ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ชูตัวอย่างผลสำเร็จกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในเวทีโลก ระบุเป็นนวัตกรรมการเงินการคลังสุขภาพที่ตอบสนองและสอดคล้องกับบริบทของชุมชน พร้อมสนับสนุนแต่ละประเทศพัฒนาและปรับการลงทุนด้านสาธารณสุขมุ่งเน้นไปที่ท้องถิ่น ให้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน 


เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 เวลา 15.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย (Multistakeholder panel) ในหัวข้อพัฒนาและปรับการลงทุนของเราเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด (Aligning our investments for health and well-being in a post-COVID world.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-Level Meeting on Universal Health Coverage)  ระหว่างห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 เพื่อทบทวนความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) 

3

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา การที่ประชาชนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้รายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเอง (Out of pocket: OOP) ลดลงน้อยกว่า 10% ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และมีครัวเรือนเพียง 1.5% เท่านั้นที่ประสบปัญหาล้มละลายทางการเงินเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล (catastrophic health expenditure) ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ การส่งเสริมกลไกความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบในการตัดสินใจในการระดมทรัพยากรและการจัดสรรทรัพยากร

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยนั้นมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสียจำนวน 30 คน ในจำนวนนี้มีองค์ประกอบที่มาจากภาคประชาสังคม 5 คน โดยคณะกรรมการฯ เป็นกลไกหลักเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายต่างๆ ดำเนินการบนหลักการที่อิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการจัดสรรอย่างยุติธรรมและการใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมีประสิทธิภาพ 

1

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางการเงินการคลังด้านสาธารณสุขเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ควรอภิปรายในการประชุมระดับสูงของ UNGA นี้ ยกตัวอย่างผลสำเร็จของประเทศไทยในด้านนี้ คือการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นขึ้น โดยเป็นการสมทบกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและหน่วยบริการสาธารณสุขในระดับชุมชน ได้ตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้เงินกองทุนเพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในแต่ละท้องถิ่นอย่างไร โดยให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ความสำเร็จที่ผ่านมาพบว่าได้ช่วยให้แต่ละท้องถิ่นจัดการด้านสาธารณสุขที่ตอบสนองต่อประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น 

“จากความสำเร็จดังกล่าว ประเทศไทยจึงขอสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาและปรับการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อระดมทรัพยากรภายในของตนซึ่งสามารถจัดการได้และมีความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน” เลขาธิการ สปสช.