ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ ม.ขอนแก่น มองบัตรทอง ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงทำ หมออินเทิร์นลาออก แต่มาจากความสัมพันธ์ในการทำงานกับ แพทย์ผู้ดูแล ที่มัก ดุด่ารุนแรง-ปฏิบัติไม่ยุติธรรม 


ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์สาขาอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไม่ใช่เหตุโดยตรงที่ทำให้แพทย์ชดใช้ทุน หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) ลาออก แม้จะมีการพูดถึงกันมานานว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดีกว่าในอดีตที่หากต้องการจะดูแลรักษาตัวเองหรือคนในครอบครัวต้องคำนึงถึงกำลังทรัพย์ที่มีก่อน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าภาระงานหนักเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้แพทย์อินเทิร์นลาออกจากระบบ แต่อีกปัจจัยก็คือ แพทย์รุ่นใหม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากที่จะเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ผู้ดูแล (Staff) บางส่วนกับแพทย์อินเทิร์น อาจจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ หรือแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม นำไปสู่ความรู้สึกไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ถ้าหากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งแพทย์อินเทิร์นที่ยังปฏิบัติงานอยู่ และแพทย์ผู้ดูแลในโรงพยาบาลต่างๆ เหล่านั้น ได้มาพูดคุยกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงถึงสาเหตุของแต่ละฝ่าย เช่น สาเหตุของการลาออกของแพทย์อินเทิร์น หรือการคัดนักเรียนมัธยมปลายมาศึกษาต่อต่อในคณะแพทย์ อาจต้องมองในประเด็นอื่นๆ มากกว่าผลการเรียน

ตลอดจนการมีกลยุทธ์ในการสนับสนุนอย่างการคัดคนที่เป็นนักเรียนในท้องที่มาศึกษาต่อให้มากขึ้น เพราะจากข้อมูลที่ สธ. เปิดเผยออกมาจะเห็นว่าแพทย์จากโครงการแพทย์เพื่อชนบท (CPIRD) มีอัตราคงอยู่ในระบบมากกว่าแพทย์ที่ใช้การสอบคัดเลือกด้วยระบบ Admission สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อตอบรับกับความต้องการของสังคมและกฏระเบียบที่มีอยู่ 

“ผมเชื่อถ้าเราดำเนินไปในแนวทางแบบนี้น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาแพทย์ที่ขาดแคลนได้ เพราะผมเชื่อว่าอัตราการผลิตแพทย์ต่อปีต่อไปมันจะประมาณ 2,800-3,000 คน ก็อาจจะเข้าไปช่วยเติมในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ขาดแคลนต่างๆ ตรงนั้นมันน้อยลง ภาพรวมภาระงานมันก็อาจจะดีขึ้น แพทย์ก็จะคงอยู่ในระบบได้มากขึ้น” ศ.นพ.สมศักดิ์ ระบุ

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องบรรยากาศในการทำงาน หรือระหว่างแพทย์อินเทิร์นกับแพทย์ผู้ดูแล ที่ตอนแถลงแนวทางแก้ไขไม่มีการกล่าวถึง เชื่อว่าทาง สธ. น่าจะกำลังค่อยๆ แก้ไข เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของการทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อีกทั้งแต่ละโรงพยาบาลก็มีองค์กรแพทย์ที่เป็นไปได้ว่าคงจะทราบเรื่องนี้โดยละเอียด รวมถึงจะมีการแก้ไขกันภายใน 

“ยังมีความมั่นใจว่าผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่งคงจะมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และก็คงมีการพูดคุยกันระหว่างสต๊าฟกับอินเทิร์นที่ปฏิบัติงานร่วมกัน พอมีเรื่องนี้เป็นกระแสขึ้นมา คิดว่าทุกคนคงจะเปิดใจคุยกันมากยิ่งขึ้น และปรับตัวเข้ากันมากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ ระบุอีกว่า ส่วนในแนวทางแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม การกำหนดภาระงานที่เหมาะสม เพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ รวมไปถึงความก้าวหน้า ที่ สธ. ชี้แจงมาถ้าทำได้น่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง เพียงแต่ว่าจะทำทั้งหมดในครั้งเดียวคงจะไม่สามารถทำได้สำเร็จในทุกๆ ปัญหา คงต้องค่อยๆ พัฒนาหลายๆ ส่วนควบคู่ไป เช่น การใช้เทคโนโลยีอย่างการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เข้ามาช่วย เพราะปัญหาหลักน่าจะมาจากความเครียดจากภาระงานหนักที่สะสมมาอย่างยาวนาน

สำหรับกระแสการเสนอให้แพทย์ต้องเรียน 7 ปีนั้น ค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะแท้จริงแล้ว การเรียนแพทย์ในปัจจุบันมีความสมบูรณ์อยู่แล้วในระดับหนึ่ง คือถ้ารวมเป็นหลักสูตร 7 ปีจะทำให้ระยะเวลาเรียนยาวนานยิ่งขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดทันทีปีละประมาณ 3,000 คน แล้วทักษะที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแพทย์ และการเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลจังหวัดก็แตกต่างกันอย่างมาก 

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาไม่ให้แพทย์อินเทิร์นลาออกไปมากกว่านี้ ประกอบด้วย 1. โรงพยาบาลต้องมีแพทย์รุ่นพี่ที่มีความเข้าใจในวิธีคิด และวิธีปฏิบัติของแพทย์รุ่นใหม่ ในการรับฟังความคิดเห็น ระบายความรู้สึกต่างๆ เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ และความเครียดจากการทำงาน

2. ต้องเข้าใจว่าแพทย์อินเทิร์นเป็นแพทย์ที่กำลังเพิ่มพูนทักษะ อาจต้องประเมินว่าภาระงาน ความกดดัน และความเครียดระดับไหนที่แพทย์อินเทิร์นจะสามารถรับได้ อีกทั้งค่อยๆ เพิ่มประสบการณ์ให้ ไม่ใช่จบจากโรงเรียนแพทย์แล้วมารับหน้าที่ทุกอย่างแบบแพทย์จริงๆ ในโรงพยาบาลเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหนักหนามาก 

3. ลดการดุด่าต่อว่ากันอย่างรุนแรงลง คือ แพทย์รุ่นใหม่ไม่สามารถยอมรับในจุดนี้ได้ ฉะนั้นคงต้องค่อยๆ พูดจากันที่ไม่ให้เกิดเรื่องราวขึ้น เพราะเข้าใจว่าต่างคนต่างมีความเครียด และอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ โดยเฉพาะแพทย์อินเทิร์นที่พึ่งจบมา ซึ่งถ้ารับมือไม่ได้จะยิ่งเกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากร่างกายต้องภาระงานหนักแล้ว จิตใจยังต้องมาเครียดอีกจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ยิ่งหนักขึ้น