้องให้มีการพัฒนานโยบายด้านบริการสุขภาพบนพื้นฐานของการสนับสนุนจากงานวิจัยและหลักฐานที่เหมาะสม โดยประเด็นที่เสนอไว้ในจดหมายฉบับนั้นคือ “ผลกระทบของวันหยุดสุดสัปดาห์” (weekend effect)  ตามที่นายเจเรมี ฮันท์ (Jeremy Hunt) รมว.สาธารณสุขอังกฤษ ได้อ้างว่ามีคนไข้หลายพันคนที่ต้องเสียชีวิตไปโดยไม่จำเป็นเพราะบริการสุขภาพที่ไม่ดีในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และใช้ข้ออ้างนี้เพื่อที่จะให้มีการดำเนินงานของระบบ NHS แบบ 7 วันทำการ (a seven-day NHS)

ผมรู้สึกหลายอย่างเกี่ยวกับประเด็นนี้ การที่ต้องใช้เวลามากมายในโรงพยาบาล ผมคงจะชอบที่โรงพยาบาลจะให้บริการหลาย ๆ อย่างในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และก็คงจะเป็นไปได้ถ้าผู้ป่วยบางคนจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้นเกินความจำเป็นเพราะการตรวจวินิจฉัยบางอย่างนั้นสามารถตรวจได้เฉพาะในช่วงวันทำการเท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ดังเช่นที่พวกเราแสดงไว้ในจดหมายฉบับนั้นแล้วว่า นายฮันท์ ได้เลือกงานวิจัยที่เขาชอบ (cherry-picked research) มาสนับสนุนความคิดของเขา สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว การเลือกเฉพาะหลักฐานที่ชอบนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อบุคคลสาธารณะบิดเบือนข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ โดยอ้างอิงเฉพาะงานวิจัยบางอย่าง และปิดบังผลงานวิจัยอื่น ๆ ด้วยเหตุผลบางอย่างเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ถือว่าเป็นการทำให้วัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์เสื่อมถอยลง ผลกระทบหนึ่งของพฤติกรรมแบบนี้ก็คือการทำให้ประชาชนทั่วไปไม่เชื่อถืองานวิจัย ทั้ง ๆ ที่ความก้าวหน้าและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญมาก

ปัญหานี้มีผลกระทบเกินไปกว่าแค่เรื่อง “ผลกระทบของวันหยุดสุดสัปดาห์” เท่านั้น ระบบ NHS อยู่ในภาวะวิกฤติ และหนึ่งในนั้นก็ถูกสร้างขึ้นจากการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองเหล่านี้ รวมไปถึง การอนุมัติงบประมาณต่ำหรือการตัดงบประมาณ, การออกนอกระบบราชการของบริการสุขภาพ, การจ่ายแบบเหมาจ่ายสำหรับบริการภาครัฐ, การเสนอสัญญาจ้างแบบใหม่สำหรับแพทย์จบใหม่ และการตัดทุนการศึกษาของนักเรียนพยาบาล การตัดสินใจทางการเมืองเหล่านี้มีผลทำให้คุณภาพบริการลดลง, มีการรอคิวรักษานานขึ้น, ความวิตกกังวลของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความล้มเหลวของการออกนอกระบบราชการของบริการสังคมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการนั้นเป็นการเพิ่มภาระให้กับระบบ NHS      

ดังนั้นควรต้องทำอะไรต่อไป?

สำหรับนักฟิสิกส์แบบผมที่ทำการวิเคราะห์ระบบในระดับของการประมาณการ ในการประมาณการรอบแรก ทุกคนสามารถเห็นสถานการณ์ที่ภาคบริการสุขภาพในประเทศนี้เผชิญอยู่ ในรูปของแรงกดดันจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความสนใจแตกต่างกัน 

อีกด้านหนึ่งก็เป็นแรงกดดันจากภาคีนานาชาติที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจทางกำไร ในสหรัฐอเมริกา ระบบบริการสุขภาพเป็นแหล่งสร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัทเอกชน ระบบสุขภาพยังไม่เป็นหลักประกันสุขภาพ และเป็นระบบที่ราคาแพงมากกว่าอังกฤษ พวกเราเห็นความสมดุลของอำนาจในอังกฤษที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการในระบบ NHS มากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางไปสู่ระบบประกันสุขภาพแบบสหรัฐอเมริกา    

และอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นแรงกดดันจากสาธารณชน และประชาธิปไตย ผลการสำรวจความคิดเห็นมักจะแสดงออกมาว่าคนส่วนใหญ่ชอบระบบบริการภาครัฐมากกว่าระบบบริการภาคเอกชนและระบบร่วมจ่ายแบบ two-tier (ระบบบริการที่ผู้ป่วยที่สามารถจ่ายเงินเพิ่มเพื่อบริการที่มีคุณภาพดีกว่าหรือรวดเร็วกว่าได้)

ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับระบบ NHS คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับสาธารณชน ซึ่งทำได้ 2 ทางคือ

1) การให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนและถูกต้อง ไม่ใช่แค่เพียงวิธีการรักษาที่เหมาะสมเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการที่คุ้มค่าทางราคามากที่สุดด้วย และ 2) การทำให้ประชาชนเสียงดังและมีอำนาจทางการเมืองที่จะทำให้นักการเมืองตัดสินใจทางการเมืองตามแนวทางที่ประชาชนต้องการได้   

และถ้าเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการเมืองมาก ก็เพราะระบบ NHS เองนั้นเป็นเรื่องของการเมือง ถูกตั้งขึ้นมาจากการเมือง เป็นระบบบริการสาธารณะที่ดีที่สุดของอังกฤษ เป็นหลักการสำคัญของสังคมอังกฤษ และเป็นสิ่งที่เชื่อมเราไว้ด้วยกัน ประชาชนให้คุณค่ากับระบบ NHS และภูมิใจว่าเราให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ระบบ NHS เป็นระบบที่ดีที่สุดของเรา เราจะไม่ยอมสูญเสีย NHS  

ศ.สตีเฟน ฮอว์กิง เป็นผู้เขียนเรื่อง “A Brief History of Time” เป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัยของศูนย์จักรวาลวิทยาทฤษฎี (Centre for Theoretical Cosmology) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเขาเป็นศาสตราจารย์ ทุน Lucasian ด้านคณิตศาสตร์  

ที่มา: สตีเฟน ฮอว์กิง The Guardian
https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/mar/14/stephen-hawking-campaigner-nhs