ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ประจำครอบครัวอังกฤษแนะไทยให้คุณค่าและความสำคัญกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ หรือ primary care พร้อมหวังให้เกิดการประสานงานระหว่างหมอครอบครัว ทีมสหวิชาชีพและโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดการดูแลแบบองค์รวม


General practitioner หรือที่คนไทยคุ้นชินกันในชื่อ ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ มีบทบาทอย่างมาในการรักษาและสร้างเสริมสุขภาพประชาชน

ในระบบสุขภาพของประเทศอังกฤษนั้น General practitioner ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ และทำงานแตกต่างกับ ‘แพทย์ประจำครอบครัว’ ในประเทศไทย

“The Coverage” พูดคุยกับ นพ.วรรณบูรณ์ ฟักอุดม General practitioner ซึ่งทำงานในประเทศอังกฤษมานานกว่า 20 ปี ซึ่งได้ให้ความเห็นเปรียบเทียบถึง ‘ความแตกต่าง’ และประเด็นที่ประเทศไทยสามารถนำตัวอย่างจากประเทศอังกฤษมาปรับใช้กับระบบบริการปฐมภูมิได้

นพ.วรรณบูรณ์ ให้ความเห็นว่า แพทย์ประจำครอบครัว หรือ GP ของอังกฤษ ทำงานไม่เหมือน GP ของไทย ที่ทำงานในลักษณะ ‘แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป’ คือเป็นแพทย์ที่ทำงานในสาขาทั่วไป แต่ GP ของอังกฤษจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นในการดูแลทุกอย่างของคนไข้ ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม

ขณะเดียวกัน บทบาทของ GP ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบสุขภาพของอังกฤษ และไม่เหมือนแพทย์ในโรงพยาบาล แต่จะมีลักษณะเป็น independent contractor ที่เซ็นสัญญากับ National Health Service (NHS) โดยไม่อยู่ภายใต้หน่วยงาน 

นั่นทำให้มีอิสระในการทำงานหรือการบริหารจัดการมากกว่า เช่น GP Surgery ซึ่งเป็นที่ทำงานของแพทย์ประจำครอบครัว Surgery แต่ละแห่งก็จะมีวิธีการให้บริการไม่เหมือนกัน   

นพ.วรรณบูรณ์ อธิบายต่อไปว่า เมื่อเทียบในเชิงหน้าที่และภาระงานแล้ว แพทย์ประจำครอบครัวอังกฤษ 1 คน จะดูแลประชากรเฉลี่ยประมาณ 1,700 คน ขณะที่ของไทยจะดูแลเฉลี่ยประมาณ 10,000 คน

มากไปกว่านั้น แพทย์ประจำครอบครัวของไทยก็จะมีภาระงานมากกว่า เช่น การดูแลป้องกันควบคุมโรคในชุมชน ซึ่งแพทย์ประจำครอบครัวของอังกฤษจะไม่ได้ทำหน้าที่นี้เพราะมีระบบการจัดการแยกออกไปต่างหาก

“แพทย์ประจำครอบครัวของอังกฤษจะเน้นเรื่อง relationship ดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย และการดูแลแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และทุกอย่างที่มีผลกระทบกับสุขภาพ ถือเป็นจุดเด่นและความภาคภูมิใจของอังกฤษ” นพ.วรรณบูรณ์ กล่าว

สำหรับประเด็นที่น่าจะนำตัวอย่างของอังกฤษไปปรับใช้กับระบบบริการปฐมภูมิในเมืองไทยนั้น ‘นพ.วรรณบูรณ์’ ให้ความเห็นว่าระบบสุขภาพทุกๆ ระบบ มีบริบทและโครงสร้างแตกต่างกัน ดังนั้นการจะดึงอะไรไปใช้โดยตรงจะล้มเหลว 

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคิดว่ามีประเด็นน่าสนใจที่ประเทศไทยอาจนำไปปรับใช้ได้ คือ การสร้าง Demand และ supply ของแพทย์ประจำครอบครัวให้สมดุล เพราะปัจจุบันประเทศอังกฤษมีปัญหาในเรื่อง Demand ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยก็อาจจะต้องมีการพิจารณาในประเด็นนี้

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของการให้คุณค่าและความสำคัญของระบบปฐมภูมิในการประสานงานหรือร่วมทำงานกับระบบสุขภาพทั้งระบบ เพราะอังกฤษมีวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าและความสำคัญของ primary care หรือการแพทย์ในระดับปฐมภูมิในการดูแลคนไข้ และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในสายตาของประชาชน ส่วนในเมืองไทยนั้น แพทย์ประจำครอบครัวก็มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่ก้าวหน้าไปในทาง hospital based หรือการดูแลโดยมีโรงพยาบาลเป็นฐาน 

ฉะนั้น ถ้าให้คุณค่ากับเรื่องการประสานงานกับสหวิชาชีพรวมทั้งโรงพยาบาลให้เกิดการดูแลแบบองค์รวม ก็จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก