ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองผู้ว่าฯ ทวิดา เผย นโยบาย 50 เขต 50 รพ. นำร่อง ยกระดับ รพ.เขตดอนเมือง ช่วยเสริมแกร่ง ‘Bangkok Health Zoning’ อุดช่องว่างฝั่งเหนือ


เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า บทบาทของ กทม. ในเรื่องนโยบายสุขภาพรวมของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาตินั้น เริ่มมาจากนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล ใน กทม. ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เนื่องจาก กทม. มีประชากรอยู่จำนวนมาก และสิทธิ์การรักษาก็มีอยู่หลากหลาย แต่โรงพยาบาลที่ กทม. กำกับดูแลมีเพียง 12 แห่ง ซึ่งถ้ารวมกับโรงพยาบาลสังกัด สธ. และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย รวมถึงเอกชน ก็ยังครอบคลุมได้ไม่ทั้งหมดในบางพื้นที่ ทำให้บางเขตไม่มีโรงพยาบาลรัฐแม้แต่แห่งเดียว หรือเป็นไปได้ว่าไม่มีโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ อยู่เลย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแนวคิดเรื่องการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยแพทย์ได้โดยง่าย ก็เป็นสิ่งที่ กทม. ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ในการมาดูว่าจะสามารถแก้ไขตรงไหนได้ จนที่สุดแล้วในระดับปฐมภูมิเลยมีการกำหนด Bangkok Health Zoning ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทำหน้าที่เป็น Area Manager โดยในส่วนดูแลหน่วยบริการจะครอบคลุมคลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านขายยา ศูนย์สุขภาพชุมชน รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่อาจรับบริการแบบผู้ป่วยในที่บ้านอยู่ (Home ward) ซึ่งจะมีทีมเชิงรุกเข้าสนับสนุน 

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อไปว่า ส่วนการให้บริการประชาชน หากประชาชนมีการเข้ารับบริการในหน่วยปฐมภูมิต่างๆ ดังที่กล่าวมา ศบส. จะให้คำปรึกษา รับส่งต่อผู้ป่วย และจะมีโรงพยาบาลประจำโซน ของ กทม. ทั้ง 7 โซนเป็น Health Zone Manager เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร ฯลฯ คอยสนับสนุนอยู่ รวมถึงตอนนี้ทุกโรงพยาบาลสามารถให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่เชื่อมกันได้หมด และนอกสังกัด กทม. ก็เริ่มมีในบางส่วนแล้ว โดยภายในไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567 จะมีการเชื่อมมายัง ศบส. ได้

“นั่นหมายความว่า ศบส. จะเป็น Area manager ในการช่วยหน่วยปฐมภูมิอื่นๆ หากติดขัด หรือมีปัญหาต้อง refer ก็จะมีโรงพยาบาลแม่ข่ายเรารออยู่เป็น Zone manager และใน 7 พื้นที่ไม่ได้มีแต่โรงพยาบาลของ กทม. อย่างเดียว แต่จะมีส่วน UHOSNET โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลสังกัด สธ. โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลราชวิถี จะเป็น system manager” รศ.ดร.ทวิดา ระบุ

อย่างไรก็ดี ใน กทม. ไม่มีโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิที่มีฐานะในทางทุติยภูมิเหมือนจังหวัดอื่นๆ กล่าวคือไม่ได้มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิที่ขนาดเล็ก และจำนวนไม่เยอะมาก บริการเฉพาะทางไม่ครบทุกด้าน ฉะนั้นในหลักการนี้ จึงเป็นเหตุให้เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้มีโรงพยาบาลครบทุกเขต 

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ล่าสุดทางโซนเหนือ รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาดให้รองรับได้มากขึ้น โดยใช้โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เพราะเป็นโซนที่ไม่มีโรงพยาบาลสังกัด กทม. อยู่เลย ไม่ว่าจะเขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ จตุจักร บางซื่อ จึงทำให้ไม่มีโรงพยาบาลแม่ข่ายประจำพื้นที่ที่จะเชื่อมกับศูนย์บริการสาธารณสุข แต่กลายโรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และล่าสุดโรงพยาบาลวชิระ ที่ กทม. ได้มีการหารือ ในการรับหน้าที่ในส่วนนี้แทน ซึ่งถ้าหากโรงพยาบาลสีกันรับหน้าที่เป็น Health Zone Manager ช่วยเสริมให้กับส่วนนี้ให้ก็จะดีมาก 

“ทาง กทม. ขอบพระคุณมาก เพราะถ้าให้เราลุกขึ้นหาที่ และสร้างโรงพยาบาลอาจจะช้า หรือต้องศึกษาเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้พูดแบบนี้ปุ๊ป สีกันจะทำงานไม่ต่างจากโรงพยาบาลแม่โซนอื่นๆ เท่ากับว่าโรงพยาบาลกลางที่รับหน้าที่อยู่ในขณะนี้ก็สามารถปรับบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ 

“นี่ก็จะเป็นโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และ สธ. ที่ดีมาก เพราะประชาชนก็จะรู้สึกว่าต่อไปนี้ไม่มีการแยกโรงพยาบาลไหน หรือสังกัดไหน แต่สามารถเชื่อมจากปฐมภูมิ ส่งต่อ ให้คำปรึกษาผ่านเทเลเมด มีทีมแพทย์ไปเข้าไปช่วยกรณีเฉพาะทางบางอย่าง ซึ่งโรงพยาบาลกลางเป็น Excellent Center อยู่ ภาพนี้จะดีมาก” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

รศ.ดร.ทวิดา ยืนยันว่า จะไม่มีปัญหาในเรื่องการเชื่อมโยงบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งอยู่ที่ ศบส.เพราะแพทย์ของสถานพยาบาลในทุกระดับมีศักยภาพสูงในการดูแลรักษา และ ศบส. เองก็ทำหน้านี้ดังกล่าวอยู่แล้วเช่นกัน และในกรณีที่ผู้ป่วยมารับบริการแบบผู้ป่วยนอก แต่แพทย์ยังไม่อยากกลับบ้าน เพราะอาการยังไม่น่าไว้วางใจ หรือรอส่งต่อ (Refer) ซึ่งจริงๆ ควรกลับไปรอที่บ้าน  ก็มีการพัฒนา ศบส.พลัส โดยมีเตียงให้ผู้ป่วยนอนพักคอยดูอาการ 1 ชั่วโมง ก่อนส่งต่อไปโรงพยาบาล หรือกลับบ้าน

“ศบส.พลัส พอเราทำมาได้ประมาณ 4-5 เดือน พบว่า เคสที่เราเอาไว้เพื่อสังเกตการณ์ เมื่อกลับบ้านไป ส่วนใหญ่ไม่กลับมาอีก เพราะงั้นแสดงว่าเราค่อนข้างมาถูกทาง ว่าขอดูอาการก่อน แต่ถามว่าเราต้องเขียนมาตรฐานให้ตรงกันกับโรงพยาบาลแม่โซน เดี๋ยวถ้ามีเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้น เงื่อนไขแบบไหนส่งต่อได้ เงื่อนไขแบบที่ต้องรออยู่ อันนี้ก็ต้องคุยกันเพิ่มเติม” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว