ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โปแลนด์ทำ “แผนที่สุขภาพ” เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรสาธารณสุข ช่วยผู้มีอำนาจตัดสินใจนโยบายสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย

โปแลนด์เริ่มพัฒนาแผนที่สุขภาพ และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะครั้งแรกในปี 2559 โดยนำแนวทางมาจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานด้านการเงินการคลังสุขภาพในระดับภูมิภาค มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานด้านสุขภาพทั่วประเทศ

แผนที่สุขภาพ คือ ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสุขภาพ ลักษณะประชากร โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มโรคที่มีผลต่อประชากรและความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต

ชุดข้อมูลนี้เป็นรากฐานในการตัดสินใจเชิงนโยบายในด้านการจัดการทรัพยากรสาธารณสุขสำหรับผู้เล่นในระบบสุขภาพทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กระจายงบประมาณและทำสัญญากับผู้ให้บริการสุขภาพ รวมทั้งผู้ตัดสินใจด้านขอบเขตบริการและสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วย เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรสาธารณสุข

นอกจากนี้ “ผู้ให้บริการ” ยังได้รับประโยชน์จากแผนที่สุขภาพด้วยเช่นกัน โดยสามารถนำชุดข้อมูลไปใช้เพื่อการตัดสินใจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสุขภาพ ลดความเสี่ยงการขาดทุนและลงทุนในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผล

1

“ผู้ใช้บริการ” หรือผู้ป่วยสามารถเห็นศักยภาพสาธารณสุขในพื้นที่ของตน ขณะที่หน่วยงานบริหารกองทุนสุขภาพและเบิกจ่ายค่าบริการ ก็สามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

หน่วยงานในทุกระดับจะได้รับประโยชน์จากการจัดทำแผนที่สุขภาพ ตั้งแต่หน่วยงานของรัฐบาลกลางอย่างกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานบริหารกองทุนสุขภาพ ไปจนถึงหน่วยงานสุขภาพระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งล้วนแล้วสามารถนำข้อมูลในแผนที่สุขภาพไปใช้ออกแบบการให้บริการและการลงทุนด้านสุขภาพให้เกิดผล

แต่หากการจัดทำแผนที่สุขภาพเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นการสูญเปล่า และมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ

ในกรณีของโปแลนด์ แม้ว่าการจัดทำแผนที่สุขภาพถือเป็นความก้าวหน้า แต่ก็ไม่วายมีข้อด่างพร้อยที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงอีกมาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดทำแผนโดยมีจำนวนบุคลการจำกัด

หนึ่งในข้อด่างพร้อย คือ การบริการรักษามะเร็ง โดยสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งชี้ว่าแผนที่สุขภาพของโปแลนด์ให้ความสำคัญกับโรคมะเร็งน้อยไป มองข้ามความต้องการรักษาด้วยการฉายรังสี ซึ่งปัจจุบันยังคงมีหน่วยบริการที่ให้บริการด้านนี้ไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ แผนที่สุขภาพยังไม่เน้นบริการผ่าตัดเนื้องอก และการสร้างเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็ง

ขณะที่แพทย์ในสาขาอื่นๆ ให้ความเห็นว่าแผนที่สุขภาพมองข้ามการวินิจฉัยจุลพยาธิวิทยาและโมเลกุล ซึ่งมีความต้องการจากผู้ป่วยพอประมาณ และยังไม่ให้ความสำคัญกับแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งมีบทบาทป้องกันการเกิดโรค

2

ในด้านกลุ่มผู้ป่วย ให้ความเห็นต่อแผนที่สุขภาพว่ายังคงเน้นที่กลุ่มโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขาดการทำนายความต้องการด้านสุขภาพในอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้แผนที่สุขภาพกลายเป็นเพียงรายงานวิเคราะห์ระบบสุขภาพปัจจุบัน ไม่มุ่งหน้าไปยังการเตรียมการเพื่อรับมือโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นักวิชาการด้านสุขภาพเสนอให้แผนที่สุขภาพลงรายละเอียดของระบบสุขภาพอย่างรอบคอบ เช่น ระยะเวลาการรอรับบริการผู้ป่วยนอกและรถฉุกเฉิน การรักษาที่ยังไม่ครอบคลุมในปัจจุบัน สถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และจำนวนวันที่ผู้ป่วยต้องนอนในโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยโรค การนอนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ แผนที่สุขภาพควรมีข้อมูลการเข้าถึงบริการฟื้นฟู การดูแลระยะสุดท้าย บริการด้านสังคมสงเคราะห์ และข้อมูลแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศ เพราะจะกระทบแบบแผนการให้บริการและลักษณะโรคในอนาคต

ส่วนที่สำคัญที่สุดของแผนที่สุขภาพ คือ การทำนายความต้องการสุขภาพในอนาคตให้ลึกลงไปถึงความต้องการในระดับภูมิภาค เพื่อให้การวางแผนนโยบายสุขภาพสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ตรงจุด และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง

อ้างอิง
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5890099/