ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม. เห็นชอบให้ รมว.สธ. เป็นตัวแทนรัฐบาลลงนามบันทึกความเข้าใจฯ กับ “สาธารณรัฐเกาหลี” ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ “ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข” พร้อมทั้งอนุมัติให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข (สธ.) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้ ครม.มอบหมายให้ สธ. เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ในประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ การเสริมสร้างระบบสุขภาพ รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนการดูแลสุขภาพด้วยดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ

ทั้งหมดนี้จะดำเนินการผ่านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทน และข้อมูล การประชุม การประชุมทางวิทยาศาสตร์ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา และการสนับสนุนการวิจัยและโครงการ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกในการหารือและดำเนินกิจกรรมภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

อนึ่ง สธ. ได้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาแล้ว ซึ่ง กต. แจ้งว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำโดยรวมของร่างบันทึกความเข้าใจฯ หาก สธ. ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย สามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นไปตามพันธกรณีของไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี กต. ได้เสนอให้มีการปรับแก้ถ้อยคำเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของเอกสารที่ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มถ้อยคำในวรรค 6 (ใหม่) ระบุว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีใดทางกฎหมายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจึงไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่ง สธ. ได้ปรับแก้ถ้อยคำตามข้อเสนอแนะของ กต. แล้ว