ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อาจารย์จิรุตม์” แนะการจัดทำนโยบายสุขภาพต้องเจาะจง สอดคล้องปัญหาแต่ละพื้นที่ ชี้ต้องพร้อมรับมือความท้าทาย 3 ด้าน ‘ชนบท-เมือง- Medical Hub’


รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ ‘The Coverage’ ว่า ตั้งแต่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภาพรวมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาครัฐมีการปรับปรุงเครือข่ายการเข้ารับบริการสุขภาพในแง่มุมต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำต่อไปคือ รัฐบาลควรมีการจัดการนโยบายทางด้านสุขภาพที่เจาะจงมากขึ้น เพราะการจัดทำนโยบายแบบใช้นโยบายเดียวกันทุกพื้นที่ หรือที่เรียกว่า ‘นโยบายหน้ากระดาน’ จะไม่ได้ผลดีในอนาคต เพราะแต่ละพื้นที่ล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ การจัดทำนโยบายรัฐบาลต้องมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่นด้วย เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนสามารถไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่อาจมีผลต่อแนวความคิดเรื่องบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งมีความคิดว่า ประชาชนควรมีหน่วยบริการประจำตัว หรือมีแพทย์ประจำตัวเพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เรื่องความสะดวก และความจำเป็นในเชิงการตอบสนองเชิงวิถีชีวิตของประชาชนในการที่จะมาใช้บริการสุขภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้ามารับบริการสุขภาพ

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาประกอบกับการจัดทำนโยบายสุขภาพคือ การตรวจสอบความจำเป็นทางสุขภาพของประชาชนว่า ภาระปัญหาสุขภาพของประชาชนจริงๆ เป็นเรื่องใด ซึ่งบางปัญหาสุขภาพประชาชนอาจจะยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องสำคัญกับตนเอง แต่ทางสาธารณสุขกลับมีความสำคัญและมีภาระโรคสูง เช่น อุบัติเหตุ บุหรี่ ฯลฯ

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า หากมองจากปัจจุบันถึงอนาคตมีความท้าทายในการเข้าถึงบริการสุขภาพจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. เขตพื้นที่ชนบท มีความพยายามในการขยายบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่ดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วยมารับบริการเฉพาะทาง รวมถึงการส่งยา และเวชภัณฑ์ที่ผู้ป่วยต้องได้รับอย่างต่อเนื่องหลังกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เพื่อเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

“อีกความท้าทายหนึ่งคือ พื้นที่ที่มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ซึ่งจะกระทบถึงเครือข่ายการจัดบริการ และการเข้าถึงบริการที่จำเป็นในพื้นที่ของประชาชนได้ เนื่องจากความไม่พร้อม หรือการถ่ายโอนดังกล่าวมีผลกระทบในเชิงทรัพยากรที่จะจัดบริการกันในพื้นที่” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว

2. การจัดบริการในเมือง ขณะแนวโน้มความเป็นเมืองเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทยเป็นทิศทางที่สำคัญของทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะการจัดบริการให้สอดคล้องกับชีวิตคนที่อยู่ในเมืองจะแตกต่างจากชนบท อีกทั้งในเมืองก็มีคนอยู่หลายประเภท ทั้งคนที่เกิดและเติบโตในเมือง คนเข้ามาทำงาน และกลุ่มชายขอบที่ไม่มีที่พักเป็นแหล่ง กลุ่มคนเหล่านี้ก็มีความจำเป็นในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งนี้ยังไม่นับ กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้การที่จะผลักดันคนเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบสุขภาพก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

3. ศูนย์กลางด้านการแพทย์ หรือ Medical Hub กลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศที่สามารถเข้าถึงบริการที่มีราคาสูง มีความก้าวหน้าสูง แต่ว่าหลักประกันสุขภาพของประเทศอาจจะยังไปไม่ถึงและพัฒนาไปไม่ทัน การยกระดับ Medical Hub ก็จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคเอกชน อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาสมองไหลจากภาครัฐไปภาคเอกชนที่จะกลับมาอีกครั้ง และทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งจะต้องพิจารณาดูแลผลกระทบในองค์รวมด้วย

“การจัดบริการที่เหมาะสมบางอย่างต้องอาศัยการสื่อสารที่ถูกต้องด้วย เช่น บริการฉุกเฉินก็ต้องมีไว้เพื่อคนฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่ให้คนมาใช้กันเพราะรอไม่นาน ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งหากรัฐไม่จัดการปัญหาเหล่านี้ระบบสาธารณสุขของไทยก็จะไปไม่รอดเพราะว่าไม่สามารถจัดทรัพยากรให้เพียงพอที่จะรองรับความจำเป็นได้” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว