ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากผลการประเมินสมรรถนะหลักในการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (Joint External Evaluation of IHR Core Capacities: JEE) โดยจากการประเมินทุกประเทศ รายงานสรุปว่าถึงแม้ว่าหลายประเทศจะสามารถรับมือกับ Covid-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่ทุกประเทศยังไม่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอสำหรับการเผชิญกับโรคระบาดในอนาคต

รวมถึงการประเมินสมรรถนะของประเทศ 19 ด้าน ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ในช่วงเดือน มิ.ย. 2560 ประเทศไทยมีผลการประเมินรวมในระดับค่อนข้างสูง โดยมี 13 สมรรถนะที่ได้คะแนนในระดับสูง และอีก 6 สมรรถนะที่ได้คะแนนในระดับปานกลาง เช่น ด้านการเตรียมความพร้อม ด้านปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ และด้านช่องทางเข้าออกประเทศ เป็นอาทิ 

นอกจากนี้ จากผลการประเมินดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index: GHS Index) โดยประเมินและเปรียบเทียบความมั่นคงด้านสุขภาพและศักยภาพของ 195 ประเทศ ในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดโรคระบาด (Epidemics) และการระบาดใหญ่ (Pandemics) จำนวน 37 ตัวชี้วัด เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 จากรายงาน 2021 Global Health Security Index ประเทศไทยได้คะแนนรวม 68.2 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก อันดับที่ 1 ของเอเชีย และได้คะแนนในหมวดหมู่ด้านการตรวจจับโรคและรายงานโรคที่รวดเร็ว เป็นอันดับที่ 1 ของโลก 

องค์กรตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ด้านโรคติดต่อ และตรวจสอบผลสัมฤทธิ์รวมถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการเพิ่มขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมในการรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดต่อตามกฎหมาย 

รวมถึงการจัดทำแผนและกระบวนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ รวมถึงการบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 

จึงได้จัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหารด้านการเพิ่มขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมในการรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ในส่วนที่เป็นข้อตรวจพบที่สำคัญ และข้อเสนอแนะ จากการตรวจสอบการดำเนินงานด้านการเตรียมความพร้อมในการรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ด้านโรคติดต่อ 

สำหรับประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ จำนวน 3 ประการ ได้แก่ 1. สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคติดต่อ ยังไม่ครอบคลุมการป้องกันและควบคุมการระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโรคติดต่อ 2. การจัดทำแผน การดำเนินงานตามแผน และการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่อ ยังไม่มีความชัดเจน 3. การเตรียมความพร้อมของระบบฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขของประเทศยังไม่เพียงพอต่อการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ด้านโรคติดต่อ

ในส่วนข้อเสนอแนะ มีดังนี้ 1. ทบทวนและหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อทั้งหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานนอกสังกัด เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ต่อการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาทบทวนกฎหมาย หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และสามารถป้องกันและควบคุมโรคติดต่อได้อย่างเป็นระบบ

2. พิจารณาจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานให้ชัดเจน เมื่อเกิดการระบาดในระดับต่างๆ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และความชัดเนของคำนิยามที่อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และจัดให้มีกระบวนการหรือกลไกการถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่มีความเข้าใจและปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน 3. ผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและควบคุมการระบาดใหญ่ของโรคติดต่อ 

4. ทบทวนความชัดเจนและครอบคลุมของกฎหมายลำดับรองที่มีการประกาศใช้โดยคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคติดต่อ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้รับการแก้ไขและมีการประกาศบังคับใช้แล้ว ให้กำหนด กรอบระยะเวลาการออกกฎหมายลำดับรอง และดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์

5. หารือร่วมกับหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ในการกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมาย และตัวชี้วัด ไม่ให้เกิดความซ้ำช้อนหรือขัดแย้งกันในรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การลดเวลาลดความซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย และเกิดผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม

6. พิจารณารายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการให้ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและหน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน กำหนดเป้าหมาย มาตรการ และตัวชี้วัดที่แต่ละหน่วยงานต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน

รวมถึงแจ้งแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้นให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามแผน และกำหนดแนวทางการติดตามรายงานผลการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างชัดเจน และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายในภาพรวม 

7. พิจารณาถึงความจำป็นและความเป็นไปได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อให้กระบวนการจัดทำงบประมาณเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้กระทรวงและหน่วยงานที่ทำงนร่วมกันได้รับการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันที่นำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายและตัวชี้วัดร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

8. เร่งดำเนินการกำหนดหรือจัดตั้งองค์กรกลางความร่วมมือการบริหารจัดการระบบสารสนเทศของข้อมูลด้านสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในการรวบรวมเชื่อมโยงข้อมูลและการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้ซัดเจน เพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลทีเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศ ตลอดจนมีการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและการเชื่อมโยงแลกเปลียนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9. กำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสาธารณสุขของประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดชุดของข้อมูลด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 

รวมทั้งคำนึงถึงความช้ำช้อนของการบันทึกข้อมูล และพัฒนาระบบการเชื่อมโยงหรือการนำเข้าข้อมูลให้ครอบคลุมแหล่งข้อมูลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านสาธารณสุขของประเทศที่ พัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาหรือตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างทันการณ์

10. จัดทำแนวทางการบันทึกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้การบันทึกข้อมูลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการได้รับข้อมูลด้านสาธารณสุขที่ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน สามารถนำข้อมูลไปใช้สำหรับวางนโยบายมาตรการ และจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น

อ่านบทสรุปฉบับเต็มได้ที่นี่